svasdssvasds

ข่าวปลอม! ไทยมีแหล่งผลิตน้ำมันมากขายให้ต่างประเทศ ขายน้ำมันในประเทศแพง

ข่าวปลอม! ไทยมีแหล่งผลิตน้ำมันมากขายให้ต่างประเทศ ขายน้ำมันในประเทศแพง

ข่าวปลอม! จากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่อง ประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันจำนวนมาก แต่ ปตท. กลับขายน้ำมันให้ประชาชนในราคาแพง ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

ข่าวปลอม! ไทยมีแหล่งผลิตน้ำมันมากขายให้ต่างประเทศ ขายน้ำมันในประเทศแพง

กรณีที่มีการโพสต์ข้อมูลที่ระบุว่า มีน้ำมันเต็มประเทศทั้งบนบกและในทะเล ต้นทุนขุดน้ำมันตกลิตรละแค่ 1-2 บาท ก็กำหนดราคาให้ประชาชนใช้ในราคานำเข้า และยังเพิ่มมูลค่าน้ำมันให้แพงเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการค้าน้ำมันเถื่อนนั้น ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า การจัดหาปิโตรเลียมของประเทศไทยในปี 2564 (ม.ค.-ก.ค. 2564) มีการจัดหาจากแหล่งภายในประเทศ เฉลี่ย 0.79 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปี 2563 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยสามารถจัดหาปิโตรเลียมได้จากแหล่งในประเทศ เป็นสัดส่วนร้อยละ 41 แบ่งเป็นการจัดหาในรูปน้ำมันดิบร้อยละ 13 (เฉลี่ย 102,823 บาร์เรลต่อวัน) ก๊าซธรรมชาติเหลว ร้อยละ 10 (เฉลี่ย 76,233 บาร์เรลต่อวัน) และก๊าซธรรมชาติ (รวมพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ร้อยละ 77 (เฉลี่ย 3,502 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) ส่วนที่เหลือร้อยละ 59 ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยแนวโน้มความต้องการใช้ และการจัดหาพลังงานของประเทศยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในปี 2564 (ม.ค.-ก.ค. 2564) มีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบสูงถึงร้อยละ 89 เมื่อเทียบกับการจัดหาน้ำมันดิบในประเทศทั้งหมด ขณะที่ก๊าซธรรมชาติ ยังคงสามารถพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศร้อยละ 69 แต่เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจึงได้มีการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม โดยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ 2 รูปแบบ ได้แก่ การนำเข้าจากแหล่งก๊าซธรรมชาติของเมียนมา และนำเข้า LNG (ก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้เหลว)

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

ดังนั้น รัฐจึงต้องมีแนวทางการบริหารจัดการพลังงานด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีมาตรการด้านจัดหาควบคู่กับด้านการใช้ เพื่อสร้างสมดุลด้านพลังงานและเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว

สาเหตุที่น้ำมันดิบที่ขุดเจาะได้ในประเทศไทย ต้องส่งออกไปขายยังต่างประเทศ มีดังนี้
– น้ำมันดิบจากบางแหล่งในประเทศมีสารปนเปื้อนสูง มีคุณภาพต่ำ ไม่เหมาะกับโรงกลั่นในประเทศ ซึ่งไม่สามารถกลั่นได้ตามกระบวนการปกติ แต่น้ำมันดิบดังกล่าวนั้น มีปริมาณเพียง 15% ของที่จัดหาได้จากแหล่งในประเทศทั้งหมด
– การส่งออกน้ำมันดิบที่ไม่เหมาะสมกับโรงกลั่นในประเทศ ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น เนื่องจาก กฎหมายปิโตรเลียมกำหนดไว้ว่า ผู้ส่งออกต้องส่งออกในราคาที่สูงกว่าขายในประเทศ ทำให้รัฐได้ประโยชน์มากขึ้นจากการจัดเก็บค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งการส่งออกน้ำมันดิบนี้ มีกฎหมายกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด รอบคอบ และรัดกุม

สาเหตุที่ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่สามารถส่งออกได้ มีดังนี้
1. น้ำมันดิบไม่เหมาะสมกับเทคโนโลยีของโรงกลั่น
น้ำมันดิบในประเทศที่ผลิตได้บางส่วนมีสารปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนักในปริมาณสูง ซึ่งหากโรงกลั่นรับซื้อน้ำมันดิบส่วนนี้ไป จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการกลั่นและค่าปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้เหมาะสม และจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น นับว่าไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ เพราะใช้เงินลงทุนสูงแต่ได้ผลตอบแทนต่ำ
2. โรงกลั่นผลิตน้ำมันสำเร็จรูปบางชนิดเกินความต้องการของประเทศในขณะนั้น
น้ำมันดิบแต่ละชนิดจะสามารถกลั่นได้น้ำมันสำเร็จรูปในสัดส่วนที่ต่างกัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบที่หลากหลายเพื่อให้สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปได้ตามความต้องการของประเทศ ส่งผลให้ผลิตได้น้ำมันสำเร็จรูปบางชนิดเกินกว่าความต้องการภายในประเทศทำให้ต้องส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปส่วนเกินดังกล่าวไปยังต่างประเทศ

ประโยชน์ของการส่งออกน้ำมันดิบ
1. เป็นการเพิ่มมูลค่าให้น้ำมันส่วนเกิน
2. ทำให้ประเทศมีรายได้จากการส่งออก และรัฐจัดเก็บค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้สูงกว่าการให้ผู้ประกอบการขายให้โรงกลั่นฯ ในประเทศ เพราะในเมื่อน้ำมันดิบมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่โรงกลั่นฯ ต้องการ โรงกลั่นฯ จะรับซื้อน้ำมันในราคาถูก ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้น้อยลง
3. สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
อ้างอิง: https://www.facebook.com/dmffanpage/photos/a.596642627025152/4474900699199306/

ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.pttplc.com/th/Home.aspx

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : น้ำมันดิบที่ได้จากแหล่งในประเทศคิดเป็นร้อยละ 41 ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ อีกทั้งบางส่วนมีสารปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนักในปริมาณสูง ซึ่งหากโรงกลั่นรับซื้อน้ำมันดิบส่วนนี้ไป จะต้องเพิ่มต้นทุนในการกลั่นและค่าปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันซึ่งจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการนำเข้าน้ำมัน โดยคิดราคาจำหน่ายภายใต้กฎ ระเบียบ และขั้นตอนที่ควบคุมโดยหน่วยงานภาครัฐ

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน

Cr. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม