svasdssvasds

จัดมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว 4 ภาค เชิดชู 42 ผลงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทย

จัดมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว 4 ภาค เชิดชู 42 ผลงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทย

สถาบันลูกโลกสีเขียว เชิดชู 42 ผลงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทยใน 7 ประเภทรางวัล ฃ สะท้อนความเข้มแข็งชุมชนแก้วิกฤติผ่านเวทีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวสี่ภาคครั้งแรกเพื่อฝ่าโควิด 19 มอบกำลังใจนักอนุรักษ์มูลค่ารางวัลรวมกว่า 4 ล้านบาท เป็นทุนหนุนนักอนุรักษ์สานต่องานยั่งยืน

กระแสทั่วโลกในตอนนี้เทรนด์รักษ์โลกยังมาแรงต่อเนื่อง หลายประเทศเดินหน้าแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อ ไทย คือหนึ่งในนั้นที่หลายภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญมากกับเรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อม สถาบันลูกโลกสีเขียว คืออีกหนึ่งองค์กรที่ยังคงขับเคลื่อนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ล่าสุดได้เชิดชู 42 ผลงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทยใน 7 ประเภทรางวัล ที่สะท้อนความเข้มแข็งชุมชนแก้วิกฤติผ่านเวทีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว 4 ภาคครั้งแรกเพื่อฝ่าโควิด-19 พร้อมมอบกำลังใจนักอนุรักษ์ มูลค่ารางวัลกว่า 4 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนสนับสนุนนักอนุรักษ์สานต่องานอย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องกับทิศทางผู้นำนานาชาติที่ได้ถกประเด็นเรื่องโลกร้อนผ่านเวที COP 26 เพื่อมุ่งหวังแก้วิกฤติสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

จัดมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว 4 ภาค เชิดชู 42 ผลงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทย

โดย ‘ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล’ ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว และประธานกรรมการตัดสินผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 20 เปิดเผยว่า สถาบันลูกโลกสีเขียวยังคงเดินหน้าปฏิบัติภารกิจต่อไปถึงแม้ว่าจะต้องมีการปรับการทำงานให้เข้ากับยุคสมัยและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกันกับที่ชุมชนยังคงต่อสู้เพื่อรักษาป่า ยังใช้ป่าเพื่อแก้ปัญหาความยากจน สร้างป่าชุมชนเพื่อเป็นแหล่งอาหารและแหล่งเรียนรู้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาการทำงานรางวัลลูกโลกสีเขียวในการสนับสนุนให้คนให้ร่วมมือร่วมใจอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า มาต่อเนื่องกว่า 2 ทศวรรษ สะท้อนการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากลที่มีการหยิบยกขึ้นมาหารือในระดับเวทีนานาชาติในเวทีประชุมล่าสุด COP 26

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลทั้ง 42 ผลงานจากทั่วประเทศใน 7 ประเภท ได้แก่ ประเภทชุมชน 8 ผลงาน ประเภทกลุ่มเยาวชน 4 ผลงาน ประเภท “สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน”  7 ผลงาน ประเภทบุคคล 8 ผลงาน ประเภทงานเขียน 4 ผลงาน ประเภทความเรียงเยาวชน 9 ผลงาน ประเภทสื่อมวลชน 2 ผลงาน  โดยผลงานประเภทบุคคลที่น่าสนใจ คือ นายดวงแก้ว สมพงษ์ ที่ท่องเที่ยวไปทั่วแต่สุดท้ายก็เกิดความคิดที่ต้องการอนุรักษ์ป่าในท้องถิ่นให้อุดมสมบูรณ์เหมือนบ้านอื่น จากสิงห์นักบิดกลายมาเป็นนักสร้างฝ่ายตัวยง เป็นต้น

ส่วนผลงานประเภทกลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการขยะ การปลูกต้นไม้ การสร้างจิตสาธารณะในการดูแลผู้สูง ทั้งนี้รางวัลประเภทกลุ่มเยาวชนมีความพิเศษ คือคนเหล่านี้คือเมล็ดพันธุ์ที่ต้องได้รับการเพาะเลี้ยง ต่อยอดให้เป็นต้นแบบในการขยายผลสู่นักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต ขณะที่ในขณะที่รางวัลความเรียง งานเขียน และสื่อมวลชน ก็ยังเป็นพลังปลุกให้สังคมตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่นับวันจะมีความซับซ้อนมากขึ้น และการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่จะมีผลต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอนาคต

ทางด้านผลงานรางวัลประเภทชุมชน และประเภท “สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน” ก็ต้องชื่นชมที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือพื้นที่ป่ารวมกันหลายหมื่นไร่กระจายไปทุกภาคของประเทศ ด้วยพลังของชุมชนเครือข่ายลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 20 มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง  ตัวอย่างเช่น ชุมชนวังตะกอ ชุมชนบ้านเหล่าเหนือ ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้น ผลงานประเภทชุมชน และสิปปนนท์ฯ นั้นควรค่าแก่การยกย่องเชิดชูเป็นอย่างมาก

ด้าน ‘นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว กล่าวว่า บทบาทของสถาบันลูกโลกสีเขียวจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากวิกฤติโลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลก ต้องให้ความสำคัญต่อแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์สามารถช่วยลดหรือบรรเทาปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นการดำเนินงานของสถาบันลูกโลกสีเขียวมีส่วนอย่างมากในการร่วมผลักดันประเทศไทยและโลกสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

อย่างไรก็ตามการจัดพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 20 นั้นดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 โดยจัดในรูปแบบ 4 ภาคเพื่อลดจำนวนผู้ร่วมงานในแต่ละเวที  มีเงินรางวัลรวมทั้งสิ้นกว่าสี่ล้านบาท โล่รางวัลพร้อมใบประกาศนียบัตร และทำการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กวารสารลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนับสนุนงานด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการจัดงานที่ว่า “พลังเปลี่ยนโลก : สร้างวิถีใหม่ให้เราอยู่รอด”

related