svasdssvasds

หมอเฉลิมชัย เผยผลวิจัย วัคซีนป้องกันฝีดาษลิงกับปลูกฝี ต่างกันอย่างไร

หมอเฉลิมชัย เผยผลวิจัย วัคซีนป้องกันฝีดาษลิงกับปลูกฝี ต่างกันอย่างไร

หมอเฉลิมชัย เผยผลวิจัย วัคซีนป้องกันฝีดาษลิงกับปลูกฝี ต่างกันอย่างไร หลังพบว่าปลูกฝีมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานนับสิบปี ส่วนวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า ขณะที่ทั่วโลกได้ตระหนักร่วมกันถึงโรคติดต่อเก่า แต่มาระบาดใหม่

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

ข่าวดี !! มีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงได้ เป็นของเดนมาร์ก รับรองโดย FDA สหรัฐฯ ดีกว่าปลูกฝีแบบเดิม 2 เท่า

หลังจากที่ทั่วโลกได้ตระหนักร่วมกันว่า ได้เกิดมีโรคติดต่อเก่า แต่มาระบาดใหม่คือ ฝีดาษลิง (Monkeypox) โดยได้ระบาดไปแล้ว 17 ประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียนั้น

ทราบกันดีว่า เกิดจากไวรัสในกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับ ฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) แต่เป็นไวรัสคนละชนิดกัน จึงถือว่าเป็นคนละโรค แต่มีอาการใกล้เคียงกัน ทำให้มีการติดตามข้อมูลว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษในคน จะสามารถป้องกันฝีดาษในลิงได้หรือไม่ อย่างไร

มีคำตอบออกมาค่อนข้างชัดว่าวัคซีนป้องกันฝีดาษคน สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ราว 85% และจากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า นอกจากวัคซีนเก่า (ACAM2000) ที่เคยใช้ได้ผลดีเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยวิธีการที่เรียกว่าปลูกฝีคือ หยดวัคซีนหรือหนองฝีลงไป แล้วสะกิด พบว่ามีวัคซีนชนิดใหม่ ที่ไม่ใช่การหยดแล้วสะกิด แต่เป็นการฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) ไม่ใช่การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal) ที่ผลิตสำเร็จและใช้อยู่ก่อนแล้วเป็นของบริษัทเดนมาร์กและได้รับการรับรองจาก อย.สหรัฐอเมริกา(USFDA)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วัคซีนที่เป็นความหวังในการป้องกันฝีดาษลิงกันดังนี้

-วัคซีนชื่อการค้า JYNNEOS

-ผลิตโดยบริษัท Bavarian Nordic A/S ของเดนมาร์ก

-เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ผลิตจากไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกับฝีดาษคนชื่อ MVA-BN : Modified Vaccinia Ankara-Bavarian Nordic

-ขั้นตอนการผลิต เลี้ยงไวรัสในเซลล์ไข่ไก่ฟัก (CEF :  Chicken Embryo Fibroblast)

-ฉีด 2 เข็ม เข้าชั้นใต้ผิวหนัง ห่างกัน 28 วัน

-ขนาดที่ฉีด 0.5 CC

-ฉีดในคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

-ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ แดง เจ็บบริเวณที่ฉีด มีอาการร้อน คัน และอาจปวดเมื่อยได้

-วัคซีนได้ผลดี กระตุ้นทั้งระบบน้ำเหลือง (Humoral) และระบบเซลล์ (Cellular)

-ป้องกันได้ทั้งโรคฝีดาษคนและฝีดาษลิง

-กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าวัคซีนแบบเดิมถึงสองเท่าคือ 152.8 GMT(PRNT) เทียบกับของเดิม 84.4  GMT

ที่น่าสนใจคือการปลูกฝีแบบเดิม ซึ่งทำมาหลายสิบปีแล้วนั้น พบว่าภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานนับสิบปี โดยมีค่าครึ่งอายุนานถึง 92 ปี

ส่วนวัคซีนใหม่นี้ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า แต่เป็นวัคซีนใหม่จึงต้องศึกษาต่อไปว่า ภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานเพียงใด

นับเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ติดตามเรื่องฝีดาษลิงว่า อย่างน้อยเรามีวัคซีนอยู่ในมือมนุษยชาติ พร้อมที่จะผลิตและนำมาใช้ทันที

แตกต่างกับสมัยที่มีโควิดระบาด ตอนนั้นต้องรอนานนับปี จึงจะมีวัคซีนใช้ ทำให้โรคแพร่ระบาดออกไปกว้างขวางมาก

ประเทศไทยเราเอง ควรเร่งติดต่อและทำการสั่งซื้อวัคซีนทั้งแบบชนิดเก่าและชนิดใหม่ มาสำรองในจำนวนที่เหมาะสม สำหรับการรับมือถ้าเกิดมีการระบาดในช่วงแรก

related