svasdssvasds

ประชานิยม VS รัฐสวัสดิการ แตกต่างกันอย่างไร ?

ประชานิยม VS รัฐสวัสดิการ แตกต่างกันอย่างไร ?

SpringNews สัมภาษณ์ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร เกี่ยวกับนโยบายประชานิยม และนโยบายรัฐสวัสดิการ ว่าทั้ง 2 นโยบายนี้ เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร และนโยบายใดสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในห้วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา นโยบายประชานิยม ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ทำให้พรรคไทยรักไทย (พรรคเพื่อไทย) สามารถแจ้งเกิดบนถนนการเมืองไทย ได้ ส.ส. เข้าสภาอย่างถล่มทลาย และการเลือกตั้งปี 2562 ด้วยนโยบายประชานิยมแบบพลังประชารัฐ ก็ทำให้ได้ ส.ส. เข้าสภาเป็นจำนวนมากเช่นกัน

แต่อีกแนวทางหนึ่งที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงถูกนำไปเปรียบเทียบกับนโยบายประชานิยม นั่นก็คือ นโยบายรัฐสวัสดิการของพรรคก้าวไกล ซึ่งล่าสุดได้มีการเปิดนโยบายรัฐสวัสดิการ 19 ข้อ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ก่อให้ข้อสงสัยตามมว่า ทั้ง 2 นโยบายนี้ เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร และนโยบายใดสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน ?

โดย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับ SpringNews อธิบายและไขข้อสงสัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย

บทความที่น่าสนใจ

ประชานิยม นโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน

รศ.สมชัย ได้เริ่มต้นอธิบายและยกตัวอย่างนโยบายประชานิยมให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “นโยบายประชานิยม อธิบายง่ายๆ ก็คือ นโยบายอะไรก็แล้วแต่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศได้  พรรคการเมืองก็ต้องพยายามสำรวจว่าอะไรคือความต้องการของประชาชน แล้วก็เสนอนโยบายเพื่อให้ได้คะแนนเสียง

“แต่ถ้ามองในแง่ของความต้องการ มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะคนเราเมื่อได้สิ่งหนึ่งแล้ว ก็จะมีความต้องการที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในเชิงของประชานิยม มันจึงเป็นนโยบายที่เราใช้คำว่า อาจจะให้ผลตอบแทนด้านคะแนนเสียงทางการเมือง แต่ท้ายที่สุดแล้วอาจะเป็นผลเสียในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีต้นทุน มีค่าใช้จ่าย ที่ต้องเสียไปกับการสร้างนโยบายประชานิยมเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับประชาชน

“ยกตัวอย่างเช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งก็คือการเอาเงินเติมให้กับกระป๋าของประชาชนในแต่ละเดือน พรรคการเมืองเวลาหาเสียง เขาก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ แล้วมันก็จะมีการแข่งขันกันในการเสนอตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ พรรคหนึ่งเสนอ 800 บาท อีกพรรคอาจเสนอ 1,000 บาท อีกพรรคหนึ่ง 2,000 บาท

“มันจึงเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ไม่มีที่สิ้นสุด ที่อาจไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เอางบประมาณของประเทศไปสร้างคะแนนเสียงทางการเมืองเสียมากกว่า อันนี้คือประชานิยม คือไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่น คิดอย่างเดียวครับว่า ทำอย่างไรจะทำให้ได้คะแนนเสียงและการตอบสนองความต้องการของประชาชน ในส่วนของรัฐบาล ก็จะอาจมีปัญหาเรื่องวินัยการเงินการคลังตามมา”

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย

ประชานิยมแบบเพื่อไทย VS ประชานิยม พลังประชารัฐ

ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้ใช้นโยบายประชานิยมเป็นจุดขายสำคัญ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวนคะแนนเสียง ก็ต้องบอกว่า ประชานิยมยังมีมนตร์ขลัง แต่เมื่อชำแหละนโยบายต่างๆ ระหว่างทั้ง 2 พรรค รศ.สมชัย ก็กล่าวว่า มีระดับความลุ่มลึกของวิธีคิดที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

“ผมยังคิดว่าทั้ง 2 พรรคนี้ (พรรคเพื่อไทย กับพรรคพลังประชารัฐ) ได้ผลตอบแทนมาในแง่ความนิยมของประชาชน ยกตัวอย่างพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ (ไทยรักไทย) ที่เขาใช้นโยบายดังกล่าวทำให้ประชาชนรู้สึกชื่นชม มีนโยบายไปถึงปากท้องของประชาชนโดยตรง ผลตอบแทนกลับมาก็คือคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่ท่วมท้น

“ในขณะของพรรคพลังประชารัฐเอง การที่พรรคตั้งขึ้นมาใหม่ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ไม่นานนัก แต่มีนโยบายที่เรียกว่าประชารัฐต่างๆ ซึ่งรัฐบาล (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้สร้างขึ้นมา เพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋าของประชาชนในแต่ละเดือน มันก็ทำให้พรรคได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งไม่น้อย

"โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ภาคใต้ เดิมทีเคยเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ปี 2562) พรรคพลังประชารัฐกลับได้ ส.ส.ในพื้นที่พรรคประชาธิปัตย์หลายเขต เมื่อไปถามประชาชน เขาก็บอกว่า เพราะมันทำให้เขามีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น แล้วก็เป็นนโยบายที่ดีในสายตาประชาชน

“แต่วิธีคิดนโยบาย (ประชานิยม) ของพรรคเพื่อไทย (พรรคไทยรักไทย) อาจลุ่มลึกมากกว่า หมายความว่าสามารถนำไปต่อยอดในการสร้างผลผลิตต่างๆ ให้กับประชาชนได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง กองทุนหมู่บ้าน ก็คือให้แต่ละหมู่บ้านมีเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อต่อยอดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง ตัวเลขอยู่ที่ 70 - 80 % ที่ทำให้หมู่บ้านมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาการด้านการผลิต เป็นรายได้ที่คืนกลับมาสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

แต่อาจมีประมาณกว่า 20 % ที่ล้มเหลว กองทุนดังกล่าวให้ไปแล้ว ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านมีหนี้สิน ที่ไม่นำไปสู่การเพิ่มผลผลิตต่างๆ ขึ้นมาได้ ดังนั้นวิธีคิดของเพื่อไทย ((พรรคไทยรักไทย) ก็จะมีความลุ่มลึกในการก่อให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่องได้มากกว่า

“นโยบายประชานิยมของพรรคพลังประชารัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นการให้เปล่า และให้เลย ซึ่งก็จะหมดไปในแต่ละครั้งในแต่ละเดือน ถือว่าไม่ได้ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจนัก ก็จะมีความแตกต่างกันที่ตรงนี้”

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย

นโยบายรัฐสวัสดิการ น่าสนใจอย่างไร และจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้หรือไม่ ?

ส่วนแนวทางนโยบายรัฐสวัสดิการ ซึ่งหากว่าไปแล้วจะต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล พอๆ หรืออาจจะมากกว่านโยบายประชานิยมด้วยซ้ำ แต่ถ้าหากเกิดขึ้นได้จริง ก็จะก่อให้เกิดความสำเร็จในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาประเทศให้เติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดย รศ.สมชัย ได้อธิบายเกี่ยวกับนโยบายรัฐสวัสดิการดังต่อไปนี้

“ประเด็นหลักๆ มี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการประเมินคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ว่าควรจะเป็นอย่างไร อันนี้คือจุดเริ่มต้น คือหมายความว่า ไม่ได้ให้ทุกอย่าง แต่ถ้าคุณเป็นพลเมืองในประเทศนั้นๆ คุณภาพชีวิตพื้นฐานที่คุณควรจะได้รับมีอะไรบ้าง ตั้งแต่เกิด ทำงาน เกษียณ กระทั่งเสียชีวิต สิ่งที่คนๆ หนึ่งควรได้รับจากรัฐ มีอะไรบ้าง นี่คือการวิเคราะห์ การให้ของรัฐดังกล่าว เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในประเทศ แล้วจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศด้วย

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราพูดถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กแรกเกิด ให้เขามีอาหารที่ดี มีการศึกษาที่ดี มันก็จะทำให้เด็กเหล่านี้เมื่อเติบโตขึ้นมาก็จะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ทั้งสติปัญญาและร่างกาย และจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป

“หรือในกรณีผู้สูงอายุ เมื่อเกษียณอายุจากราชการหรือการทำงานต่างๆ แล้ว ถึงวัยที่ไม่สามารถที่จะสร้างรายได้ สิ่งที่รัฐจะให้ก็คือ การทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

“ประเด็นที่ 2 ก็คือ การให้ดังกล่าวอาจไม่ใช่การให้เปล่า แต่พลเมืองในประเทศจะต้องมีส่วนร่วม เนื่องจากการทำรัฐสวัสดิการ ต้องใช้เงินจำนวนมากมายมหาศาล ดังนั้นถ้าให้รัฐรับผิดชอบฝ่ายเดียว อาจจะไม่เกิดผลสำเร็จขึ้นมาได้

“ข้อสังเกตก็คือ ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีๆ ในยุโรป หรือสแกนดิเนเวีย ที่เราบอกว่ามีสวัสดิการที่ดีมาก แต่ประชาชนในประเทศเหล่านั้นก็ต้องมีส่วนร่วมในการเสียภาษี หมายถึงในวัยที่คุณทำงานได้ คุณก็ต้องช่วยรัฐให้มีรายได้พอสมควร แต่ปัญหาของประเทศไทยก็คือ โครงสร้างภาษีของเรายังเป็นโครงสร้างที่คนจำนวนน้อยเสียภาษีโดยตรง ในขณะที่คนจำนวมากเสียภาษีทางอ้อม ผ่านระบบการซื้อขายสินค้าต่างๆ เช่น VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม)

“ดังนั้นการสร้างรัฐสวัสดิการจึงต้องคิดควบคู่ไปกับโครงสร้างระบบภาษีใหม่ เพื่อให้ประเทศมีรายได้มากขึ้น ที่เพียงพอจะทำรัฐสวัสดิการได้ เพราะฉะนั้นรัฐสวัสดิการจะทำยากกว่าประชานิยม เพราะประชานิยม เป็นแค่การออกแบบว่า จะใช้เงินของรัฐอย่างไร แต่รัฐสวัสดิการ จะต้องคิดว่า เงินที่ใช้จะต้องเกิดประโยชน์คุ้มค่า และจะต้องมีที่มาที่ไปของเงินดังกล่าวที่ประชาชนมีส่วนร่วม

“เพราะฉะนั้นแนวคิดรัฐสวัสดิการจึงเป็นแนวทางที่อาจจะยากกว่า ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย ยกเว้นฝ่ายการเมือง จะเข้าใจในเรื่องนี้ และมีความตั้งใจจริงในการทำงาน ที่อาจจะต้องยอมเสียคะแนนเสียงบ้าง เพื่อรักษาหลักการของรัฐสวัสดิการ”

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย

นโยบายของพรรคเสรีรวมไทย ในการเลือกตั้งครั้งใหม่

และจากการคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ คงเกิดขึ้นในอีกไม่นานนัก หรือหากรัฐบาลปรับแผน อึดต่อไปอยู่ให้ครบเทอม ก็เหลือเวลาอีกแค่ราวๆ 4 เดือน ซึ่งในฐานะประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย รศ.สมชัย ก็ได้แจกแจงยกตัวอย่างนโยบายของทางพรรคเสรีรวมไทย ที่จะใช้สู้ศึกการเลือกตั้งครั้งใหม่ ดังต่อไปนี้

“ด้านการศึกษา เราเสนอนโยบายเกี่ยวกับการเรียนฟรี จนจบปริญญาตรี ยกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า เขาไม่มีค่าใช้จ่ายในการเรียนถึงระดับปริญญาตรี ถ้ามีก็น้อยมาก อย่างอเมริกา ถ้าคุณเป็นพลเมืองของเขา คุณก็เรียนฟรีไปได้เรื่อยๆ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ

“ต้องยอมรับครับว่า การเรียนฟรีถึงปริญญาตรี จะทำให้รัฐบาลมีต้นทุนทางการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่มันเป็นการลงทุนในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งถ้าหากเราคิดว่า จะทำให้พลเมืองของประเทศมีคุณภาพ และจะส่งผลทำให้ประเทศเดินหน้าพัฒนาได้ ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่รัฐสมควรดำเนินการ

“เราคิดว่าจะต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณประเทศ ปีละ 3.3 ล้านล้านบาท ตัวเลข 5 หมื่นล้านบาทถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับงบประมาณของกระทรวงกลาโหม งบประมาณในการจัดซื้ออาวุธต่างๆ นโยบายนี้จึงสามารถดำเนินการได้ทันที

“เรื่องการรักษาพยาบาล ที่ปัจจุบันมีข้อจำกัดทางกฎหมายมากมาย ทั้งประกันสังคม และบัตรทอง เช่น ต้องรักษาในสถานพยาบาลที่คุณได้ไปลงทะเบียนไว้ ข้ามเขตไม่ได้ แต่ผมคิดว่า ต้องมีการบริหารจัดการใหม่โดยใช้บัตรใบเดียว เช่น บัตรประชาชนใบเดียว ก็สามารถรักษาฟรีได้ทั่วไทย และสามารถรักษาได้ฟรีในทุกโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน

“เรื่องของผู้สูงอายุ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ แนวคิดของพรรคก็คือ อาจขยายเวลาของการเกษียณอายุเป็น 65 ปี ทำให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีงานทำอย่างต่อเนื่อง ยังมีโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ต่อไป

“ส่วนเรื่องบำนาญประชาชน ก็มีหลายพรรคการเมืองพูดถึงนโยบายนี้ อย่างพรรคไทยสร้างไทยพูดถึงตัวเลข 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลในอดีตมีแนวคิดที่จะทำ โดยใช้กลไกกองทุนการออมแห่งชาติ ด้วยการส่งเสริมนิสัยการออมให้กับคนในประเทศ ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรก็แล้วแต่ สามารถเข้าสู่กองทุนการออมได้ โดยจ่ายรายเดือนไม่มากนัก แต่พอถึงอายุ 60 ปี คุณก็จะมีเงินบำนาญจำนวนหนึ่ง ซึ่งมาจากเงินออม และดอกเบี้ยเงินออมของคุณ

“แต่การออมแห่งชาติ ยังเป็นแนวความคิดที่ยังใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากยังขาดมาตรการในการจูงใจที่ดี ขาดการคิดคำนวณตัวเลขที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าคุ้มค่า ก็คงต้องไปแก้ไขกฎเกณฑ์เพื่อสร้างแรงจูงใจ  ซึ่งกรณีนี้ก็ถือว่าเป็นรัฐสวัดิการอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน”

นอกจากนั้นทางพรรคเสรีรวมไทย ยังมีนโยบายที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้พิการ ทั้งการจ้างงาน และเบี้ยคนพิการ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งทางพรรคเห็นว่า นโยบายต่างๆ ที่นำเสนอมานี้เป็นสวัสดิการที่จำเป็นในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน และการพัฒนาประเทศให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

 

related