สรุปให้ ประธาน TDRI เสนอโมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ หลังโควิด-19
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19 ฟื้นฟูและต่อเติมเพื่อเติบโต”
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2564 ในหัวข้อ “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่ : โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19”
งานดังกล่าว จัดขึ้นวันที่ 2 , 9 และ 16 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบเวทีประชุม Virtual Conference ซึ่งจะมีนักวิชาการ-นักวิจัย TDRI และผู้เชี่ยวชาญ มากันร่วมเสนอแนวคิดใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องและเท่าทันโลกยุคหลังโควิด-19
ในการสัมมนาวันแรก (2 พ.ย.) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เสนอ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19: ฟื้นฟูและต่อเติมเพื่อเติบโต” โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ทำไม ไทยต้องทบทวนโมเดลสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ?
ดร.สมเกียรติ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น ที่ไทยต้องทบทวนโมเดลสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะโมเดลเดิมไม่พอเพียงต่อการรักษาอัตราการเจริญเติบโตให้ทันกับสังคมสูงอายุ ที่ไทยกำลังจะประสบ และมีแนวโน้มทำให้ไทยติดกับดักรายได้ปานกลางไปอีกยาวนาน
ซึ่งเกือบ 2 ปี ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ฯลฯ ต่างบอบช้ำไปตามๆ กัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กล้มละลาย มีอัตราคนว่างงานเพิ่มขึ้นสูง การขาดความรู้และทักษะของนักเรียน ส่งผลให้ “ปัจจัยการผลิต” คือ “คน” และ “ทุนขนาดเล็ก” อ่อนแอลง ฉะนั้นแล้วโมเดลเดิม หรือโมเดลในปัจจุบัน จะไม่เพียงพอในการกู้วิกฤตครั้งนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อ้ายจง เผยพฤติกรรมคนจีนในกระแส Idol Economy ที่สะเทือนรายได้และแพลตฟอร์ม
-
Twitter ทดสอบฟีเจอร์ใหม่ แจ้งเตือนเมื่อการถกเถียงที่อาจรุนแรงขึ้น
2. คาด หากไม่เปลี่ยนโมเดลในการพัฒนาประเทศ ไทยจะเติบโตช้าลงในระยะยาว
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า หลังจากนี้เศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากวิกฤติโควิด-19 แต่เป็นเพียงระยะสั้นๆ ในช่วงต้นเท่านั้น แต่มีแนวโน้มเติบโตช้าลงในระยะยาว จากการที่สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงวัย อัตราการเติบโตอาจลดลงเหลือระดับประมาณร้อยละ 2.6 ต่อปี ในปี 2579 - 2583
ซึ่งโมเดลเดิมนั้น ไทยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเน้นการลงทุน และเพิ่มจำนวนแรงงานเข้าสู่ตลาด ตลอดจนสร้าง ผลิตภาพโดยรวม* ซึ่งหมายถึงการสร้างผลผลิตมากขึ้น โดยใช้ทุนและแรงงานเท่าเดิม โดยมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพโดยรวม จะไม่ถึง 2 % ต่อปี
แต่ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภาพโดยรวมขึ้นได้อีกร้อยละ 0.5 ต่อปี อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ก็ยังจะไม่สูงพอที่จะทำให้พ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ได้ในเวลา 20 ปี
และเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ ก็จะไม่มีทรัพยากรมากพอสำหรับเงินบำนาญและสวัสดิการการรักษาพยาบาล ซึ่งจะทำให้คนไทยจำนวนมากเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ฉะนั้นแล้ว จึงจำเป็นต้องสร้างโมเดลใหม่ๆ ในการพัฒนาประเทศ ที่อาศัยการฟื้นฟู และต่อเติม
โดย ดร.สมเกียรติได้ขยายความว่า “ฟื้นฟู” และ “ต่อเติม” ในที่นี้หมายถึง การฟื้นฟูคนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่เดิม พร้อมกับต่อเติมด้วยการยกระดับผลิตภาพในภาคการผลิตควบคู่ไปกับการปฏิรูปภาครัฐ
3. ฟื้นฟู : ลดความสูญเสียชีวิต สุขภาพและเวลาของประชาชน
ดร.สมเกียรติ อธิบายว่า การฟื้นฟูคนและสิ่งแวดล้อม คือ ลดความสูญเสียชีวิต สุขภาพ และเวลาของประชาชน เพราะคนไทยสูญเสียชีวิต สุขภาพ และเวลาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ และอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก
เช่น ป่วยเป็นโรคจาก PM 2.5 ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละ 3 หมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกประมาณ 2 หมื่นคน ต่อปี ทำให้คนไทยสูญเวลาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ และอุบัติเหตุรวมกันสูงถึงกว่า 4 ล้านปี ในแต่ละปี
และไทยยังสูญเสียเวลาจากกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพ จากการถูกเกณฑ์ทหาร โดยชายไทยอายุ 21-22 ปีถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารปีละเกือบ 1 แสนคน ทำให้เกิดความสูญเสียจากการไม่ได้ทำงานและเรียนรู้ทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพในช่วงเวลาที่เหมาะสม
โดยการฟื้นฟูเริ่มได้จากการลดความสูญเสียเสียชีวิต สุขภาพ และเวลาในการทำงาน หากประเทศไทยสามารถลดการสูญเสียชีวิต สุขภาพ และเวลาในการทำงานได้ จากการลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุลง 50 % ใน 5 ปี ลดการสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อลง 25 % ใน 10 ปี ซึ่งเป็นเป้าที่ประเทศไทยตั้งไว้อยู่แล้ว และลดการเกณฑ์ทหารลง 50 % โดยทันที ก็จะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยขึ้นได้อีก 0.62 % ต่อปี เมื่อเทียบกับแนวโน้มในปัจจุบันไปตลอด 20 ปี
4. ฟื้นฟู : ด้วยการเพิ่มคุณภาพให้กับประชากร
นอกจากการลด ที่กล่าวไว้ในข้อที่ 3 แล้ว ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การฟื้นฟูยังรวมถึงการเพิ่มคุณภาพประชากร โดยเฉพาะการเพิ่มคุณภาพให้กับเยาวชน ด้วยการดูแลให้มีเด็กตกหล่นในระบบการศึกษาลดลง การยกระดับคุณภาพในการดูแลเด็กเล็กและคุณภาพการศึกษาโดยรวม
เพราะหากสามารถลดจำนวนเด็กตกหล่นในระบบการศึกษาได้ และยกระดับทักษะตั้งแต่เด็กปฐมวัยไปจนถึงนักเรียนในระบบการศึกษาพื้นฐาน พร้อมเพิ่มคุณภาพการศึกษา ก็จะช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเมื่อเทียบกับแนวโน้มในปัจจุบันได้อีกเฉลี่ย 0.21 % ต่อปีไปตลอด 20 ปี
5. ต่อเติม : การลงทุนและเพิ่มผลิตภาพประเทศ
ดร.สมเกียรติ อธิบายว่า “การต่อเติม” ในที่นี้ หมายถึงการลงทุนและเพิ่มผลิตภาพประเทศในแนวทางที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น
การเพิ่มผลิตภาพของภาคการผลิต สามารถทำได้โดยการลดความสูญเสียต่างๆ ด้วยการผลิตแบบลีน (lean production) ควบคู่กับภาครัฐลงทุนในการวิจัยพัฒนา และสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก
หากประเทศไทยสามารถยกระดับผลิตภาพรวมให้สูงกว่าระดับในปัจจุบันได้อีก 0.5 % ต่อปี โดยการดำเนินการที่กล่าวมานี้ ก็จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตเฉลี่ยขึ้นอีก 0.91 % ต่อปี ตลอดระยะเวลา 20 ปีนับจากนี้
6. ต่อเติม : เร่งปฏิรูปภาครัฐ
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การต่อเติมยังรวมถึงการเร่งปฏิรูปภาครัฐ ซึ่งมีความล่าช้ามานาน ทำให้หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งไม่สามารถให้บริการแก่ภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเต็มไปด้วยกฎระเบียบที่ล้าหลัง สร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็นแก่ภาคธุรกิจและประชาชน
โดยต้องมีปฏิรูปภาครัฐ ด้วยการปรับไปสู่รัฐบาลดิจิทัล (digital government) และการปฏิรูปกฎระเบียบที่ล้าสมัยที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของประชาชน ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า “การกิโยตินกฎระเบียบ” (regulatory guillotine)
ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการกิโยตินกฎระเบียบในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตหรืออนุมัติ 198 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับ 1,094 กระบวนงาน โดยแก้ไขกฎระเบียบที่ล้าสมัย 43 % และเลิกกฎระเบียบที่สร้างปัญหาและไม่มีประโยชน์ 39 % ก็จะสามารถลดต้นทุนของทั้งภาครัฐและประชาชนได้ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 0.8 % ของ GDP
ดังนั้น การให้บริการรัฐบาลดิจิทัล และการกิโยตินกฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง จะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉลี่ยขึ้นได้อีกร้อยละ 0.25 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มในปัจจุบันไปตลอด 20 ปี
7. สรุป “โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19: ฟื้นฟูและต่อเติมเพื่อเติบโต”
แม้ไทยบอบช้ำจากวิกฤตโควิด-19 และกำลังจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงจากการกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่ไทยก็ยังมีโอกาสในการฟื้นฟูและต่อยอดการพัฒนาจากการดำเนินการปฏิรูปใน 4 แนวทางคือ
- ลดความสูญเสียด้านชีวิต สุขภาพ และเวลาของประชาชน
- ยกระดับทักษะของประชาชน
- ลงทุนและยกระดับผลิตภาพ
- ปฏิรูปภาครัฐ
หากดำเนินการได้ตามนี้ ไทยก็จะเติบโตได้ในระดับที่สูงกว่าแนวโน้มที่เป็นอยู่ได้อีก 2 % ต่อปี ไปอีกตลอด 20 ปี ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูง หลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้ในที่สุด
ที่มา
Day 1 TDRI Annual Public Virtual Conference 2021
โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ หลังโควิด-19: ฟื้นฟู-ต่อเติมเพื่อเติบโต
*ผลิตภาพ หรือ Productivity คือ ตัวชี้วัดความสำเร็จในการบริหารจัดการต้นทุนทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วัตถุดิบ เวลา และบุคลากร เพื่อสร้างผลกำไรสูงสุดหรือผลผลิตที่ตอบโจทย์ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ
**การผลิตแบบลีน (lean production) คือ ระบบการผลิตที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value added) ให้กับผลิตภัณฑ์โดยการระบุหรือบ่งชี้และขจัดความสูญเปล่าที่เกิดจากกระบวนการผลิตการบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบพอดีและพอเพียงในเวลาที่เหมาะสม แนวคิดลีนจะเป็นการปรับเปลี่ยนจากความสูญเปล่า (waste) ไปสู่คุณค่า (Value) ในมุมมองของกระบวนการถัดไปหรือผู้รับ