svasdssvasds

ฟาร์มอิสราเอลอ่วม หลังแรงงานไทยแห่กลับประเทศ

ฟาร์มอิสราเอลอ่วม หลังแรงงานไทยแห่กลับประเทศ

ฟาร์มเกษตรในอิสราเอลขาดแคลนคนงานหนัก เจ้าของฟาร์มต้องหันไปพึ่งอาสาสมัคร แต่คนงานก็ยังไม่พอเก็บเกี่ยวผลผลิต

“นี่คือเวลาแห่งสงคราม” เมื่ออิสราเอล ปฏิเสธ ข้อตกลงหยุดยิง และ เดินหน้าทำสงครามจนกว่า จะบรรลุเป้าหมาย ผลพวงของสงครามนอกจากคนบาดเจ็บ ล้มตาย สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมยิ่งย่ำแย่ ความอดยากเริ่มคุกคาม

สถานการณ์ความไม่สงบที่ยังลุกลามบานปลาย ความปลอดภัยที่ไม่มีใครรับประกันได้ รัฐบาลไทยถึงกับเพิ่มเงินเยียวยาเพื่อจูงใจให้แรงงานไทยเดินทางกลับบ้าน นั่นหมายความว่า จำนวนแรงงานไทยในอิสราเอลจะน้อยลงเรื่อยๆ

ก่อนที่สงคราม อิสราเอล-ฮามาส จะเริ่มขึ้น ในอิสราเอลมีชาวไทยอาศัยอยู่ราว 3 หมื่น ในจำนวนดังกล่าวเป็นแรงงานภาคเกษตร เพราะอิสราเอลต้องการแรงงานจำนวนมากช่วยทำงานในฟาร์ม แต่นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งขึ้น สถานการณ์บีบให้ชาวไทยต้องตัดสินใจอพยพเพื่อหนีเอาชีวิตรอด นั่นทำให้ฟาร์มเกษตรต่างๆในอิสราเอลกำลังขาดแคลนแรงงาน

ในขณะที่ในฉนวนกาซาเวลานี้ถูกอิสราเอลระดมโจมตีอย่างหนักเพื่อตอบโต้กลุ่มฮามาส บริเวณพื้นที่ชายแดนอิสราเอลติดกับกาซา กลับเต็มไปด้วยพื้นที่เพาะปลูกและฟาร์มปศุสัตว์ ที่นี่นับเป็นพื้นที่ส่วนสำคัญของภาคเกษตรในประเทศ ผลผลิตที่ออกมาจากที่นี่ถูกส่งไปจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ และส่งออกไปทั่วโลก

ราเชล ไคเซอร์ เจ้าของฟาร์มวัย 76 ปี เธอเป็นเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกที่มีขนาดใหญ่ถึง 1,000 ไร่ ส่วนใหญ่ เธอจะปลูกส้ม องุ่น และกระบองเพชร ราเชลเล่าว่า เธอเคยมีแรงงานชาวไทย 10 คนช่วยทำงานในไร่ แต่ส่วนใหญ่เดินทางกลับไทยไปแล้วเนื่องด้วยสถานการณ์ความไม่สงบ

เมื่อไม่มีคนงาน สิ่งที่ราเชลทำก็คือ การร้องขอไปยังอาสาสมัครจากเมืองต่างๆทั่วประเทศอิสราเอลให้มาช่วยเหลือ แต่ถึงตอนนี้จำนวนคนงานก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี

ราเชลเล่าว่า งานเยอะมากจริงๆ หลังจากเก็บเกี่ยว ก็ต้องตัดใบไม้ออก มันไม่ใช่แค่เก็บผลผลิตก็เสร็จแล้ว แต่เธอยังต้องคอยเปิดน้ำในเวลากลางคืนอีกด้วย ซึ่งงานเหล่านี้ต้องให้คนงานที่เชี่ยวชาญทำ เพราะไม่มีใครสามารถทำได้

อาจต้องทิ้งพืชพันธุ์จำนวนมหาศาลเพราะเก็บไม่ทัน

พืชผักจำนวนมากกำลังรอการดูแลและเก็บเกี่ยว

แม้เหล่าอาสาสมัครจากทั่วประเทศอิสราเอลจะมาช่วยเหลือฟาร์มเกษตรต่างๆที่ตั้งอยู่ติดกับฉนวนกาซา แต่พวกเขาหรือเธอเหล่านั้นก็ไม่ได้มีประสบการณ์เท่าแรงงานมืออาชีพอย่างแรงงานไทย

ยาฟิต กับไบ เธอเป็นคุณครูโรงเรียนอนุบาลในกรุงเทลอาวีฟ ช่วงนี้เธอมาช่วยราเชลเก็บส้มอาทิตย์ละหนึ่งหรือสองครั้ง

ยาฟิตบอกว่า เธอได้ยินข่าวว่าตอนนี้เกษตรกรลำบากมาก เพราะทุกคนอพยพหนีออกไปหมด แรงงานต่างชาติอพยพ  พวกเขาต้องการอาสาสมัครมาช่วย ดังนั้นเราจึงมาช่วยเพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องขาดทุน

การขาดทุนที่ว่าคือการที่บรรดาฟาร์มเกษตรต่างๆอาจต้องทิ้งพืชพันธุ์จำนวนมหาศาลเพราะเก็บไม่ทัน อาดีร์ อีลิฮู วัย 34 ปี เขาเป็นเกษตรรุ่นที่สามในครอบครัว ตอนนี้เขากำลังกังวลว่า ผักของเขาอาจจะต้องถูกทิ้งให้ตายอยู่กลางไร่ ตอนนี้ เขามีเวลาเพียงแค่ห้าวันที่จะเก็บผักกาด มิฉะนั้นจะต้องทิ้งพวกมันทั้งหมดลงถังขยะ

อาดีร์บอกว่า เขาไม่มีประกัน และในเวลานี้การจะร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ดูเป็นไปได้ยากเหลือเกิน

 

 

 75 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทางเกษตรอยู่ใกล้กับฉนวนกาซา

พื้นที่การเกษตรใกล้กำแพงลวดหนามของฉนวนกาซา เครดิตภาพ : Reuter

แม้ว่าในเวลานี้แรงงานภาคการเกษตรจะขาดแคลน แต่อิสราเอลมีอุตสาหกรรมการเกษตรที่ล้ำสมัยและได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี แม้ว่าหากดูจากภูมิประเทศจะพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของดินแดนอิสราเอลเป็นทะเลทราย แต่อิสราเอลคือประเทศผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก และยังเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในการทำฟาร์ม

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้อิสราเอลกลายเป็นผู้นำด้านการเกษตรโลก คือการที่พวกเขาพึ่งพาใน “สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นจริง” มากกว่า “ธรรมชาติ”

หนังสือพิมพ์เดอะเยรูซาเล็มโพสต์ ระบุว่า นอกจากปัญหาเรื่องดินแดนที่เป็นทะเลทรายเสียส่วนใหญ่ อิสราเอลยังประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำธรรมชาติ ขาดแคลนน้ำฝน และอื่นๆ แต่ที่อิสราเอลพลิกฟื้นภาคเกษตรให้กลับมานำหน้าอีกหลายประเทศได้ก็เพราะหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีการวางนโยบายระยะยาวเรื่องการเกษตรและน้ำเอาไว้แล้ว โดยในแต่ละปี  30 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรัฐจะทุ่มให้แก่ภาคเกษตรและแหล่งน้ำ ขณะที่อีก 30 เปอร์เซ็นต์จะทุ่มให้แก่ภาคการศึกษา ซึ่งทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้นี่เองที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรต่างๆออกมา

เทคโนโลยีเหล่านั้นช่วยให้อิสราเอลเคยขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตนมวัวปริมาณมากที่สุดในโลก และยังเป็นประเทศที่มีความเสียหายหลังการเก็บเกี่ยวน้อยที่สุด คือเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่ทั่วโลกตัวเลขตรงนี้อยู่ที่ราว 20 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ดังนั้นท่ามกลางการสู้รบ พืชผักจำนวนมากกำลังรอการดูแลและการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ริมชายแดนอิสราเอลติดกับกาซา สมาคมเกษตรกรอิสราเอลเปิดเผยว่า ราว 75 เปอร์เซ็นต์ของผักที่ปลูกภายในประเทศ มาจากพื้นที่ตรงชายแดนติดกับฉนวนกาซานั่นเอง ขณะที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของผลไม้ และ 6 เปอร์เซ็นต์ของนมวัวในประเทศ ก็มาจากตรงนี้เช่นกัน นั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อิสราเอลไม่สามารถทิ้งพื้นที่เพาะปลูกตรงริมชายแดนเอาไว้ได้ แม้ว่าจะเสี่ยงภัยค่อนข้างมากก็ตาม

ชาวปาเลสไตน์เคยเป็นแรงงานหลักให้อิสราเอล

แรงงานชาวปาเลสไตน์ใกล้กับฉนวนกาซา เครดิตภาพ : Reuters

อย่างไรก็ตาม การเกษตรในจุดนี้พึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศไทย และแรงงานชาวปาเลสไตน์จากฉนวนกาซ่า 

ชาวปาเลสไตน์ก็เคยเป็นแรงงานหลักของฟาร์มเกษตรในอิสราเอล รัฐบาลอิสราเอลออกใบอนุญาตการทำงานให้แก่แรงงานชาวปาเลสไตน์ให้เข้ามาทำงานยังอิสราเอล ซึ่งให้ค่าแรงสูงกว่า จากสถิติชี้ว่า อิสราเอลออกใบอนุญาตวันละ 17,500 ใบให้แก่ชาวกาซาเข้ามาทำงาน  ก่อนที่ฮามาสจะเปิดฉากโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา และตอนนี้ ใบอนุญาตเหล่านั้นก็ถูกระงับ

ตามปกติแล้ว อิสราเอลก็มักจะระงับการออกใบอนุญาตทำงานเป็นระยะๆ ในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งขึ้นอยู่แล้ว และในตอนนี้ เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดจนปะทุกลายเป็นสงคราม อิสราเอลก็เข้าปิดล้อมกาซาและระงับการออกใบอนุญาตทำงานไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งอิสราเอลก็มีความคิดที่จะอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์จากเขตเวสต์แบงค์เข้ามาช่วยเหลือภาคเกษตรที่ในเวลาขาดแคลนคนงานอย่างหนัก และอีกหนึ่งแนวคิดของกรมตรวจคนเข้าเมืองคือ การนำแรงงานมาจากประเทศอื่นๆ และเสนอโบนัสเดือนละ 490 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 17,000 บาท ให้กับทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติที่เต็มใจจะเข้ามาทำงานในฟาร์ม

และเพื่อการันตีความปลอดภัย รัฐบาลอิสราเอลบอกว่า ได้ทุ่มงบ 5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 212 ล้านบาท สำหรับสร้างที่หลบภัยกลางแจ้งจำนวน 430 แห่งเอาไว้แล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงครามอิสราเอลคร่าชีวิตเด็ก 3,195 คน มากกว่าเหตุขัดแย้งทั่วโลกตั้งแต่ปี 19

"แรงงานไทย" ถูกจับเป็นตัวประกันเพิ่ม 3 ราย จากเหตุความไม่สงบในอิสราเอล

อิสราเอล-ฮามาส รบรุนแรง ก.ต่างประเทศเร่งคนไทยกลับให้เร็วที่สุด

 

 

 

 

 

related