svasdssvasds

พิเคราะห์ “การต่างประเทศไทย” ให้ราชสถาบันภูฏานฟัง...

พิเคราะห์ “การต่างประเทศไทย” ให้ราชสถาบันภูฏานฟัง...

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas” ถึงเรื่อง ... “พิเคราะห์การต่างประเทศไทยให้ราชสถาบันภูฏานฟัง”

 

“ผมเพิ่งกลับจาก ‘ภูฏาน’ ดินแดนในฝัน ต้นตำรับพัฒนาเพื่อความสุข ประเทศเล็ก ๆ เขียวขจี อยู่บนเทือกเขาหิมาลัย กระหนาบอยู่โดยอินเดียและจีน ผู้คนน้อยมาก มีเพียง 700,000 คน

 

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมานี้ เราสองคน คือ ‘ผม’ กับ ‘ท่านสมปอง สงวนบรรพ์’ อดีตเอกอัครราชทูต ในฐานะคณบดีสถาบันการทูตฯ ของ ม.รังสิต ได้รับเกียรติจากราชสถาบันแห่งรัฐกิจและการยุทธศาสตร์ หรือ The Royal Institute of Governance and Strategic Studies ไปร่วมกันพูดเรื่อง ‘การต่างประเทศของไทย’ ให้บรรดานักการทูตภูฏานในระดับกลางและสูงหลายสิบคนฟัง

โอกาสเช่นนี้ ทำให้ได้ครุ่นคิดและเพ่งพิศการต่างประเทศของสยามและไทยในรอบกว่าร้อยปีอีกครั้งหนึ่ง หลังการบรรยายและตอบข้อซักถาม ผมอดคิดไม่ได้ว่า อันที่จริงแล้ว การทูตของเรานั้นโดดเด่น และเป็นประโยชน์สำหรับประเทศโลกตะวันออกขนาดเล็กและกลาง ที่จะนำไปศึกษา ไปถอดรับเอาบทเรียนทีเดียว

‘การต่างประเทศของสยาม-ไทย’ นั้น ถือว่า น่าอัศจรรย์ เมื่อเทียบกับนานาประเทศตะวันออก พระมหากษัตริย์และอมาตย์ของไทยนั้น มีปัญญาและมีความสามารถ รู้เท่าทันตะวันตก มีความอดกลั้นและอดทนเป็นที่สุด มีลีลา ชั้นเชิง ไหวพริบที่ดีเยี่ยม จะจัดว่าเป็น ‘กษัตริย์และอมาตย์’ ที่ดีที่สุดของโลกซีกตะวันออกก็ว่าได้ ดูสิครับ ‘จักรพรรดิและมหาอมาตย์ของอินเดีย’ มารดาแห่งอารยธรรมไทยนั้น ไม่ผ่านการทดสอบ แตกแยกกัน และตัดสินใจผิดพลาด จนสูญสิ้นไปจากน้ำมือของอังกฤษนักล่าเมืองขึ้น ใกล้เข้ามา ศัตรูใหญ่ผู้พิชิตอยุธยาได้ถึง 2 ครา คือ ‘กษัตริย์และอมาตย์แห่งพม่า’ นั้น ก็ต้องเสียเมืองแก่อังกฤษไปเช่นกัน ดูเถิด จักรพรรดิองค์สุดท้ายของอินเดียนั้น ถูกเนรเทศไปอยู่พม่า ส่วนกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าถูกจับส่งไปอยู่อินเดีย ขณะที่ ‘จักรพรรดิและอมาตย์เวียดนาม’ ที่รบกับรัตนโกสินทร์ไม่แพ้ไม่ชนะกัน ก็ต้องสูญพันธ์ไปจากน้ำมือฝรั่งเศส และสุดท้าย ‘บรรดารายาและสุลต่านของมลายู’ ก็ตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษไป มองไกลออกไปอีกนิดครับ ‘จักรพรรดิและขุนนางจีน’ ที่ยิ่งใหญ่ จนเราต้องคอยส่งบรรณาการให้ ก็กลับเอาตัวไม่รอด ถูกบั่นทอนและเอาลงจากอำนาจได้โดยพวก ‘สาธารณรัฐนิยม’

สรุปได้ไหมครับว่า จักรพรรดิ, กษัตริย์, ขุนนาง, อมาตย์ ในประวัติศาสตร์ของประเทศตะวันออกเกือบทั้งหมด คือ ผู้พ่ายแพ้ต่อตะวันตก ผู้สูญสลาย ผู้ผิดพลาดในการนำรัฐนาวาไปให้ถึงฝั่งในยามที่คลื่นแรง พายุร้ายจากตะวันตกถาโถมใส่ ทว่า สำหรับ ‘สยาม’ แล้ว พระมหากษัตริย์และขุนนางหัวสมัยใหม่-หัวปฏิรูปทั้งหลาย กลับยืนอยู่ในฐานะ ‘ผู้ชนะ’ ชนะได้ด้วยการทูต มิใช่ด้วยสงคราม รักษาประเทศให้อยู่รอด ทั้งยังสมัครสมาน รวมชาติพันธ์อันหลากหลายแตกต่างกันให้เข้าเป็นปึกแผ่นอันเดียวกันได้

เราชี้ให้เพื่อนชาวภูฏานเห็นว่า สิ่งที่เป็นสัญชาตญาณในการต่างประเทศของไทย คือ ‘หลีกเลี่ยงสงคราม’ ให้ถึงที่สุด เราประเมินกำลังตนเองได้ และจะไม่ยอมรบกับใครที่ไม่มีวันชนะ เราไม่เคยมีสงครามมาร่วม 200 ปีแล้ว นี่คือ ‘สันติภาพ’ หรือ ‘สันติสุข’ อันยิ่งใหญ่ ในยุคอาณานิคมนั้น เราทำการทูตอย่างประนีประนอม อย่างบรรเจิดบรรจง ที่จะไม่รบกับอังกฤษ กระทั่งยอมยกดินแดนเราหลายส่วนในประเทศพม่า, จีน และมาเลเซียในปัจจุบันให้เขาไป เช่นเดียวกัน เราก็ระมัดระวังสุดขีด ตั้งใจไม่ยอมรบกับฝรั่งเศส แม้เมื่อชาตินี้ก้าวร้าว ส่งเรือปืนมาจ่อประชิดกรุงเทพฯ เราจำต้องยอมเสียดินแดนในลาวและเขมร ไปจนสิ้น มองในแง่ลบ เหมือนเราจะขี้ขลาด ยอมจำนน แต่คิดให้ดีเถิด เราจะรบไปทำไม แน่ใจได้ว่า ถ้ารบก็จะสูญชาติ เสียชีวิตมากมาย และเสียซึ่งเอกราช

สิ่งหนึ่งที่คนไทยในปัจจุบันจำต้องตระหนัก คือ เมื่อฝรั่งยึดครองเอเชีย, อาฟริกา และละตินอเมริกานั้น ได้ผนวกดินแดนเหล่านั้นเข้าอยู่กับเมืองแม่ไปแล้ว ไม่คิดสักนิดเดียวว่า ในวันหนึ่งจะคืนเอกราช คืนดินแดนที่ให้คนพื้นเมือง จึงในปลายรัชกาลที่ 5 นั้น ด้านตะวันตกและด้านใต้ของเรา มิใช่พม่าและมลายูแล้ว หากแต่เป็นจักรวรรดิอังกฤษ ส่วนด้านตะวันออกเฉียงเหนือและด้านตะวันออก ก็มิใช่ลาวและเขมร และถัดออกไปนิดหน่อยก็ไม่ใช่ญวน หากแต่ทั้งหมด คือ จักรวรรดิ์ฝรั่งเศส ไม่มีใครในโลกคิด ณ จุดนั้น ว่า ต่อมาจะมีเจ้าอาณานิคม จะทำสงครามใหญ่กันในยุโรปถึง 2 ครั้ง จนอ่อนล้า ยับเยิน ไม่อาจทัดทานขบวนการเพื่อเอกราชทั้งหลายที่เกิดขึ้นหลัง ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’

จนมาถึงสิ้นสุด ‘สงครามโลกครั้งที่ 1’ แล้ว โลกตะวันออกทั้งปวง ก็ยังเป็นดินแดนเมืองขึ้นฝรั่งนั่นแหละ ยังไม่มีเค้าแววว่า จะมีที่ไหนได้เอกราชคืน ส่วน ‘สยาม’ เรานั้น เป็นเอกราชอยู่ได้ และก็ยังเข้าเป็นสมาชิกก่อตั้ง ‘สันนิบาตชาติ’ กับเขาได้เสียด้วย แม้ว่าในที่สุด เมืองขึ้นทั้งหลายจะได้เอกราชคืน แต่ ณ เวลานั้น เราคงไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นฝรั่งด้วยความเชื่อลม ๆ แล้ง ๆ ว่า สักวันหนึ่ง ฝรั่งจะคืนเอกราชให้เรา ตรงข้าม ณ เวลานั้น ฝรั่งยึดดินแดนเหล่านั้นไว้อย่างเด็ดขาดโดยสมบูรณ์ เป็นการถาวรแล้ว

เมื่อ ‘ญี่ปุ่น’ บุกเข้าไทยตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เราไม่รบ แต่ก็ไม่ยอมแพ้ แต่กลับ ‘ยอมให้ญี่ปุ่นผ่านทางอย่างสันติ’ และในเวลาอันรวดเร็ว ก็ร่วมรบอยู่ข้างญี่ปุ่น บางท่านอาจตำหนิว่า เราฉวยโอกาส แต่คิดย้อนหลัง การที่เราตัดสินใจไม่รบกับญี่ปุ่นนั้น ต้องถือว่า ‘ถูกต้อง’ เพราะอย่างไรก็ต้องแพ้แน่ จะรบไปทำไมเพื่อแพ้ และจะยอมสูญเสียชีวิตทหารและผู้คนเรือนพันเรือนหมื่นไปทำไม สู้เป็นไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ไม่มีความทรงจำขมขื่นกับญี่ปุ่นเลย ไม่ดีกว่าหรือ การตัดสินใจเข้าสู่สงครามสู้กับอังกฤษและอเมริกานั้น อาจพอจะถือว่า ‘พลาด’ แต่ในที่สุด ชนชั้นนำเราก็แตกเป็น 2 สาย และสายญี่ปุ่นยอมลงจากอำนาจเมื่อใกล้สงครามจะยุติ และสายอังกฤษอเมริกาสามารถยึดกุมรัฐบาลได้ทันทีหลังสงคราม และก็แทบจะทันที ก็พารัฐนาวาไทยเข้าสู่ค่าย ‘เสรี’ ของอเมริกา มหาอำนาจใหม่ที่ใหญ่ที่สุด และอาศัยอเมริกานี่เองมาช่วยต้านอังกฤษกับฝรั่งเศสไว้ ไม่ให้ ‘ลงโทษ’ หรือ ‘เอาคืน’ กับไทยมากนัก

‘การทูตของเรา’ มีทั้งหลักการ เช่น ยุคฝรั่งล่าเมืองขึ้น เราสันติสุขที่สุด จะไม่รบกับฝรั่งโดยไม่ชนะ ท่านทูตสมปองย้ำในการบรรยายว่า ‘เราสู้ไม่ใช่เพื่อแพ้ เพื่อตาย เพื่อเสียเอกราช’ เราต้องอยู่ต่อไปให้รอด จึงต้องเข้มแข็ง แต่ขณะเดียวกัน ก็ยอมฝรั่งได้เสมอ เพื่ออยู่ต่อไปให้รอด ต้องเป็นกลางเคร่งครัด ไม่ยอมเอียง ไม่ยอมเข้าข้างใคร ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความพลิกพลิ้ว เหมือนจะยอมเสียหลักการ แต่ความอยู่รอดของชาตินั้น ก็คือหลักการเช่นกัน อาจใหญ่กว่าหลักการปลีกย่อยอื่น เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยน ก็กล้าเปลี่ยน เช่น ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะบุก เราประกาศถ้าใครบุก เราจะสู้จนคนสุดท้าย แต่ครั้นรู้ว่า ฝรั่งไม่ช่วย ปล่อยเรารบเองกับญี่ปุ่น ซึ่งเราไม่มีทางชนะ เราก็พลิก ไม่ยอมรบ ยอมต้าน ปล่อยให้ญี่ปุ่นผ่านทางอย่างสันติ

ในยุค ‘สงครามเย็น’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงปี 2518 แม้ว่าจะเข้าข้างอเมริกา แต่เราก็รู้จักความพอเหมาะพอสม ยับยั้งชั่งใจ ไม่กระโจนเข้าสู่สงครามอย่างเต็มตัว หากรักษาบทบาทเป็นเพียงกองหลัง เป็นเพียงแต่ฐานทัพอากาศให้กับอเมริกา และพลันที่ฝ่ายซ้ายชนะในเขมร, ลาว และเวียดนาม เราก็รับรองรัฐบาลใหม่ที่เคยเป็นปรปักษ์เก่ากับเราในทันที และพร้อม ๆ กับเร่งคืนความสัมพันธ์การทูตกับจีน อีกศัตรูหนึ่งแห่งอดีต เราต้องพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็เพื่อความอยู่รอด ไม่มี ‘ศัตรูถาวร’ ในหลักการทูตของเรา ก็ในเมื่ออเมริกากำลังทิ้งไทยและเอเชียอาคเนย์ไปเสียแล้วในความเป็นจริง เราจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากรีบพลิกกลับมาเป็นมิตรกับลาว, เขมร, เวียดนาม และจีน

ยิ่งกว่านั้น เมื่อ ‘เวียดนาม’ หลังรบชนะอเมริกา บุกยึดกัมพูชาของเขมรแดง ในปลายปี 2521 ต่อต้นปี 2522 เราก็ต้องพลิกตัวร้อยแปดสิบองศา หันไปเอาจีน ‘ศัตรูเก่า’ มาเป็น ‘มหามิตรใหม่’ ร่วมกันต้านเวียดนาม และร่วมกับอาเซียน ‘เพื่อนเก่า’ ด้วย รวมเป็นสามแรงแข็งขัน ทัดทานเวียดนามเอาไว้ให้หยุดอยู่แค่ชายแดนไทย-เขมร จำได้ไหมครับ จึงในช่วงนี้เองที่เราได้เห็นภาพผู้นำสูงสุดของคอมมิวนิสต์จีน คือ ‘ท่านเติ้งเสี่ยวผิง’ ปรากฏตัวอยู่ในวัดพระศรีศาสดาราม วันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงผนวช

หลังจากเวียดนามยอมถอนทหารออกจากกัมพูชา หลังปี 2532 เราก็กลับมาอบอุ่นเป็นมิตรกับเวียดนามที่เราเคยต้าน เป็นมิตรกับลาวที่ใกล้ชิดมากกับเวียดนามในการยึดกัมพูชา และเราก็ญาติดีกับ ‘เขมรฝ่ายฮุนเซ็น’ ที่เราเคยหนุนเขมรแดงล้มมาแล้ว ในที่สุดเราก็ร่วมกับอาเซียนอื่น ๆ รับเอาลาว, เขมร, เวียดนาม เข้ามาอยู่ร่วมกันในอาเซียน ยืนยันว่า หลักการทูตแบบไทยนั้น เราไม่มี ‘ศัตรูถาวร’ จริง ๆ ทุก ‘ศัตรู’ กลับมาเป็น ‘มิตร’ ได้เสมอ ได้เร็วด้วย ไม่มี ‘แค้นฝังหุ่น’

จากประเทศที่เคยมีข้าง มีค่าย มีฝ่าย ด้วยความจำเป็น เพื่อ ‘ความอยู่รอด’ ของเรา แต่ ณ เวลานี้ ท่านทูตสมปองสรุป เรา ‘ไม่มีศัตรู’ ใด ๆ แล้ว เราเป็นมิตรกับจีน นับวันจะมากขึ้น สำคัญขึ้น แต่ท่านย้ำ ‘เราจะไม่ทิ้ง จะไม่ยอมห่างกับอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นอย่างแน่นอน’ ยังจะเป็นมิตรใกล้ชิดกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ต่อไป เราจะต้องใกล้ชิดเหนียวแน่นและยึดมั่นต่อไปในอาเซียนต่อไป เวลานี้ ผมคิดอาจมีเพียง ‘กลุ่มประเทศมุสลิม’ เท่านั้น ที่เราต้องใกล้ชิดขึ้น เป็นมิตรให้มากขึ้น ไปมาหาสู่มากขึ้น

เราทั้งสองเชื่อว่า ‘การทูตแบบไทย’ พอจะยกได้ว่าเป็น ‘สำนัก’ หนึ่ง ที่ ‘มีผลงาน’ หรือมี ‘ความสำเร็จ’ รักษาตัวรอดจากยุคอาณานิคม รอดต่อมาถึงยุค ‘สงครามเย็น’ ปลอดภัยมาถึงยุค ‘หลังสงครามเย็น’ ผ่านยุค ‘สงครามเวียดนามในกัมพูชา’ ยุค ‘โลกาภิวัตน์’ และเชื่อว่า ในยุค ‘บูรพาภิวัตน์’ นี้ ก็จะรักษาสมดุลย์ระหว่างมหาอำนาจเก่าและมหาอำนาจใหม่ได้ ถือได้ว่า เป็นการทูตที่มี ‘วุฒิภาวะ’ ท่านทูตสมปอง กล่าวว่า ‘นักการทูตเรา พูดค่อนข้างน้อย ไม่โว’ โฆษณาหรือประชาสัมพันธ์น้อย แต่ทำค่อนข้างมาก เป็นมิตร สุภาพถ่อมตน แต่ในส่วนลึกแล้ว พลิกแพลง กล้าสู้ กล้าเปลี่ยน แต่ก็ระมัดระวังเสมอ”

related