svasdssvasds

เปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 43 จังหวัด

เปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 43 จังหวัด

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดโรดแมพ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 43 จังหวัด ยกภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ใช้กับทุกพื้นที่ หวังเห็นนักท่องเที่ยว 1 ล้านคนภายในปีนี้

เกือบสองปีแล้ว ที่เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิด19 และหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ธุรกิจการท่องเที่ยว ด้วยสัดส่วนที่ประเทศไทยมีการจ้างงานจากกลุ่มธุรกิจนี้สูงถึง 20% และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 11% ของจีดีพี จึงเกิดเป็นแผนการเร่งเปิดประเทศภายใน 120 วัน เมื่อคำนวนแล้วจะมีกำหนดการณ์อยู่ที่ช่วงปลายเดือนตุลาคม

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ให้คำตอบถึงไทม์ไลน์เปิดประเทศที่จะเกิดขึ้น พร้อมแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยหลังคลายล็อกดาวน์ไว้ว่า

เปิด 2 โครงการไทยเที่ยวไทย 1 ต.ค. นี้

  • "เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3"
  • "ทัวร์เที่ยวไทย"

"เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3" ที่รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พัก 40% ค่าตั๋วเครื่องบิน 40% อี-เวาเชอร์ 600 บาทต่อวัน วงเงินราว 5,700 ล้านบาท

"ทัวร์เที่ยวไทย" ที่รัฐสนับสนุนวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท เพื่อเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ วงเงินราว 5,000 ล้านบาท

โดยคาดว่าทั้ง 2 โครงการจะได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาผู้คนหยุดอยู่บ้านมาเป็นเวลานาน ยกตัวอย่างโครงการเราเที่ยวกันก่อนหน้านี้ มีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายจากประชาชนกว่า 15,038.74 ล้านบาท และเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอีก 9,320 ล้านบาท สิ้งนี้จะช่วยต่อลมหายใจให้แก่ผู้ประกอบการได้ และในปีนี้ ททท. คาดว่าตลาดไทยเที่ยวไทยจะมีการเดินทางในประเทศไม่ต่ำกว่าปี 2563 ที่อยู่ที่ 90 ล้านคน-ครั้ง

ดัน 43 จังหวัดรับต่างชาติ

สำหรับการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องกักตัวนั้น จะเปิด 43 จังหวัดนำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถแบ่งเป็น 3 กรอบใหญ่ ได้แก่

1.เมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ประกอบไปด้วย กรุงเทพฯ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย ปทุมธานี อยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง สมุทรปราการ หนองคาย กระบี่ ตรัง นราธิวาส พังงา ภูเก็ต ยะลา สงขลา สุราษฏร์ธานี ขอนแก่น และ นครราชสีมา

2.จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี บึงกาฬ เลย อุบลราชธานี ระนอง สตูล น่าน กาญจนบุรี และราชบุรี

3.พื้นที่นำร่องที่มีสินค้าการท่องเที่ยวด้านศิลปะวัฒนธรรมที่โดดเด่น ประกอบด้วย ลำพูน แพร่ นครศรีธรรมราช พัทลุง

จากทั้ง 3 กรอบนี้ ทาง ททท. ได้จัดทำไทม์ไลน์ในการเปิดประเทศใหม่ที่ตั้งเป็นตุ๊กตาไว้แล้ว โดยในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ผลักดันเปิดพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สมุยพลัส โมเดล และ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 7+7

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

และที่กำลังจะเดินต่อในช่วงไตรมาส 4 มองไว้ 2 ช่วง ช่วงแรกคือวันที่ 1 ต.ค. นี้ จะเริ่มใน 5 จังหวัด คือชาร์มมิ่ง เชียงใหม่ (อ.เมือง, อ.แม่ริม, อ.แม่แตง, ดอยเต่า) พัทยามูฟออน (พัทยา, บางละมุง, สัตหีบ) หัวหิน รีชาร์จ (อ.หัวหิน) ชะอำ จ.เพชรบุรี และกรุงเทพฯ

และช่วงที่ 2 วันที่ 15 ต.ค. นี้ จะเพิ่มขึ้นอีก 16 จังหวัด คือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่  สุโขทัย ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง หนองคาย ขอนแก่น นครราชสีมา นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง

ขณะที่ในไตรมาสแรกปีหน้า วันที่ 1-15 ม.ค. 65 จะเปิดการจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ(ทราเวลบับเบิ้ล)กับประเทศเพื่อนบ้าน ตามพื้นที่ชายแดน เช่น กัมพูชา ก็สามารถทำบับเบิ้ลได้กับ สุรินทร์ (ช่องจอม) สระแก้ว (อรัญประเทศ) ตราด (เกาะกง), พม่า จับคู่กับ เชียงราย (ท่าขี้เหล็ก) ตาก (แม่สอด) ระนอง (เกาะสอง), ลาว ทำกับ นครพนม หนองคาย มุกดาหาร และมาเลเซีย จับคู่กับ ยะลา (เบตง) นราธิวาส (สุไหวโกลก) สงขลา (ด่านนอก ปาดังเบซาร์) สตูล (วังประจัน) เป็นต้น

ยกโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ใช้กับทุกที่

นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้วไม่ต้องถูกกักตัว เหมือนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเหมาะกับการบริหารจัดการแบบ Island Approach คือเป็นพื้นที่เกาะสามารถไปท่องเที่ยวได้ทั่วเกาะ แต่รูปแบบแบบนี้อาจใช้ไม่ได้กับจังหวัดอื่นๆ จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสม จะใช้รูปแบบ Inland Approach และในบางพื้นที่อาจต้องจัดทำ Sealed Routes เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้

ที่ผ่านมาสังเกตได้ว่าหลายโมเดลไม่ประสบความสำเร็จ อาทิ โครงการสมุยพลัสโมเดล ที่มีข้อจำกัดในเรื่องการกักตัว ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพียง 585 คนเท่านั้น ทำให้ล่าสุดสมุยพลัสโมเดลจะปรับรูปแบบไปในทิศทางเดียวกันกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ จึงคาดการณ์ได้ว่าหลังจากนี้ แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวไม่ควรแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด อย่างโมเดลพัทยา มูฟออนหรือชาร์มมิ่ง เชียงใหม่ ที่จะมีแผนกักตัว จึงไม่อาจช่วยเรื่องการท่องเที่ยวมากนัก

ดังนั้นการนำโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาปรับใช้ในแต่ละพื้นที่จะทำให้ช่วยเรื่องการท่องเที่ยวได้ดีกว่า เพราะพื้นที่เหล่านี้ล้วนแต่เป็นพื้นที่นำร่องของไทยในการเปิดแซนด์บ็อกซ์ทั้งสิ้น

สุดท้ายตัวชี้วัดว่าจะเปิดพื้นที่นำร่องได้ทันกับไทม์ไลน์ที่วางไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจัดสรรปริมาณวัคซีนเข้าสู่จังหวัดเหล่านี้เป็นหลัก ประชากรในพื้นที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 70% ขึ้นไป เพื่อให้เปิดเมืองได้ตามแผน

ขณะที่การเดินทางในการเข้าไปเที่ยวในพื้นที่นำร่องเปิดประเทศเหล่านี้ ก็จะทำได้ใน 3 รูปแบบ คือ 1.เดินทางโดยเครื่องบินบินตรงเข้าไปสำหรับจังหวัดที่อยู่ไกล 2.การเดินทางต่อโดยทางรถที่จะเป็นการเดินทางแบบ Sealed routes เข้าพื้นที่ เช่น จากสนามบินสุวรรณภูมิ นั่งรถSHA+มายังหัวหิน เป็นต้น และ 3.การเดินทางในลักษณะ 7+7 ผ่านเครื่องบินลงไป

นอกจากนี้ทาง ททท. ยังอยู่ระหว่างเตรียมหารือกับ ศบค. เพื่อขอให้พิจารณาลดวันพำนักในพื้นที่ หรือวันกักตัวลง จาก 14 วัน เหลือ 7 วัน ตามที่ ศบค. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ก่อนจะเลื่อนการบังคับใช้ออกไป เพราะเกิดการระบาดโควิด19 ในประเทศ หากการระบาดในประเทศเริ่มชะลอตัวจึงอยากให้พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวไทยสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากหลายประเทศได้เปิดการท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวแล้ว

และที่ผ่านมา พิสูญจน์แล้วว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาไม่ได้แพร่เชื้อ แม้ไม่กักตัว แต่การติดเชื้อเป็นแบบติดเชื้อกันเองภายในประเทศเสียมากกว่า อย่าง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัส มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามารวมกัน 2.6 หมื่นคน พบติดเชื้อเพียง 82 คนเท่านั้น เป็นการติดเชื้อในสมุย 2 คน ภูเก็ต 80 คน คิดเป็นเพียง 0.03% ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก

ททท. ศึกษากำหนดการ พื้นที่สีน้ำเงิน (บลูโซน) หรือระดับสีทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขณะนี้ ขึ้นอยู่กับการแบ่งระดับสีที่บ่งบอกความรุนแรงของการระบาดของโควิด19 ในพื้นที่ ทางสาธารณสุขเป็นผู้กำหนดว่าพื้นที่ใดสามารถดำเนินกิจกรรมอะไรได้บ้าง ทำให้ในบางพื้นที่แม้เป็นจังหวัดสีส้ม แต่หากสามารถจัดการเรื่องความปลอดภัยในการท่องเที่ยวได้ หรือในจังหวัดนั้นมีพื้นที่ที่ไม่พบการระบาดรุนแรงถึงระดับสีของจังหวัด ก็อาจจัดทำเป็นสีของเศรษฐกิจ ที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดประเทศรับต่างชาติ

ในปีนี้ ททท. ตั้งเป้า รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.2 ล้านคน แต่ขณะนี้หวังเพียงล้านคนให้ได้ก่อน เพราะช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 40,000 คน บวกกับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อีก 26,400 คน ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา รวมเกือบ 100,000 คน ยังขาดอีก 900,000 คน หากเป็นเช่นนี้ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี ต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้เดือนละ 300,000 คน จึงจำเป็นต้องอาศัยนโยบายการกักตัวของประเทศต้นทางด้วย เมื่อเดินทางกลับประเทศต้นทางแล้วไม่ต้องกักตัว เชื่อได้ว่ายังมีโอกาสที่จะได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ล้านคนในปีนี้อยู่

related