svasdssvasds

ฉีดวัคซีนโควิดยี่ห้อไหน? เดินทางไปต่างประเทศได้บ้าง

จากกรณีโซเชียลเดือด หลังเอกสารรับรองหมอฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 หลุด ท่ามกลางคนไทยที่ยังไม่ได้ฉีดสักเข็ม สุดท้ายพบเป็นแพทย์ที่ต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ปลายทางไม่รับวัคซีนซิโนแวค สรุปแล้ววัคซีนที่ฉีดในประเทศไทย เดินทางไปประเทศใดได้บ้าง

       จากกรณีโลกออนไลน์เดือด หลังมีเอกสารใบรับรองการฉีดวัคซีน เข็มที่ 4 เพื่อกระตุ้นภูมิของหมอโรงพยาบาลหนึ่งหลุดออกมา โดยส่วนใหญ่มองว่า ไม่สมควรเนื่องจากขณะนี้ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว
       วันนี้ (20 ส.ค. 64) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้อำนวยการ.รพ.รามาธิบดี ต้องชี้แจงแถลงว่า
ผู้รับการฉีดเป็นแพทย์ของ รพ.รามาธิบดี จริง
 เพราะต้องการเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ประเทศปลายทางไม่รับวัคซีนที่ฉีดไปก่อนหน้านี้ โดยก่อนหน้านี้ แพทย์ท่านนี้ ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และรับ Booter Dose เข็ม 3 เป็น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แต่ประเทศปลายทางรองรับแค่วัคซีนไฟเซอร์ รพ.รามาฯ จึงส่งรายชื่อขอรับวัคซีนเพิ่มไปยังกรมควบคุมโรค ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีเคสคล้ายแบบนี้ประมาณ 200 ราย

       แม้เรื่องนี้จะสามารถทำได้ แต่ส่วนหนึ่งนำมาซึ่งข้อสงสัยในสังคมว่า สรุปแล้วตอนนี้คนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม หรือวัคซีนที่ฉีดในประเทศไทย สามารถเดินทางไปประเทศไหนได้บ้าง?
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

ปัจจุบันไทยมีวัคซีนกี่ยี่ห้อ?

  • ปัจจุบัน (21 ส.ค.) องค์การอนามัยโลก หรือ WHO อนุมัติรับรองวัคซีนโควิด19 7 ยี่ห้อ ได้แก่
    1.Moderna
    2.Pfizer/BioNTech
    3.Janssen (Johnson & Johnson)
    4.Oxford/AstraZeneca
    5.Covishield (Serum Institute of India, Oxford/AstraZeneca formulation)
    6.Sinopharm (Beijing)
    7.Sinovac
     

อย.ไทยรับรองวัคซีนกี่ยี่ห้อ?
6 ยี่ห้อ ได้แก่

1. วัคซีน ‘AstraZeneca’ โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

2. วัคซีน ‘Sinovac’ ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม

3.วัคซีน 'Johnson & Johnson' โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด

4.วัคซีน ‘Moderna’ หรือ โมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด

5. วัคซีน ‘Sinopharm’  โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด 

6. วัคซีน ไฟเซอร์ Pfizer โดยกรมควบคุมโรค
 

  • ยี่ห้อที่ไทย นำเข้ามาฉีดแล้ว?

18 ส.ค. 64 ข้อมูลจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุข้อมูล ปัจจุบัน วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.ไทยและนำเข้ามาฉีดให้แก่ประชาชนแล้ว มี 4 ยี่ห้อ 
-วัคซีนซิโนแวค
-วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
-วัคซีนซิโนฟาร์ม
-วัคซีนไฟเซอร์
 

 

  • ประเทศไหน รับรองวัคซีนชนิดใดบ้าง?

       บอกก่อนเลยว่าตอนนี้การเดินทางไปต่างประเทศนั้นไม่ง่าย เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกยังอยู่ในเงื่อนไขของการ ปิดประเทศ หรือแม้จะผ่อนปรนให้มีการเดินทางไปได้ก็จะต้องมีความจำเป็นต้องไป หรือมีเกณฑ์มาตรการสาธารณสุขที่แตกต่างกันอย่างมาก ทั้งเรื่องของ ยี่ห้อวัคซีนที่ผู้เดินทางได้รับ การกักตัว หนังสือรับรองผลการตรวจหาโควิด ฯลฯ ซึ่งโอ๋แนะนำว่าหากจะไปประเทศใด ต้องศึกษาข้อมูลปลายทางให้ดี และคอยอัพเดตข้อมูลอยู่เสมอไว้ด้วย แต่วันนี้มีข้อมูลมา สรุปให้ ดังนี้

  1. สหรัฐอเมริกา องค์การอาหารและยาสหรัฐ หรือ USFDA อนุมัติรับรองวัคซีน  3 ชนิด คือ ไฟเซอร์ , โมเดอร์นา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วน 'แอสตราเซเนก้า' ยัง ให้ใช้เป็นการฉุกเฉินเท่านั้น ยังไม่รับรองเป็นทางการ
     
  2. สหภาพยุโรป ปัจจุบันคณะกรรมการอาหารและยาของยุโรป (EMA) ได้รับรอง 4 ยี่ห้อ คือ ไฟเซอร์ ไบโอเทค, โมเดอร์นา   จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และ แอสตราเซเนกา ที่ผลิตในยุโรปเท่านั้น
     
  3. ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทย โดย SBS สยามไบโอไซเอนซ์ ข้อมูลจากรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ตอนนี้ผู้ที่ฉีดครบ 2 โดส สามารถเข้าได้บางประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน เพราะเนื่องจากหลายประเทศมองว่า วัคซีนแอสตร้าฯ ที่ผลิตในประเทศไทย ยังไม่ผ่านการรับรองจาก WHO และ EMA หรือ บางประเทศเดินทางเข้าได้ แต่ต้องกักตัวและปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องมีเอกสารสำคัญอื่นเพิ่มเติม เช่น ใบรับรองการตรวจโควิดเป็นลบก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง
    ***ควรสอบถามข้อมูลจากสถานกงสุลแต่ละประเทศให้แน่ชัดอีกครั้ง
     
  4. สเปน อนุมัติรับรอง 6 ยี่ห้อ คือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า(ฐานผลิตที่ยุโรป) จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซิโนฟาร์ม และซิโนแวค 
     
  5. ซิโนแวค มีข้อมูลว่าผู้ที่ฉีดครบ 2 โดสแล้ว สามารถเดินทางไปยังประเทศจีน และบางประเทศในอาเซียนได้
     
  6. สหราชอาณาจักร ข้อมูลจากเว็บไซต์ สถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงลอนดอน ระบุว่า ผู้ฉีดวัคซีนสามารถเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรได้ทุกยี่ห้อ เพราะไม่ได้ใช้การฉีดวัคซีนเป็นเกณฑ์ อย่างไรก็ต้องกักตัวและปฏิบัติตามมาตรการสธ.ของประเทศอย่างเคร่งครัดด้วย
     
  7. ส่วนวัคซีนสูตรไขว้ รอผลการศึกษาอนาคตเนื่องจากแต่ละประเทศใช้สูตรที่ไม่เหมือนกัน

****แต่ทางที่ดีควรเช็กข้อมูลกับสถานทูตของแต่ละประเทศอีกที
 

 

  • หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ ต้องทำอย่างไร?

       หากจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศในตอนนี้ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ต้องตรวจสอบว่าประเทศปลายทางรองรับผู้ฉีดวัคซีนยี่ห้อใดบ้าง? ตรงกับชนิดที่เราฉีดหรือไม่? และแต่ละประเทศมีข้อจำกัดหรือหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง? โดยหากเราเป็นกลุ่มเป้าหมาย เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต สามารถทำเรื่องขอรับการฉีดไฟเซอร์ได้ (แต่ละกรณีแล้วแต่ กรมควบคุมโรคจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง)

       สุดท้ายนี้ สรุปก็คือ ณ ปัจจุบัน แต่ละประเทศมีหลักเกณฑ์การรับรองที่แตกต่างกัน บางประเทศใช้ เกณฑ์ WHO บางประเทศใช้เกณฑ์ EMA บางประเทศใช้เกณฑ์ของประเทศตัวเอง และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดตามผลการศึกษา และสถานการณ์โควิด19 ของโลก ดังนั้นเราควรต้องอัพเดตข้อมูลอย่างใกล้ชิด

       แต่จากการสังเกตข้อมูลของโอ๋ โดยมากวัคซีนชนิดที่หลายประเทศรับรองจะเป็น mRNA หรือ Viral vector อย่าง ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากผลการศึกษาชัดเจนเรื่องของภูมิต้านทานเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อกลายพันธุ์

       
ซึ่งแผนการจัดสรรวัคซีนปลายปี 64 ของประเทศไทย ก็จะมีวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาเพิ่มเติม ทั้ง ไฟเซอร์ และวัคซีนทางเลือกอย่าง โมเดอร์น่า ที่ประชาชนตั้งตารอฝากความหวังว่าจะได้ฉีด แม้เสียเงินก็ยอมจ่าย ติดแค่รัฐจะจัดหาเข้ามาได้ตามที่ประกาศไปไหมเท่านั้นรอดูอยู่ #นะจ้ะ

related