svasdssvasds

นายกฯ หารือ ผู้ผลิตก๊าซออกซิเจน  ยัน สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้

นายกฯ หารือ ผู้ผลิตก๊าซออกซิเจน  ยัน สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้

นายกรัฐมนตรี   รับทราบ ความกังวลเรื่องการผลิตก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ไม่เพียงพอ สั่งเร่งตรวจสอบและประเมินความต้องการ พร้อมหารือ ผู้ผลิตก๊าซออกซิเจนจากเอกชน 4 กลุ่ม ยัน สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้ พร้อมแนะประชาชนให้ระมัดระวังการใช้ที่บ้าน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์และรับทราบถึงข้อกังวลของประชาชนถึงความเพียงพอต่อการผลิตก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ จึงได้สั่งการให้มีการตรวจสอบและประเมินภาพรวมความต้องการ (Demand) และกำลังการผลิต (Supply) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมให้เชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศหารือด้านกำลังการผลิต เมื่อวันที่ 19 ก.ค. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้จัดประชุมประเมิณความต้องการตั้งแต่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ผลิตก๊าซออกซิเจนเอกชนทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มก๊าซอุตสาหกรรมจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมก๊าซอุตสาหกรรมสยาม โรงงานผู้บรรจุก๊าซ และผู้ผลิตภาชนะบรรจุก๊าซ ยืนยันว่าศักยภาพการผลิตของโรงงาน ยังสามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้อย่างแน่นอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังรายงานภาพรวมกำลังการผลิตทั้งประเทศอยู่ที่ 1,860 ตันต่อวัน จาก 15 โรงงานในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง สงขลา ลำพูน และเชียงใหม่  พร้อมทั้งปลายเดือนสิงหาคมนี้จะมีเพิ่มอีก 1 แห่งที่จังหวัดระยอง โดยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 150 ตันต่อวัน หากกรณีฉุกเฉินยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตออกซิเจนได้ถึง 2,200 ตันต่อวัน ขณะที่ปริมาณการใช้ก๊าซออกซิเจนทั้งทางการแพทย์และอุตสาหกรรมปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,260 ตันต่อวัน แบ่งเป็นปริมาณความต้องการออกซิเจนทางการแพทย์ ประมาณ 400-600 ตัน/วัน และความต้องการก๊าซออกซิเจนในภาคอุตสาหกรรม ประมาณ 660 ตัน/วัน

โฆษกรัฐบาลยังได้กล่าวด้วยความห่วงใยถึงกรณีประชาชนบางส่วนที่จัดหาและเก็บท่อก๊าซออกซิเจนไว้ใช้ที่บ้านว่า ขอให้จัดเก็บอย่างระมัดระวัง เนื่องจากท่อก๊าซออกซิเจนเป็นท่อที่มีความดันสูง หากจัดเก็บหรือใช้งานอย่างผิดวิธีอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังให้คำแนะนำไว้ อาทิ ขณะเคลื่อนย้ายท่อก๊าซออกซิเจนต้องทำด้วยความระมัดระวัง คือไม่ให้กระเทือน กระแทก หรือโยนท่อ ห้ามใช้สารหล่อลื่น น้ำมันหรือสารติดไฟกับอุปกรณ์ที่ใช้งานกับออกซิเจนเป็นอันขาด การติดตั้งชุดอุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับท่อบรรจุก๊าซออกซิเจน ต้องขันยึดให้แน่น และสถานที่จัดเก็บต้องเป็นที่แห้ง มีการถ่ายเทของอากาศได้ดีและมีอุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส และห้ามเก็บท่อบรรจุก๊าซออกซิเจนไว้รวมกับวัสดุ หรือก๊าซอื่นๆ ที่ติดไฟได้ง่าย เป็นต้น

related