svasdssvasds

ด่วน! TRUE-DTAC ร่วมทุนดันบริษัท Tech Company ส่งเสริมสตาร์ทอัพ

ด่วน! TRUE-DTAC ร่วมทุนดันบริษัท Tech Company ส่งเสริมสตาร์ทอัพ

TRUE - DTAC แถลงข่าวลงนามร่วมทุน พร้อมตั้งบริษัทใหม่ ปรับโครงสร้างสู่การเป็น Tech Company ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพและแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมร่อนเอกสารแจ้งตลท. มีความเป็นไปได้ในการ “ควบรวมบริษัท”

หลังจากที่มีกระแสข่าวในประเด็น การควบรวมกิจการของค่ายมือถือระหว่าง กลุ่มทรูฯ กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) มาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดในช่วงเช้าของวันที่ 22 พ.ย. 64 เริ่มเห็นความชัดเจนแล้ว โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ได้เซ็น MOU พร้อมประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ผ่านการสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company)  

โดยการร่วมมือกันในครั้งนี้ จะดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของ TRUE และ DTAC จะยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท ในขณะที่เครือซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู และกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ตั้งเป้าที่จะหาข้อสรุปในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ซึ่งจะส่งผลให้ เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ถือหุ้นเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่ที่จะร่วมกันสร้างขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• "เทเลนอร์" ส่ง ดีแทคเข้าเป็นพาร์ทเนอร์กับกลุ่มทรูฯ สะเทือนวงการมือถือ

• ดีแทค จับมือ พันธมิตร ชู ‘ใจดี มีวงเงินให้ยืม’ รุกสินเชื่อส่วนบุคคลบนมือถือ

• ‘ดีแทค’ - ‘กสศ’ มอบซิมพร้อมเน็ต ให้เด็กยากจนพิเศษกรุงเทพฯ เรียนออนไลน์

 นอกจากนี้ TRUE และ DTAC จะดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ (Due Diligence) การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้แล้วเสร็จ

 โดยบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100 - 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย

 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecom Landscape) ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่ และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคเข้ามาเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลมากขึ้น 

 จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจาก การพัฒนาการให้บริการเครือข่าย (Connectivity) แล้ว ยังต้องเสริมศักยภาพและความรวดเร็ว ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากโครงข่ายการสื่อสารและส่งมอบเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้การปรับโครงสร้าง (Transformation) ของบริษัทไทยสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้นั้น ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

 

 ด้านนายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ เปิดเผยเกี่ยวกับดีลครั้งนี้ว่า บริษัทใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอด ยกระดับประเทศไทย ไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้ ด้วยการผนวกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริการที่ดึงดูดลูกค้า พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ

 ขณะที่นายเยอเก้น โรสทริป รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเซีย กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า ข้อตกลงในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างฐานบริษัทฯในเอเชียให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างคุณค่า และพัฒนาตลาดในภูมิภาคนี้ต่อไปในระยะยาว

 การร่วมมือกันในครั้งนี้ เครือซีพีและ กลุ่มเทเลนอร์ มั่นใจว่า การพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน ในครั้งนี้จะสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประชาชนไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค ตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้สำเร็จตามเป้าหมาย

related