svasdssvasds

หมอยง แนะ "ตรวจเลือด" หาผู้ติดโควิดไม่มีอาการ - ประเมินยอดติดเชื้อในไทย

หมอยง แนะ "ตรวจเลือด" หาผู้ติดโควิดไม่มีอาการ - ประเมินยอดติดเชื้อในไทย

"หมอยง" แนะใช้วิธี "ตรวจเลือด" เพื่อสำรวจผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และยังเป็นการประเมินว่าคนไทยติดโควิด-19 ไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะการตรวจเลือดจะเป็นการบ่งชี้ว่าพบการติดเชื้อมาก่อน

 สถานการณ์ โควิด-19 วันนี้ (22 มี.ค. 65) ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,382 ราย ติดเชื้อสะสม 3,398,792 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 83  ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 24,417 ราย และผลตรวจจาก ATK / เข้าข่ายติดเชื้อ 13,220 ราย

 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan  ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า "ติดเชื้อไม่มีอาการ" โดยระบุว่า 

 การติดเชื้อโควิด-19 อย่างที่ทราบกัน ส่วนใหญ่จะมีอาการน้อย เป็นแบบรูปพีระมิดที่ฐาน จะเป็นพวกที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ในกลุ่มสีเขียว อาจร้อยละ 90 หรือมากกว่า โดยเฉพาะในสายพันธุ์ "โอไมครอน" แต่จะมีจำนวนหนึ่งที่มีอาการมาก อยู่บนยอดของพีระมิดที่เป็นส่วนน้อย จะเป็นผู้สูงอายุ หรือโรคประจำตัว 

 จากการศึกษาในเด็ก 5-11 ปี ที่มารับการฉีดวัคซีน ในโครงการของศูนย์ โดยการคัดเลือกผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน หรือกลุ่มเสี่ยง ในจำนวน 80 ราย ยังพบว่า มีถึง 5 ราย ที่ผลการตรวจเลือดพบว่ามีการติดเชื้อมาก่อน โดยไม่มีอาการใดๆมาก่อนเลยทั้งสิ้น คือการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ผลการตรวจเลือดตรวจพบ ภูมิต้านทานต่อ นิวคลีโอแคปสิด และ สไปรทโปรตีน เป็นการบ่งบอกว่าเป็นการติดเชื้อมาก่อน ภูมิที่ตรวจพบไม่ได้เกิดจากวัคซีน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• โควิดวันนี้ 22 มี.ค. 65 ติดเชื้อเพิ่ม 21,382 ราย เสียชีวิต 83 ราย

• เทียบประสิทธิผลวัคซีนโควิด-19 กลุ่ม 608 ฉีด 2 เข็ม ป้องกันป่วยหนักได้แค่ 4%

• กรมควบคุมโรคเตือน เฝ้าระวัง "ไข้เลือดออก" ติดเชื้อร่วมโควิด ดับแล้วหลายราย

ในประชากรไทย จึงมีจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อโดยที่ไม่มีอาการ นอกจากการตรวจเลือดเท่านั้น จึงจะทราบได้ว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่

การประเมินสำรวจ ว่าประชากรไทยเคยติดเชื้อมาแล้วเท่าไหร่ สามารถทำได้โดยการตรวจเลือด หาภูมิต้านทานต่อ นิวคลีโอแคปสิด แต่จะมีจุดอ่อนอยู่ที่ว่าภูมิต้านทานต่อ นิวคลีโอแคปสิด จะอยู่ไม่นาน โดยการตรวจหลังการติดเชื้อ มานานแล้ว 1 ปี จะตรวจพบเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การตรวจหาภูมิต้านทานต่อ สไปรทโปรตีน ที่อยู่ได้นานกว่า ก็จะต้องแยกจากผลของวัคซีนหรือการติดเชื้อ โดยใช้ประวัติเข้ามาช่วยว่าเคยฉีดวัคซีนมาแล้วหรือยัง

ประเทศไทยน่าจะได้มีการสำรวจ ว่าประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วมากน้อยเท่าไหร่ โดยการตรวจเลือด ก็จะประเมินการติดเชื้อไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์หรือมากน้อยแค่ไหน ดูแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนได้ที่ศูนย์ข้อมูลโควิด-19

ที่มา : Yong Poovorawan

 

related