svasdssvasds

เว็บไซต์กฎหมาย law.go.th เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย

เว็บไซต์กฎหมาย law.go.th เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย

DGA ร่วมกับ สคก.เปิดตัวระบบกลางทางกฎหมาย law.go.th จุดเปลี่ยนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนสู่ก้าวสำคัญของกฎหมายไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA และ (สคก.) จัดงาน LIVE “Law ฟัง You เปิดตัวระบบกลางทางกฎหมาย law.go.th” เพื่อเป็นเวทีในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนสู่ก้าวสำคัญของการแก้ไขกฎหมายไทย ด้วยการเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

นายปกรณ์ นิลประพันธ์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มาเล่าให้ฟังถึง การสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบกฎหมายของประเทศไทย พร้อมด้วย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มาเล่าถึงความก้าวหน้าของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และโครงการระบบกลางทางกฎหมาย law.go.th

นายปกรณ์ นิลประพันธ์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายปกรณ์ นิลประพันธ์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่างกฎหมายและประเมินผลของกฎหมายนั้น เป็นไปตามแนวคิดระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยเป็นประเทศที่ปกครองในระบบนิติรัฐใช้กฎหมายในการกำกับดูแล เพราะฉะนั้นจึงต้องพัฒนามาจากความต้องการที่แท้จริงของสังคม ระบบกลางทางกฎหมายนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายไปสู่กระบวนการยกร่างและการพิจารณากฎหมายในทุกระดับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งในอนาคตระบบกลางทางกฎหมายนี้จะเป็นเวทีเปิดสำหรับประชาชนในการออกเสียงและแสดงความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของตนได้มากขึ้น และเชื่อมั่นว่า ระบบกลางทางกฎหมายจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มีใจความสำคัญที่ต้องการให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ

ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า สำหรับประชาชนคนไทย กฎหมายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคนในทุกช่วงวัย ดังนั้นการมีระบบที่พร้อมรับฟังเสียงของประชาชน และสามารถติดตามได้ว่าการร่างกฎหมายอยู่ในขั้นตอนไหน อย่างไรแล้ว จึงนับเป็นก้าวสำคัญของกฎหมายไทย ที่มีระบบกลางทางกฎหมายพร้อมให้บริการคนไทยทุกคนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเปิดของรัฐโดยเฉพาะด้านกฎหมายผ่านเว็บไซต์ law.go.th ที่มีการออกแบบระบบให้เข้ามาใช้งานได้ง่าย และสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องระบุตัวตนหรือจะไม่บอกว่าเป็นใครก็ได้ โดยทุกความคิดเห็นที่สำคัญของท่านนั้นระบบกลางทางกฎหมายจะนำส่งตรงถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมาย เพื่อประกอบ

กระบวนการตัดสินใจถึงประโยชน์ส่วนรวมในการยกร่างกฎหมายนั้นๆ ซึ่งสามารถมั่นใจได้ว่าระบบมีการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล มีความมั่นคง และปลอดภัยสูง โดยระบบกลางทางกฎหมายนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น

โครงการการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ จำนวนความคิดเห็น 20,601 ครั้ง

โครงการวิเคราะห์ความจำเป็นและผลกระทบของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน จำนวนความคิดเห็น 14,038 ครั้ง

โครงการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 จำนวนความคิดเห็น 1,093 ครั้ง จากจำนวนการเข้ามามีส่วนร่วมในระบบกลางทางกฎหมายนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กันด้วย

ทั้งนี้ ภายในงานได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมเสวนา ในหัวข้อ “ระบบกลางทางกฎหมาย law.go.th” ก้าวสำคัญของ Digital Government ในระบบกฎหมายไทย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้แก่ นายจุมพล นิติธรางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนากฎหมาย กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นางสาวอมราลักษณ์ รักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมายความมั่นคง กองนิติธรรม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นางสาวศุภจิตรา เลาหวัฒนภิญโญ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ศูนย์พัฒนากฎหมาย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นายกฤษณ์ ตันติภิรมย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ นายอาศิส อัญญะโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาดิจิทัลโซลูชันส์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

ผู้ร่วมสัมนาผ่าน video conference หัวข้อ ระบบกลางทางกฎหมาย law.go.th

สามารถเข้าไปดูร่างกฎหมายที่กำลังเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้แสดงความคิดเห็นได้แล้วที่ https://law.go.th/

สามารถเลือกช่องทางรับชมย้อนหลังได้ที่

Facebook 📍 https://bit.ly/3pqUdXs

YouTube 📍 https://bit.ly/3vsx6wJ

related