svasdssvasds

สรุป 7 วันอันตราย สงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 264 ราย

สรุป 7 วันอันตราย สงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุรวม  2,203 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 264 ราย

7 วันอันตราย "สงกรานต์ 2566" สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ 11 เม.ย.-17 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน กรุงเทพฯ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากสุด 22 คน ส่วนใหญ่มาจากขับรถเร็วและดื่มแล้วขับ

วันที่ (18 เม.ย. 66) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เมษายน 2566 เกิดอุบัติเหตุ 183 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 16 ราย ผู้บาดเจ็บ 202 คน  สถิติอุบัติเหตุสะสม 7 วัน (11-17 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน ประสาน ศปถ.จังหวัดวิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนน ประเมินผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุ เน้นมาตรการที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้จำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลง เพื่อนำมาพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 183 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 16 ราย ผู้บาดเจ็บ 202 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 45.36 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 16.94

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.10 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 45.90 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.51 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 83.61

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 15.01 – 16.00 น. ร้อยละ 9.63

ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20 - 29 ปี ร้อยละ 21.56

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ จันทบุรี นครปฐม น่าน ราชุบรี และลำพูน (จังหวัดละ 2 ราย)

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,869 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 54,274 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 279,837 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 39,611 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 11,013 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 10,530 ราย

สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (วันที่ 11 – 17 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (68 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (22 ราย) และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (70 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 2 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง พังงา

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงการรณรงค์ 7 วันแห่งความปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 พบว่า ในภาพรวมจำนวนการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 5.04 รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุลดลงร้อยละ 1.55 ส่วนดื่มแล้วขับลดลงร้อยละ 3.26 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลค่าเฉลี่ยสถิติอุบัติเหตุทางถนนย้อนหลัง 3 ปี ช่วงสงกรานต์ปีนี้จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ ลดลงร้อยละ 13 ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงถึงร้อยละ 15 ซึ่งสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับ รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดเกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดบูรณาการขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่วิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุสูง พร้อมทั้งประเมินผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุตามมาตรการที่กำหนด โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้จำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลง จะได้นำมาเป็นแนวทางในการทำงานอย่างต่อเนื่องในระยะยาว รวมถึงให้ทุกจังหวัดพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดความสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด 

“แม้ว่าการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 จะสิ้นสุดลง แต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายยังต้องร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนต้องขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ด้วยความทุ่มเท เสียสละ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้” อธิบดี ปภ. กล่าวเพิ่มเติม

related