svasdssvasds

ประวัติ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เรื่องที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน

ประวัติ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เรื่องที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน

ประวัติ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กับเรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ศึกษาภาษาเยอรมัน จบนิติศาสตร์ อดีตสายลับ KGB เส้นทางการเมืองในรัสเซีย การเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีรัสเซีย

แน่นอนว่าหลายคนรู้จักกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ว่าเป็นประธานาธิบดีรัสเซีย หรือไม่ก็คงเคยได้ยินชื่อกันมาบ้าง แต่วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับผู้นำประเทศหมีขาวให้มากขึ้นกันอีกสักนิด

วลาดิเมียร์ ปูติน มีชื่อเต็ม ๆ ว่า วลาดิเมียร์ วลาดิมีโรวิช ปูติน (Vladimir Vladimirovich Putin) เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปี 1952 ปัจจุบันอายุ 69 ปี ย่าง 70 ปี

ปูติน เกิดในเลนินกราด (Leningrad) สมัยยังเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republics: USSR) ก่อนที่จะแตกในปี 1991 ออกเป็นทั้งหมด 15 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย เบลารุส ยูเครน มอลโดวา จอร์เจีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน ปัจจุบันเลนินกราด คือ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Saint Petersburg) โดยรัสเซีย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สหพันธรัฐรัสเซีย (the Russian Federation) ซึ่งในตอนที่สหภาพโซเวียตแตก ปูตินมีอายุได้ 38 ปี

วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นลูกคนสุดท้องจากทั้งหมด 3 คน ของวลาดิเมียร์ สปิริโดโนวิช ปูติน (Vladimir Spiridonovich Putin) และมาเรีย ไอวาโนฟนา ปูตินา (Maria Ivanovna Putina) โดยปู่ของปูติน "สปิริดอน ปูติน" (Spiridon Putin) เป็นพ่อครัวส่วนตัวให้กับ วลาดิเมียร์ อิลิช อุลยานอฟ (Vladimir Ilyich Ulyanov) หรือที่รู้จักกันในนามของเลนิน (Lenin) นั่นเอง รวมไปถึงเป็นพ่อครัวให้กับโจเซฟ สตาลิน (Joseph Vissarionovich Stalin) อีกด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่แม้ปูตินจะเป็นน้องคนสุดท้อง แต่กลับใช้ชีวิตเหมือนลูกคนเดียว จากการที่พี่ชายทั้งสองเสียชีวิตหลังปูตินเกิดได้ไม่นาน โดยอัลเบิร์ตเสียชีวิตในวัยเด็ก และวิกเตอร์เสียชีวิตด้วยโรคคอตีบระหว่างการล้อมเลนินกราดโดยกองกำลังนาซในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ปูติน เริ่มเรียนศิลปะการต่อสู้อย่าง "แซมโบ" และ "ยูโด" ตั้งแต่อายุได้เพียง 12 ปี และศึกษาภาษาเยอรมันในระดับมัธยมศึกษา ปูตินจบชั้นนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรัฐเลนินกราด ที่ปัจจุบันเรียกว่ามหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก (Saint Petersburg State University) ในปี 1975

หลังจากที่จบมาปูตินได้เข้าร่วมกับหน่วยสืบราชการลับของสหภาพโซเวียต (KGB) จากการที่ปูตินสามารถพูดคุยภาษาเยอรมันได้จึงถูกส่งไปแฝงตัวอยู่ในเยอรมันตะวันออก และลาออกมาเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 1991 ในยศพันโท หลังจากที่รัฐประหารสหภาพโซเวียตที่ไม่ประสบความสำเร็จเริ่มขึ้นเป็นวันที่สอง (เริ่มรัฐประหารวันที่ 19 ส.ค. 1991) ต่อ มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียต

ความจริงแล้ว วลาดิเมียร์ ปูติน เริ่มหันหน้าเข้าสู่การเมืองตั้งแต่ช่วงปี 1990 ก่อนที่จะลาออกจาก KGB โดยไปเป็นที่ปรึกษากิจการระหว่างประเทศให้แก่ อนาโตลี โสบจักร (Anatoly Sobchak) นายกเทศมนตรีเลนินกราด ในช่วงปี 1994-1996

วลาดิเมียร์ ปูติน ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและรัฐบาลอีกหลายตำแหน่งในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เช่น มีนาคม 1994 ปูตินได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคนแรกของรัฐบาลเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก , พฤษภาคม 1995 ปูตินตั้งพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลที่มีชื่อว่า "Our Home" ร่วมกับนายกรัฐมนตรี วิคเตอร์ เชอร์โนไมร์ดิน (Viktor Chernomyrdin) รวมไปถึงได้จัดการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติสำหรับพรรค และเป็นผู้นำของสาขาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจนถึงปี 1997

แต่ปูตินได้ย้ายไปประจำการอยู่ที่กรุงมอสโก ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายบริหารทรัพย์สินของประธานาธิบดี ตั้งแต่ปี 1996 โดยในปี 1997 ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) แต่งตั้งปูตินเป็นรองเสนาธิการประธานาธิบดี

ปี 1998 ปูตินได้รับแต่งตั้งเป็นรองเสนาธิการประธานาธิบดีประจำภูมิภาคคนแรก และในปีเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีเยลต์ซินแต่งตั้งปูตินเป็นผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงแห่งสหพันธรัฐ (Federal Security Service: FSB) ซึ่งเป็นองค์กรข่าวกรองและความมั่นคงขั้นต้นของสหพันธรัฐรัสเซียและผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจาก KGB

ปี 1999 ปูตินได้รับแต่งตั้งให้รักษาการนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียโดยประธานาธิบดีเยลต์ซิน ซึ่งประธานาธิบดีเยลต์ซินถึงกับออกปากประกาศว่า "ปูตินนี่แหละ คือ ผู้สืบทอดของเขา" และในวันสุดท้ายของปี 31 ธ.ค. 1999 ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง

หลังจากที่ปูตินก้าวเข้าสู่วงการการเมืองนับ 10 ปี สั่งสมประสบการณ์ อิทธิพล และอำนาจ ถึงเวลาแล้วที่คนทั้งโลกจะรู้จักกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ในฐานะ ประธานาธิบดีรัสเซีย โดยดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ต่อจากประธานาธิบดีเยลต์ซิน และขึ้นรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พ.ค. 2000 และต่อสมัยที่ 2 ถึงปี 2008

แต่ตามกฎหมายรัสเซีย บุคคลสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่เกิน 2 สมัยติด โดยเป็นสมัยละ 4 ปี หลังจากนั้นปูตินจึงสลับตำแหน่งกับดิมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) นายกรัฐมนตรีรัสเซีย จากนายกรัฐมนตรีไปเป็นประธานาธิบดี และปูตินที่เป็นประธานาธิบดีมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ในการประชุมสหรัสเซียในกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2011 ประธานาธิบดีเมดเวเดฟ เสนออย่างเป็นทางการว่า จะให้ปูตินขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปีถัดไป ซึ่งได้มีการเตรียมการให้จากเดิมที่เป็นประธานาธิบดีจาก 4 ปี เป็น 6 ปี เพื่อให้วลาดิเมียร์ ปูติน สามารถดำรงตำแหน่งได้นานขึ้นอีก จาก 8 ปี เป็น 12 ปี

วลาดิเมียร์ ปูติน จะสิ้นสุดการเป็นประธานาธิบดีในปี 2024

ในวันว่างของปูติน คือการไปเดินป่า ตกปลา เพื่อเป็นการระบายความเครียดจากงานการเมืองที่สาหัส ว่ากันว่า วลาดิเมียร์ ปูติน มีความตั้งใจที่จะสร้าง "จักรวรรดิรัสเซีย" โดยการดึงยูเครนกลับเข้าสู่รัสเซียอีกครั้ง ถึงขนาดเรียกยูเครนว่าเป็น "มงกุฎเพชร" แห่งรัสเซีย ในบทความปี 2021 ที่ระบุว่า ทั้งสองประเทศเป็นดั่งหนึ่งเดียวกัน ตามการกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอาวุโสในสหรัฐอเมริกา

 

related