svasdssvasds

สมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีแรก 2565

สมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีแรก 2565

จากการแถลงสมาคมประกันชีวิตไทย นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ได้เผยถึงภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

ขณะนี้จากตัวเลขมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 289,097 ล้านบาท โดยเติบโตลดร้อยละ 1.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564 โดยจำแนกได้ดังนี้

เบี้ยประกันรับรายใหม่ 79,865 ล้านบาท ซึ่งอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 4.75

เบี้ยประกันรับปีต่อไป 209,412 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0.82

โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82

และเมื่อจำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวม แยกออกมาตามช่องทางการจำหน่ายได้ดังนี้

การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 147,747 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.50 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.11

การขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 114,692 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 7.52 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.67

การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 13,848 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0.51 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.79.

การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ (Tele Marketing) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 6,984 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 1.47 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.42

การขายผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 384 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.69 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.13

การขายผ่านช่องทางไปรษณีย์ (Direct Mail) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 17 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 15.50 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.01

การขายผ่านช่องทางอื่น (Others) เช่นการขาย Worksite , การขายผ่านการออกบูธ หรือร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น มีเบี้ยประกันรับรวม 5,425 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 18.32 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.88

และเมื่อพิจารณาแยกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในช่วงแรกของปี 2565 พบว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมของสัญญาเพิ่มเติมประกันภัยสุขภาพ (Health) และสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรงหรือที่เรียกว่า CI อยู่ที่ 50,808 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564

ซึ่งมาจากคนไทยตระหนักเรื่องความสำคัญของการดูแลสุขภาพและการทำประกันสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากต้องบริหารความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นทุกปี

และด้วยเบี้ยประกันแบบบำนาญ (Annuity) อยู่ที่ 4,540 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.98 ซึ่งมาจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ประกันบำนาญจึงเป็นทางเลือกในการออมไว้เพื่อวัยเกษียนจากอนาคต และรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเรื่องมาตรการลดหย่อนภาษีด้วย

อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีแรก 2565 นั้นก็ยังอยุ่ในระดับที่ชะลอตัว เนื่องจากมีการเติบโตของเบี้ยประกันภัยลดลงจากช่วงเดียวกันเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ส่งผลต่อการลดลงต่อกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงดอกเบี้ยที่ผันผวนและสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่า ทำให้ประชาชนต้องชะลอการลงทุน

ซึ่งจะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน ที่หรือที่เรียกว่า (Unit-Linked + Universal Life) ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 19,825 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 8.22

สำหรับทิศทางภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 นี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่จะทำให้ธุรกิจประกันชีวิตมีการเติบโตรวมประมาณ 612,000 - 629,500 ล้านบาท อัตราการเติบโตอยู่ที่ 0 ถึง 2.5 และอัตราความคงอยู่ประมาณร้อยละ 82 ถึง 83

โดยหลักๆมาจากปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นธุรกิจประกันชีวิตในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่คนหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพมากขึ้น

และขณะนี้ยังมีการซื้อประกันแบบออนไลน์และ Digital Face To Face เริ่มมีสัดส่วนที่มากขึ้น เพราะทั้งสะดวกและกรอกข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ในช่วงครึ่งปีหลังมานี้ ธุรกิจประกันยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น สงครามการค้าระหว่างประเทศ ความไม่แน่นอของสถานการณ์แพร่ระบาด การเกิดใหม่ของสงครามเทคโนโลยี (Cyber War) และการบังคับใช้กฎหมายใหม่ และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) พ.ศ.2562 และสัญญาการประกันภัยสุขภาพแบบใหม่ (New Health Standard) ทำให้แต่ละบริษัทประกันภัยต้องพัฒนาและตอบโจทย์ลูกค้าให้มากขึ้น และปรับกลยุทธ์และทิศทางในการดำเนินบริษัท

สมาคมประกันชีวิตไทยยังสนับสนุนให้บริษัทมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลายและเหมาะสมเจาะจงกับผู้ใช้มากขึ้น และสนับสนุนให้แต่ละบริษัทนำเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ในการนำเสนอและบริการหลังการขายมากขึ้น

ขณะนี้ยังมีระบบสอบตัวแทนประกันชีวิตแบบ Virtual Examination (E-Exam) และระบบการออกแบบใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Licensing) รวมถึงการอบรมออนไลน์แบบ E-Learning มาใช้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้าร่วมเป็นตัวแทนประกันชีวิต

ขณะนี้สมาคมประกันชีวิตไทยมีการจัดตั้งคณะกลุ่มย่อย ทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทประกันชีวิตและสำนักงาน คปภ. โดยมีวัตถุประสงค์ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถดำเนินการได้รอบด้านและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายสาระ ล่ำซำ ได้ตอบคำถามถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ ของบริษัทประกันชีวิตที่จะได้พบเจอกับสถานการณ์ไม่คาดคิดของโรคระบาดทั้งขณะนี้และในอนาคต และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ดังนี้

ทางบริษัทและสมาคมต่างๆก็ได้มีการคำนวณและศึกษาเรียนรู้ไปพร้อมๆกับโรคระบาดและสถานการณ์ไม่คาดคิดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งได้มีการรองรับและเตรียมการไว้อยู่แล้ว และ ในส่วนของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นไม่ส่งผลกับเบี้ยประกันชีวิตใดๆ

related