svasdssvasds

บุหรี่ไฟฟ้า สินค้าต้องห้าม ขาย นำเข้า ครอบครอง ผิดตามกฎหมาย โทษปรับ-จำคุก

บุหรี่ไฟฟ้า สินค้าต้องห้าม ขาย นำเข้า ครอบครอง ผิดตามกฎหมาย โทษปรับ-จำคุก

ไขข้อข้องใจ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ผู้ขาย ครอบครอง มีความผิดตามกฎหมาย โทษปรับ-จำคุก ลักลอบนำเข้า โทษหนักสุด จำคุกไม่เกิน10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าว เกี่ยวกับ เรื่อง "ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า" ผู้ผลิต  นำเข้า  ขาย  ซื้อ   ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ด้านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกมาชี้แจงรายละเอียดถึงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า 

พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุว่า ปัจจุบัน สคบ. มีนโยบายดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้า อย่างเด็ดขาดทุกราย 

ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นการจำหน่ายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้า สามารถแจ้งเบาะแส ซึ่งข้อมูลการแจ้งเบาะแส สคบ. จะเก็บไว้เป็นความลับ โดยการกระทำผิดสามารถแยกเป็นกรณีต่าง ๆ ดังนี้

1. กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง และมีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

2. กรณีผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย

นอกจากนั้นยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษา หรือไม่

3. บุหรี่ไฟฟ้า อันเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้น ผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้ จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2564 ทั้งนี้ เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม แม้จะไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็ต้องถูกริบให้ตกเป็นของแผ่นดินและนำไปทำลายตามกฎหมายของศุลกากร

ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ออกมาโพสต์ ถึงประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามโดยระบุว่า...ผู้ผลิต / นำเข้า / ขาย / ซื้อ / ครอบครอง มีความผิดตามกฎหมาย  

จริงๆ แล้วปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าต้องห้าม ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557

และใครที่เป็นผู้ผลิต นำเข้า จำหน่าย ซื้อ หรือครอบครอง ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายทั้งประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่พูดถึงไปด้านบน คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 และพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560

ทำไมพกบุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่สามารถบอกที่มาได้ จึงถูกตำรวจจับ?

การตรวจพบว่ามีบุหรี่ไฟฟ้าอยู่กับตัว โดยไม่สามารถชี้แจงหรือบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นมาจากที่ใด กฎหมายให้ถือว่าเป็นผู้ช่วยซ่อนเร้น หรือรับไว้ ซึ่งสินค้าที่ตนเองรู้ว่าเป็นความผิดเนื่องจากนำผ่านพิธีการศุลกากรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้าม ตามมาตรา 246 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากผู้บริโภคท่านใดพบการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าหรือพบการขายสินค้าที่มีความผิดทางกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตามช่องทางด้านล่าง เพื่อทางสภาฯ จะดำเนินการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคต่อไป

แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public

บุหรี่ไฟฟ้า สินค้าต้องห้าม ขาย นำเข้า ครอบครอง ผิดตามกฎหมาย โทษปรับ-จำคุก

related