svasdssvasds

สมชาย ชี้ ปิดสวิตซ์ สว.ไม่ง่าย แนะก้าวไกล ยุติแนวคิดแก้ ม. 272 ลดความขัดแย้ง

สมชาย ชี้ ปิดสวิตซ์ สว.ไม่ง่าย แนะก้าวไกล ยุติแนวคิดแก้ ม. 272 ลดความขัดแย้ง

สมชาย ชี้ แก้ ม.272 ปิดสวิตซ์ สว. ไม่ง่าย ขู่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ระบุพฤษภาคม 67 หมดวาระ มาตราดังกล่าวก็หมดไป แนะก้าวไกล ยุติแนวคิดแก้ 272 เพื่อลดความขัดแย้ง

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ สว. ซึ่งหากเรื่องนี้เข้าสู่วาระที่ 1 จะขอยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเงื่อนไขตามมาตรา 272 เป็นบทเฉพาะกาลที่เกิดขึ้นจากการทำประชามติที่ตั้งคำถามพ่วงเข้ามา ว่า การแก้ไขจะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่

เพราะมาตราดังกล่าวผ่านการทำประชามติมาแล้ว ถ้าย้อนกลับไปดูให้ดีทำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชัดเจนว่ารัฐสภามีหน้าที่ทำได้ ในเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ ถ้าแก้ไขก็ใช้มาตรา 256 อนุ 8 แต่ทำไมมาตรา 272 ถึงไม่อยู่ ในมาตรา 256  อนุ 8 เพราะมาตรา 272 ถูกแยกทำประชามติ

โดยการทำประชามติตอนนั้น คำถามแรกคือ รับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ มีผู้เห็นด้วยถึง 16 ล้านเสียง ส่วนคำถามที่ 2 แยกมาตรา 272 ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เป็นบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก ที่ให้รัฐสภาเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ซึ่งประชาชนลงประชามติเห็นชอบ 15 ล้าน 2 แสนเสียง เพราะฉะนั้นประเด็นข้อกฎหมายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยไว้ต่อเนื่องมาตลอด ว่าองค์มติที่ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ องค์กรที่เกิดภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็คือรัฐสภา

เพราะฉะนั้นถ้าสภาฯ รับหลักการแก้ไขในวาระ 1 แล้วผ่านไปสู่วาระ 2 แล้วไปโหวตวาระ 3 ไม่ว่ากระบวนการจะอยู่ขั้นใด ก็ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีประชามติรับรองไว้ ดังนั้นถ้าจะแก้มาตรา 272 โดยให้ยกเลิก ต้องกลับไปถามประชามติ เพราะข้อกฎหมายไปอย่างอื่นไม่ได้ ก็ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสภากระทำเกินอำนาจหน้าที่ตัวเอง แต่ถ้าทำประชามติก็ต้องใช้เงินประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม :

นอกจากนี้ ถ้าไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีประเด็นค้างอีกว่า ตกลงสภาจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าข้อบังคับที่ 41 ที่สภาลงมติ ตามข้อบังคับ 151 แล้ว ไม่ขัดหรือแย้ง ก็เดินหน้าในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะได้วันที่ 20 กว่าๆ ถ้าไม่มีเหตุสะดุด แต่ถ้าสภาฯรับหลักการไปในวันนี้ ตนต้องคัดค้าน ก็ต้องมีคำถามว่าตกลงสภาจะเอาอย่างไรจะใช้หรือไม่ใช้มาตรา 272 ก็ต้องไปขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ต้องขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการเลือก

ไม่อย่างนั้นจะเกิดความสับสน ว่าเดินหน้าแก้มาตรา 272 ไปแล้ว เกิดวาระ 3 สภาเห็นชอบกันขึ้นมา แล้วบอกว่าให้กลับไปใช้หลักตามมาตรา 159 ที่สภาผู้แทนเลือก แล้วที่จะเลือกนายกฯ ในมาตรา 272 จะทำอย่างไร อันนี้ก็จะเป็นปัญหา ซึ่งตนทักท้วงด้วยข้อกฎหมายไม่ได้จะไปขัดแย้งในเรื่อง 272 แต่เห็นว่ามีปัญหาข้อกฎหมาย และเห็นว่าหมดความจำเป็นที่จะใช้มาตรา 272 ต่อไปแล้ว

เพราะการโหวตนายกฯคนที่ 30 อันใกล้นี้ น่าจะได้ในระยะเวลาไม่นานนี้ และคงไม่มีการมาใช้เสียงสว. ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาร่วมในการโหวตนายกฯ คนถัดไปอีก เพราะเราไม่ได้เลือกนายกฯ รายเดือน อย่างน้อยคนนึงก็ต้องอยู่ 3-4 ปีตามวาระ ดังนั้นวุฒิสภาชุดนี้ก็หมดวาระแล้ว อำนาจหน้าที่ที่ได้รับมาตามประชามติมาตรา 272 ก็หมดวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ซึ่งบทเฉพาะการมีในรัฐธรรมนูญรายมาตรา แต่มาตรานี้พิเศษเพราะมีการถามประชามติที่ชัดเจน

ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมาย พ.ร.บ. อื่น ที่มีบทเฉพาะกาล ก็ให้ใช้เฉพาะชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่าน บางฉบับก็มีบทเฉพาะการ 180 วันบ้าง 1 ปีบ้าง 2 ปีบ้าง อันนี้ก็แบบเดียวกัน เพราะหากผ่านระยะเวลาไปแล้วบทเฉพาะกาลนั้นก็ไม่ใช้ ให้กลับไปใช้บทหลัก ดังนั้นรัฐธรรมนูญมาตรานี้ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ก็กลับไปใช้บทหลัก ถ้ารัฐธรรมนูญ 60 ยังอยู่ต่อ การเลือกนายกฯก็ไปเข้ากระบวนการตามมาตรา 88 / 89 / 159 โดยสภาผู้แทนราษฎรเลือกกันต่อไป

บทเฉพาะกาลเกิดขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน จากช่วงรัฐธรรมนูญ 60 5 ปีแรกเท่านั้น ก็ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 มา ก็มีวิกฤตการเมืองเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งการชุมนุมการรัฐประหาร เกิดความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นการเดินหน้าประเทศไป ก็มีบทเฉพาะกาลที่ประชาชนให้ความเห็นชอบ ว่าให้รัฐสภาร่วมให้ความเห็นชอบ หมายความว่า สส. เป็นผู้เสนอ สว. เป็นผู้ร่วมพิจารณาเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะให้ยกเลิกมาตรา 272 ให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง เพราะในที่สุดมาตรานี้ก็จะสิ้นผลไปตามอายุของมัน โดยปกติไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณา

related