svasdssvasds

หนี้นอกระบบ : 2 ทศวรรษรัฐบาลไทย มีมาตรการอย่างไรในการทะลวงปัญหา

หนี้นอกระบบ : 2 ทศวรรษรัฐบาลไทย มีมาตรการอย่างไรในการทะลวงปัญหา

ส่องมาตรการ รัฐบาลไทยในการแก้ปัญหา หนี้นอกระบบ ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลไหนเวิร์ก รัฐบาลไหนมูฟออนเป็นวงกลม เช็กเลย

หนี้นอกระบบ ถือเป็นปัญหาที่กัดกร่อนบ่อนเซาะคนในสังคมไทย ให้ค่อยๆตายช้าๆ ทรมานมาอย่างยาวนาน หากใครเผลอเข้าไปอยู่ในวังวนนี้ ก็ยากที่จะหลุดพ้นออกมาได้ ถ้าไม่มีวินัยทางการเงิน

หนี้นอกระบบ มีส่วนเกี่ยวพันกับคนไทยจำนวนมาก ,ที่ผ่านมารัฐบาลไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีความเอาจริงเอาจังในการแกะปมปัญหานี้มาโดยตลอด ขณะที่เข็มนาฬิกาปัจจุบัน รัฐบาลเพื่อไทย ในยุคเศรษฐา ทวีสิน มีความพยายาม ทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ  พวกเขามีความต้องการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวังและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทยทุกคน

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเปลี่ยนผู้นำไปแล้ว หลายต่อหลายคน , เรามาลองดูกันว่า ที่ผ่านมา ผู้นำ และรัฐบาลแต่ละยุค ใช้อาวุธ ใช้มาตรการอะไรบ้าง ในการทะลวงปัญหาหนี้นอกระบบ และพยายามให้มันสลายหายไป

แต่คำถามสำคัญ คือ ทำไม ทำไม ทำไม คนไทยยังจนเหมือนเดิม
 

"รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร " - "การลงทะเบียนคนจน" 

ในยุครัฐบาลของ พี่โทนี่ ทักษิณ ชินวัตร นั้นได้ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก รวบถึงจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ หรือ ศตจ. ขึ้นในวันที่ 19 พ.ย. 2546 เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนโดยทุกด้านทุกมุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับ หนี้นอกระบบ

โดยในระยะแรก กระทรวงมหาดไทยฟันเฟือง เป็นหน่วยดำเนินการจดทะเบียนประชาชนที่ประสบปัญหาสังคม-ความยากจนเพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการแก้ไขปัญหา เริ่มจดทะเบียน 6 ธ.ค. 2546 - 31 มี.ค. 2547  

ในช่วงเวลา 4 เดือนนั้น มีผู้จดทะเบียนรวมกว่า 8 ล้านคน พบว่าในจำนวนผู้ลงทะเบียนมีปัญหามากกว่า 12.3 ล้านเรื่อง

ในขณะนั้นมีผู้ระบุว่าเป็นหนี้นอกระบบจำนวน 1,765,033 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 136,750 ล้านบาท รัฐบาลนายทักษิณดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านแนวทางสำคัญเบื้องต้น ดังนี้

  1.  ลงทะเบียนผู้ประสบปัญหา
  2.  การเจรจาและยุติเรื่อง โดยสามารถเจรจาและขอยุติเรื่องได้จำนวน 1,525,900 ราย คิดเป็น 86.5% ของลูกหนี้นอกระบบทั้งหมด ในช่วงที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ดูแล
  3.   โอนหนี้นอกระบบมาเข้าสู่ในระบบ ลูกหนี้ที่ผ่านการเจรจาและประสงค์ขอกู้จำนวน 218,000 ราย ในจำนวนนั้นได้รับการอนุมัติ คิดเป็น 48.4% ของจำนวนผู้ผ่านกระบวนการเจรจาทั้งหมด

หนี้นอกระบบ : 2 ทศวรรษรัฐบาลไทย มีมาตรการอย่างไรในการทะลวงปัญหา

"รัฐบาลอภิสิทธิ์" กับ “การลงทะเบียนหนี้นอกระบบ”

โดยในยุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์จากพรรคประชาธิปัตย์นั้น มีงานวิจัยประเด็น "หนี้นอกระบบกับความเป็นธรรมทางสังคม" โดย ดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่ในการประชุมวิชาการในปี 2557 ได้ระบุถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีโครงการแก้ไขหนี้สินภาคประชาชน (หนี้นอกระบบ) ระหว่างปี 2552-2554 และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความคล้ายคลึงกับการลงทะเบียนคนจนในรัฐบาลชุดก่อนหน้านั้น หรือ รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง 

การแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตั้งเป้าหมายไปที่กลุ่มที่มีหนี้นอกระบบเท่านั้น 

สำหรับขั้นตอนการ "แก้หนี้เนอกระบบ" ครั้งนั้น ประกอบด้วย การรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบที่มียอดคงค้างไม่เกิน 200,000 บาท ผ่านธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. แล้วประมวลผล คัดกรองและจัดประเภทลูกหนี้ แล้วส่งไปสู่การเจรจาประนอมหนี้เพื่อนำเข้าสู่ระบบ หากลูกหนี้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารภายใต้โครงการนี้ ก็สามารถกู้เงินได้

แต่สำหรับกรณีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ จะได้รับการพิจารณาช่วยเหลือต่อไป

ในครั้งนั้น กระทรวงการคลัง ที่มี กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในยุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์ นั้น ได้เผยแพร่ผลการดำเนินการว่า ยอดลูกหนี้ที่ขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบผ่าน ธ.ก.ส. และ ธนาคารออมสิน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ธ.ค. 2552 - ม.ค. 2553) มีจำนวน 1,183,355 ราย คิดเป็นจำนวนมูลหนี้ 122,672.19 ล้านบาท และมีการเจรจาประนอมหนี้สำเร็จ 602,803 ราย ไม่สำเร็จ 182,862 และขอยุติเรื่อง 397,690 ราย

หนี้นอกระบบ : 2 ทศวรรษรัฐบาลไทย มีมาตรการอย่างไรในการทะลวงปัญหา

"รัฐบาลประยุทธ์" กับ 5 แนวทางแก้หนี้นอกระบบ 

ย้อยกลับไปในเดือน ก.ย. 2563 รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เหมือนๆกับในช่วงเวลาที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ 

 โดยสรุปเป็น 5 ด้าน ในการแก้หนี้นอกระบบ จากแนวคิดของประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ ดังนี้

- พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ และเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบได้

- ลูกหนี้สามารถร้องทุกข์และขอคำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่ “จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ” ที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขา ซึ่งจะช่วยประสานคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด เพื่อช่วยเจรจาระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้

- การจัดหาแหล่งเงินในระบบให้ เมื่อไกล่เกลี่ยจนมูลหนี้เป็นธรรมแล้ว โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้มีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (PICO Finance)

- ฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำเกินไป คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด จะช่วยฟื้นฟูอาชีพ ปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงิน ฝึกอบรมอาชีพ หรือพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน

- สร้างภูมิคุ้มกัน ภาครัฐจะพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนให้ทำหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบ พร้อมกับให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนและจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบ เพื่อใช้กำหนดนโยบายที่เหมาะสมและตรงเป้าหมายต่อไป

ส่วนผลการดำเนินงานระหว่าง ส.ค. 2561 - ก.พ. 2563 ช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับทรัพย์สินคืนแล้ว 25,044 ราย คิดเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 21,304 ฉบับ จับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายได้จำนวน 6,002 ราย และการให้แหล่งเงินในระบบพิโกไฟแนนซ์ มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 269,880 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 7,018.34 ล้านบาท

หนี้นอกระบบ : 2 ทศวรรษรัฐบาลไทย มีมาตรการอย่างไรในการทะลวงปัญหา

สรุปแนวทางแก้หนี้นอกระบบจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน 

ขณะที่ รัฐบาลเศรษฐา ที่ดูแลประเทศมายังไม่ถึง 6 เดือน แต่ก็พยายามรุกหนัก เรื่องหนี้นอกระบบ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566  รัฐบาลประกาศให้ “การแก้ไขหนี้นอกระบบ” เป็นวาระชาติโดยจะเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียนเพื่อนำไปสู่การไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างและปลดภาระหนี้ โดยมีการประเมินว่า หนี้นอกระบบของไทยอาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าหนี้นอกระบบสะท้อนปมปัญหาที่ซับซ้อนทางด้านสังคมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนซึ่งหากสามารถช่วยลูกหนี้ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เพิ่มขึ้นผลได้ที่ชัดเจนที่สุดก็คือภาระดอกเบี้ยที่ลดลงของลูกหนี้

เป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ก็คือ การทำให้ลูกหนี้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่ง ‘มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน’ ของธปท. ในช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีการเตรียมหลักเกณฑ์ Risk-based Pricing สำหรับสินเชื่อไม่มีหลักประกันเพื่อช่วยดูแลกลุ่มลูกหนี้นอกระบบด้วยเช่นกัน ขณะที่ประเด็นสำคัญของแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของภาครัฐจะอยู่ที่กระบวนการตรวจสอบสถานะของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้รวมไปถึงการจูงใจให้เจ้าหนี้มาร่วมแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้

โดยในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แนวทางแก้ไขดังนี้ 

หนี้นอกระบบ : 2 ทศวรรษรัฐบาลไทย มีมาตรการอย่างไรในการทะลวงปัญหา

1. การไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยภาครัฐจะเปิดช่องทางเพื่อให้ลูกหนี้สามารถขอรับความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขหนี้สินนอกระบบ ซึ่งหน่วยงานของภาครัฐจะเข้ามาดูแลในเรื่องของสัญญากู้ยืมและการทวงถามหนี้ที่จะต้องเป็นไปตามกฏหมายและเป็นธรรมกับลูกหนี้ และจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในกระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ด้วย

2. การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะมีการปรับระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนั้นจะต้องไม่เกิน 15% ตามพ.ร.บ. ห้ามเรียกอัตราดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560

3. เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยจะมีการเดินหน้าโครงการสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย และสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน

4. สนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ผ่านการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือ พิโกไฟแนนซ์

related