svasdssvasds

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยข้อมูล "โอไมครอน" เชื้อร้ายกลายพันธุ์ไร้ขีดจำกัด

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยข้อมูล "โอไมครอน" เชื้อร้ายกลายพันธุ์ไร้ขีดจำกัด

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยข้อมูลโควิด โอไมครอน (Omicron) สร้างความกังวลใจแก่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก โดยมีการกลายพันธุ์ถึง 32 ครั้งในโปรตีนส่วนหนาม

 จากกรณีที่พบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งล่าสุดมีการพบสายพันธ์ุ B.1.1.529 หรือ โอไมครอน (Omicron) กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้ส่งสัญญาณเตือนถึงสุดยอดไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมาที่จะทำให้วัคซีนทั้งหลายนั้นมีประสิทธิภาพน้อยลง 40 % และ WHO ยังประกาศให้เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวนี้เป็นสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) ตัวใหม่ล่าสุด ต่อจากเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) ที่พบในอินเดีย ช่วงเดือนตุลาคมปี 2020

 เพจเฟซบุ๊ก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ Chulabhorn Royal Academy ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ โควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน (Omicron) โดยระบุข้อความว่า

 "โอไมครอน เชื้อร้ายกลายพันธุ์ไร้ขีดจำกัด Ho!Ho!Ho! OMICRON is Coming to Town

 การปรากฏตัวของเชื้อโควิด-๑๙ สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน (Omicron) หรือ “B.1.1.529” สร้างความกังวลให้กับเหล่านักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเจ้าไวรัสตัวใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ถึง ๓๒ ครั้งในโปรตีนส่วนหนาม ซึ่งอาจส่งผลให้เชื้อสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แพร่กระจายได้เร็วกว่าและเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนหรือยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• "หมอยง" แจง 10 ข้อสงสัย โควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ติดง่ายแพร่เร็วจริงหรือไม่

• ควิดสายพันธุ์โอไมครอน คืออะไร ? ทำความรู้จักสายพันธุ์ที่น่ากังวล

• สธ.เข้มโควิด “โอไมครอน” ห้าม 8 ประเทศเข้าไทย ใครมาสั่งกักตัว 14 วันทันที

 ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโอไมครอน 107 รายใน 4 ประเทศ โดยพบที่ประเทศแอฟริกาใต้ 100 ราย บอสวานา 4 ราย ฮ่องกง 2 ราย และอิสราเอล 1 ราย มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้องค์การอนามัยโลกเพิ่มเชื้อโอไมครอนเป็นเชื้อตัวที่ 5 ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวลเทียบเท่าอัลฟา แกมมา เดลตาและเบตา เนื่องจากลักษณะการกลายพันธุ์ที่น่ากลัวแบบนี้ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ในโปรตีนส่วนหนาม ดร.ทอม พีค็อก (Tom Peacock) นักไวรัสวิทยาแห่งอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนกล่าวว่า เชื้อตัวนี้มีการกลายพันธุ์ของโปรตีนส่วนหนามมากอย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งกว่านั้น ยังมีการกลายพันธุ์ที่เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ตัดทะลวงเข้าเซลล์เพื่อทำให้ติดเชื้อ (Furin Cleavage Site) ถึง ๒ จุด คือจุด P681H แบบที่พบในสายพันธุ์อัลฟา มิว แกมมาและ B.1.1.318 และจุด N679K เหมือน C.1.2 ไวรัสกลายพันธุ์ในแอฟริกา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พบการกลายพันธุ์ ๒ จุดในเชื้อตัวเดียว สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในตอนนี้ก็คือเชื้อตัวใหม่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างหรือจะเป็นแค่คลัสเตอร์ในวงจำกัด

 

  ศ.ระวี คุปตะ (Ravi Gupta) นักจุลชีววิทยาทางคลินิกแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์พบว่า การกลายพันธุ์ที่พบในเชื้อโอไมครอน B.1.1.529 ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้นและหลบหลีกแอนติบอดีได้ดียิ่งขึ้น และสิ่งที่น่ากังวลก็คือ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าไวรัสที่พบใหม่นี้จะติดเชื้อได้ง่ายขนาดไหนหรือแบบเดียวกับเดลต้าหรือเปล่า ในขณะที่ศ.ฟรังซัวส์ บัลยูซ์ (Francois Balloux) ผู้อำนวยการแห่งศูนย์พันธุศาสตร์ UCL กล่าวว่า เชื้อตัวนี้อาจจะเกิดการกลายพันธุ์ซ้ำซ้อนระหว่างการติดเชื้อเรื้อรังในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่นผู้ป่วยเอชไอวีที่ไม่ได้รับการรักษา

 ไม่ว่าเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 จะกลายพันธุ์กี่ครั้ง หรือตัวล่าสุดนี้จะทำให้เกิดการระบาดรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ สิ่งที่ยังคงต้องดำเนินการต่อไปคือการกระจายวัคซีนทั้งปฐมภูมิและกระตุ้นภูมิให้ครอบคลุมและรวดเร็ว เพื่อให้ทุกคนมีระดับภูมิคุ้มกันในตัวที่พอดี ทั่วทั้งประเทศและทั่วทุกประเทศ มิฉะนั้น เจ้าเชื้อไวรัสก็จะสามารถแอบไปกลายพันธุ์ในกลุ่มประชากรที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไป"

related