svasdssvasds

มีอะไรอยู่ในกอไผ่หรือเปล่า ! เหตุใดแต่งตั้ง “ผู้ว่า กฟผ.” คนที่ 16 ทำไมช้า !

มีอะไรอยู่ในกอไผ่หรือเปล่า !  เหตุใดแต่งตั้ง “ผู้ว่า กฟผ.” คนที่ 16 ทำไมช้า !

คงมีหลายคนสงสัย ? ว่าเพราะเหตุใดการแต่งตั้ง “ผู้ว่า กฟผ.” คนที่ 16 ทำไมถึงล่าช้า ซึ่งกระบวนการได้ยื้อลากยาวมาแล้วกว่า 7 เดือน โดยจะมีการให้กลับมานับหนึ่งใหม่ เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากบอร์ดกฟผ.ชุดใหม่ อีกครั้ง

กระบวนการแต่งตั้ง ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.คนที่ 16 ยังเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองจากสังคมกันอย่างใกล้ชิด และหลายคนก็มีคำถามอยู่ภายในใจเป็นหมื่นล้านคำ และสงสัยว่าเรื่องนี้ต้องมีอะไรอยู่ในกอไผ่ หรือเปล่า? และความโปร่งใส มีความชอบธรรมของระบบการสรรหาที่พึงปฏิบัติหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เข้าใจว่ากระบวนการจบแล้ว แค่รอเสนอครม.แต่งตั้งเพียงเท่านั้น

ย้อนรอยดูมหากาฬแต่งตั้งผู้ว่า กฟผ. คนที่ 16 ทำไมถึงช้า !  

จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลา 7 เดือนแล้ว นับจากวันที่คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) มีมติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 เลือกนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ ซึ่งก็เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกอย่าง ทุกประการ พร้อมทั้งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการ มาแล้ว 1 ครั้ง โดยเลขาธิการ ครม. ทำเรื่องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึง 2 ครั้ง สาเหตุที่ทำเช่นนี้เพราะช่วงนั้นยังอยู่ในช่วงที่เลือกตั้ง ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันจากกกต. ว่าให้เสนอรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาต่อไป

รัฐบาลใหม่ยังไร้การเสนอชื่อ

และแล้ว…ก็เดินทางมาถึงช่วงรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งมีการจัดประชุมครม.ไปแล้ว 5 ครั้ง แต่กระทรวงพลังงานยังไม่ได้มีการนำเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. เสนอต่อที่ประชุม ครม.ตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2511 แต่อย่างใด

ฟังคำชี้แจง จากปากปลัดกระทรวงพลังงาน

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ออกมาเปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน จะนำรายชื่อผู้บริหารระดับสูงเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ยกเว้นตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ กฟผ.) ต้องเสนอคณะกรรมการ กฟผ. ชุดใหม่ (บอร์ด กฟผ.) พิจารณาตรวจสอบความถูกต้องอีกที

โดยการตรวจสอบเพิ่มเติม อย่างเช่น อายุการทำงานของนายเทพรัตน์ ซึ่งตามระเบียบของ กฟผ. กำหนดอายุการทำงานของผู้ว่า กฟผ. ต้องมีอายุงานก่อนเกษียณไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งที่ประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ในข้อ 1 และข้อ 1.2 การกำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัครว่าต้องมีอายุไม่เกิน 58 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ยื่นใบสมัคร แต่วันที่ยื่นใบสมัครนายเทพรัตน์ อายุไม่ถึง 58 ปี พร้อมยืนยันการแต่งตั้งนายเทพรัตน์เป็นผู้ว่าการ กฟผ.อีกครั้งก่อนเสนอที่ประชุม ครม. ผ่านความเห็นชอบ คาดว่ากระบวนการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่จะใช้เวลามากกว่า 1 เดือน

“หากต้องรอบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่นั้น จะต้องดูระเบียบว่าข้อปฏิบัติดังกล่าวเป็นเงื่อนไขอยู่ในพระราชบัญญัติหรือเป็นระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการฯ แล้วมีอำนาจหรือไม่ จึงจะต้องไปดูข้อบังคับตัวนี้อีกครั้ง หากเป็นระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการฯ แล้วจะมีการอนุโลมได้หรือไม่ ถ้าหารือแล้วทำงานร่วมกันได้ มีแนวนโยบายไปในทิศทางเดียวกันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ก็อาจจะอนุโลมได้ อยู่ที่การตกลงร่วมกัน”

แต่… จากการที่ปลัดกระทรวงพลังงาน ออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสิ่งที่สวนทางกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ครั้งที่ 2 ตามมติครม. ที่ได้ให้กระทรวงพลังงานจัดส่งข้อมูล พร้อมเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ ส่งไปให้ กกต. พิจารณาอีกครั้ง

จนกระทั่งล่าสุดสำนักงาน กกต. ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดส่งถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จากนั้น สลค.ได้ทำหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กันยายน 2566 ส่งถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คือ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ พร้อมทั้งแนบสำเนาหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด่วนที่สุด ลงวันที่ 6 กันยายน 66

ดังนั้นเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่า กฟผ. คนที่ 16 ยังคงเป็นมหากาฬต่อไป หลายคนสงสัยกรณีนี้จะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ รวมถึงประชาชนที่ยังรอท่านผู้ว่าคนใหม่มาช่วยแก้ปัญหาค่าไฟแพง ก็ต้องรอต่อไป !!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related