svasdssvasds

นักช้อปโดนหลอกอื้อ! สถิติปัญหาซื้อขายออนไลน์ 11 เดือน ปี 64 พุ่ง 33,080 ครั้ง

นักช้อปโดนหลอกอื้อ! สถิติปัญหาซื้อขายออนไลน์ 11 เดือน ปี 64 พุ่ง 33,080 ครั้ง

ดีอีเอสเผยยอดร้องเรียนปัญหาซื้อขายออนไลน์รอบ 11 เดือนของปี 64 ทะลุ 33,080 ครั้ง ทุบสถิติปีก่อนหน้า ขณะที่ข้อมูลเดือน พ.ย. พบปัญหานักช้อปออนไลน์ 40% ไม่ได้รับสินค้า เฟซบุ๊กยังเป็นช่องทางที่ถูกร้องเรียนมากสุดกว่า 80%

 การขายสินค้า ไม่ว่าจะขายสินค้าบนเว็บไซด์ที่ลงทุนเสียเงินทำเอง หรือขายบนเว็บฟรี หรือการนำสินค้าไปโพสไว้กับเว็บที่ให้บริการลงโฆษณาฟรี ในปัจจุบันการทำธุรกิจซื้อขายออนไลน์ไม่ใช่ Trend หรือกระแส แต่สามารถทำเพื่อหาเลี้ยงชีพและครอบครัวได้

 นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากรายงานของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย.2564 มีประชาชนร้องเรียนและติดต่อเข้ามารวม 48,513 ครั้ง โดยเป็นการร้องเรียนปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ถึง 33,080 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากสถิติทั้งปี 2563 ที่มีจำนวน 20,619 ครั้ง

 สำหรับปัญหาออนไลน์อันดับรองๆ ลงมา ได้แก่ เว็บไซต์ผิดกฎหมาย 10,658 ครั้ง ปัญหาอื่นๆ สอบถามข้อสงสัย 2,798 ครั้ง ปัญหาภัยคุกคามไซเบอร์ 1,588 ครั้ง และปัญหาข้อสงสัยด้านกฎหมายไอซีที 389 ครั้ง

 ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบข้อมูลกับปีก่อนหน้า พบว่า ปัญหาซื้อขายออนไลน์ทะยานขึ้นตั้งแต่ ก.พ.2564 โดยเมื่อประเมินสถานการณ์ปัญหาเป็นรายเดือน เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พบจำนวนการร้องเรียนที่ทำสถิติสูงถึง 5,476 ครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• คลิปของถูกของดีของฟรีไม่มีในโลกออนไลน์ ไอโฟน 12 เปิดมาเป็นไงไปดู

• ถูกดูดเงินจากการแฮกข้อมูล บัตรเดบิต เครดิต หลังซื้อออนไลน์ต้องทำอย่างไร?

• ประกันภัยสินค้าออนไลน์ ประกันภัย F เก่ง ของไม่ครบ ไม่ตรงปก รับคุ้มครอง

 สถานการณ์ปัญหาการซื้อขายออนไลน์ในช่วงเดือน พ.ย.2564 จำนวนการร้องเรียนอยู่ที่ 4,772 ครั้ง โดยปัญหามากสุด คือ ไม่ได้รับสินค้า (หลอกลวง) ถึง 40% ตามมาด้วยสินค้าไม่ตรงปก (ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ผิดสี/ขนาด ไม่ตรงตามโฆษณา 30%

 นอกเหนือจากนี้ ได้แก่ ปรึกษาด้านการซื้อขายออนไลน์ 14% ได้รับสินค้าชำรุด 4% สอบถามขั้นตอนการแจ้งร้องเรียนหลักฐานที่ต้องใช้ 2% ได้รับสินค้าผิดกฎหมาย (สินค้าปลอม) 1% และได้รับสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด 1%

 ทางด้านช่องทางการซื้อขายออนไลน์ที่ได้รับการร้องเรียนมากสุด ได้แก่ เฟซบุ๊ก 82.1% ตามมาด้วย เว็บไซต์ 5.6% อินสตาแกรม (ไอจี) 3.5% แพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (อี-มาร์เก็ตเพลส) 3.3% และไลน์ 2.4%

สำหรับประเภทสินค้าที่ได้รับการร้องเรียนมากสุด คือ

• สินค้าแฟชั่น 23.7%

• ของใช้ในบ้าน 20.9%

• อุปกรณ์ไอที 18.3%

• อาหารและเครื่องดื่ม 11.7%

• สินค้าประดับยนต์ (อุปกรณ์) 6.8%

 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายออนไลน์ ที่มีการร้องเรียน 3 อันดับแรก อยู่ในช่วงราคา 1,001-2,000 บาท ตามมาด้วย 501-1,000 บาท และมากกว่า 10,000 บาท ซึ่งปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าราคาหลักหมื่นส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทไอที เช่น โทรศัพท์มือถือ

 นายเนวินธุ์ กล่าวว่า ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC พร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและเป็นหน่วยงานกลางในการรับเรื่องร้องเรียน ก่อนประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ที่ต้องการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนที่ไม่รู้เท่าทันมิจฉาชีพทางออนไลน์ จนตกเป็นเหยื่อกลโกงรูปแบบต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

โดยประชาชนสามารถร้องเรียนปัญหาซื้อขายออนไลน์ แจ้งเบาะแส หรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาออนไลน์ ได้ผ่านช่องทางการติดต่อ ดังนี้ สายด่วนโทร.1212 อีเมล [email protected] เว็บไซต์ 1212OCC.com เพจเฟซบุ๊ก : ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC และสำนักงานสถิติจังหวัดทั่วประเทศ

related