svasdssvasds

ด่วน! สธ. พบผู้ป่วยฝีดาษลิง เดินทางพักเครื่องที่ไทย 1 ราย สัมผัสเสี่ยง 12 ราย

ด่วน! สธ. พบผู้ป่วยฝีดาษลิง เดินทางพักเครื่องที่ไทย 1 ราย สัมผัสเสี่ยง 12 ราย

กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ยืนยัน 1 รายเดินทางพักเครื่องที่ไทย ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงทั้งหมด 12 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามอาการ ส่วนผลตรวจผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษลิง 5 รายที่ภูเก็ต พบเป็นโรคเริม

วันนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) พบผู้ป่วยยืนยัน 1 รายมีประวัติเดินทางมาเปลี่ยนเครื่องในสนามบินในไทย 2 ชั่วโมงเพื่อเดินทางต่อไปประเทศออสเตรเลีย  ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยง 12 ราย เป็นผู้โดยสารและลูกเรือในสายการบิน ซึ่งอยู่ในระหว่างการติดตามอาการ เบื้องต้น ทั้ง 12 ราย ยังไม่มีอาการ

ขณะที่มีการรายงานข้อมูลผู้ป่วยเข้าข่ายอาการ 5 ราย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไอซ์แลนด์ 3 ราย ที่เป็นพี่น้อง โดยเดินทางเข้าไทยเพื่อมาเรียนมวยไทยที่จ.ภูเก็ต และพบว่าทั้ง 3 คน มีอาการเข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง มีตุ่มนูนใส ตามลำตัว แต่เมื่อนำไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR จาก 2 ห้องปฏิบัติการ คือ ของกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิกโรงพยาบาลจุฬาฯ พบผลยืนยันว่าเป็นโรคเริมเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลังการสอบสวนโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) รายดังกล่าว ทำให้มีผู้ป่วยเข้าข่ายอีก 2 รายที่ใช้บริการยิมกับผู้ป่วย 3 รายแรก จากการใช้อุปกรณ์ในยิมร่วมกัน โดยผลตรวจจากห้องแล็บ ก็เป็นโรคเริมเช่นกัน  จากกรณีดังกล่าวทำให้มีผู้สัมผัสใกล้ชิด 20 ราย เป็นผู้สอน และคนที่เข้ามาเล่นในยิม เบื้องต้นผู้ป่วยทั้ง 5 ราย เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร

ขณะนี้มีการรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิง ใน 32 ประเทศ ซึ่งมีรายงานยอดผู้ป่วยทั้งหมด  406 ราย และผู้ต้องสงสัยเข้าข่าย 88 ราย ประเทศที่พบการระบาดหนัก 5 ประเทศ นอกทวีปแอฟฟริกา คือ อังกฤษ ,เยอรมัน ,สเปน ,โปรตุเกส และแคนนาดา ยืนยันขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย

อัปเดต ผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง , ฝีดาษวานร (Monkeypox) วันที่ 30 พ.ค. 2565

แนวทางการเฝ้าระวัง โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

กระทรวงสาธารณสุขได้ นิยามผู้ป่วยสงสัย คือ อาการมีไข้  เจ็บคอ  มีไข้  ต่อมน้ำเหลืองโต  มีผื่นตุ่มนูน บริเวณแขนขา และใบหน้า และมีประวัติเชื่อมโยงกับระบาดวิทยา ภายในระยะเวลา 21 วัน หรือกิจกรรมที่มีการรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิง และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่า หรือนำเข้าจากแอฟฟริกา

ส่วนผู้ที่เข้าข่ายสงสัย ต้องมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด

คือ สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย หรือ สัมผัสสิ่งของที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่นเสื้อผ้าผู้ป่วย , ผู้สัมผัสร่วมบ้าน เช่น อาศัยอยู่ในห้องเดียวกับผู้ป่วยหรือ ใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย , ผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้อง หรืออยู่ใกล้ ผู้ป่วยฝีดาษลิง ภายในระยะ2เมตร หากพบผู้ป่วยในประเทศไทยจะต้องได้รับการยืนยันจากผลห้องปฏิบัติการก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ตามอาการและแยกกักตัว จนครบ 21 วัน

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ฝากถึงแพทย์ หากพบผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการ เข้าข่ายโรคฝีดาษลิงสามารถแจ้งยืนยันกับกระทรวงสาธารณสุขได้ทันที เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นโรคฝีดาษลิงมาก่อน เพราะหายไปจากประเทศไทยนานมาก จึงไม่สามารถคัดกรองอาการด้วยการแยกลักษณะตุ่มหนองที่เกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องใช้การตรวจหาเชื้อRT-PCR จากห้องปฏิบัติการเท่านั้น

related