svasdssvasds

ประเทศเมืองหนาว เจริญกว่าประเทศเมืองร้อน จริงหรือไม่?

ประเทศเมืองหนาว เจริญกว่าประเทศเมืองร้อน จริงหรือไม่?

เคยสงสัยกันไม่ว่า ทำไมประเทศที่อยู่ในเขตอากาศหนาวเย็นส่วนใหญ่ มักมีความร่ำรวย ความเจริญ และมีคุณภาพชีวิตดี ส่วนประเทศที่อยู่ในเขตร้อนกลับต้องเผชิญกับปัญหาความยากจน และคุณภาพชีวิตแย่จนติดอันดับโลก

ชาวยุโรปและอเมริกาเหนือที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากฤดูหนาวอันหนาวเหน็บ แต่กลับสามารถสร้างประเทศให้ร่ำรวยติดอันดับโลกได้ ส่วนประเทศในเอเชียเหนือที่มีอากาศเย็นก็มีผลผลิตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศในเอเชียตอนใต้ที่มีอากาศร้อนกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ขณะเดียวกัน ประเทศที่อยู่ในเขตร้อนจัด หรือมีสภาพอากาศร้อนตลอดทั้งปี อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และบราซิล กลับต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนที่สูงกว่ามาก

ประเด็นนี้ ทำให้นักนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต่างพยายามหาคำตอบว่า แท้จริงแล้วสภาพอากาศนั้น มีผลต่อความเจริญของประเทศต่างๆ จริงหรือไม่ เพราะถ้ามองดีๆ จะพบว่า สภาพอากาศและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนั้น มีบางมุมที่เชื่อมโยงกันอยู่

เพื่อหาคำตอบในประเด็นดังกล่าว ช่อง YouTube ของออสเตรเลียช่องหนึ่ง ที่ชื่อว่า “Economics Explained” ได้เผยแพร่วิดีโอในหัวข้อ “Why Are Cold Countries Richer Than Hot Countries?” หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า เหตุใด ประเทศเมืองหนาว จึงร่ำรวยกว่าประเทศเมืองร้อน

ประเทศเมืองหนาว เจริญกว่าประเทศเมืองร้อน จริงหรือไม่?

โดย Economics Explained อธิบายว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่หนาวเย็น ต้องวางแผนและร่วมมือกันอย่างมาก ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะไม่มีชีวิตรอด ซึ่งการล่าสัตว์และการหาอาหารเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งในฤดูหนาว ดังนั้นทุกคนจึงต้องเรียนรู้ที่จะจัดสรรปันส่วนทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุด ขณะเดียวกันการสร้างที่พักอาศัยและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ก็ต้องสร้างอย่างดีมากๆ เพื่อป้องกันความหนาวเย็น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างเพื่อนบ้านในการสร้างด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศนอร์เวย์ที่ผู้คนไม่สามารถอยู่รอดในฤดูหนาวอันโหดร้ายได้ เว้นแต่พวกเขาจะวางแผนล่วงหน้าเพื่อสะสมอาหาร และสร้างที่พักที่แข็งแรง นอกจากนี้ยังต้องคิดเรื่องสำรองพลังงาน อย่าง เช่น น้ำมัน ถ่านหิน หรือฟืน ซึ่งการคิดแบบนี้ ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมที่รวดเร็ว

 

การต้องวางแผนอยู่ตลอดเวลาที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคนนี้เอง ทำให้คนเมืองหนาวให้ความสำคัญกับ “สินค้าประเทศทุน (Capital Goods) ” ซึ่งหมายถึง เครื่องมือ เครื่องจักร และสิ่งก่อสร้างที่นำไปสู่ประโยชน์อื่นๆ ในระยะยาว มากกว่าสิ่งฉาบฉวยที่มีประโยชน์แค่ระยะสั้น

ในทางตรงกันข้าม คนในประเทศเขตร้อนนั้นไม่มีความจำเป็นต้องสร้างที่อยู่อาศัยให้แข็งแรง เนื่องจากสามารถล่าสัตว์หรือเข้าถึงแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ได้ตลอดทั้งปี จึงไม่ต้องวางแผนเรื่องความเป็นอยู่ในแต่ละเดือนหรือปีเท่ากับกับคนเมืองหนาว

สลัมในบราซิล

Economics Explained ยกตัวอย่างว่า ทฤษฎีนี้ดูได้จากความเหลื่อมล้ำในออสเตรเลีย ที่ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีสภาพอากาศหลายแบบ โดยเมืองที่ร่ำรวยที่สุด 2 แห่งในประเทศอยู่ในพื้นที่หนาวเย็น ซึ่ง ได้แก่ ‘ซิดนีย์’ และ ‘เมลเบิร์น’ ส่วนเมืองที่ยากจนที่สุดในประเทศกลับเป็น ‘ดาร์วิน’ เมืองหลวงของรัฐนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี

ทั้งนี้ ถ้าพูดตามหลักการแล้ว ดาร์วินควรจะเป็นเมืองที่เจริญที่สุด เพราะตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และสามารถค้าขายกับจีน มาเลเซีย หรืออินโดนีเซียได้ แต่เมืองนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ต่ำติดอันดับประเทศ และยังเป็นเมืองที่มีอากาศร้อนที่สุดในออสเตรเลียอีกด้วย

ประเด็นความแตกต่างดังกล่าว “เชน โอลิเวอร์ (Shane Oliver) ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านเมืองหลวงของออสเตรเลีย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “สภาพอากาศที่หนาว หรืออบอุ่นกำลังดีมีแนวโน้มที่จะเอื้อต่อการทำงานที่มีประสิทธิผลมากกว่า ส่วนสภาพอากาศที่ร้อนเกินไปจะทำให้งานสำเร็จได้ยากขึ้น ซึ่งทำให้ภาพรวมของประเทศเขตร้อนมีมาตรฐานการครองชีพที่ต่ำ”

ซิดนีย์ สภาพอากาศ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่มีทฤษฎีที่ยืนยันในประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะในอดีต อารยธรรมโบราณ อย่างอียิปต์ ชาวมายัน หรือเปอร์เซีย ต่างก็มีความเจริญไม่แพ้ชาติในยุโรป และปัจจุบันประเทศในเขตร้อน เช่น สิงคโปร์ กาตาร์ หรือ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็มีความร่ำรวยที่สูงมากเช่นกัน จึงเป็นการเร็วไปที่จะสรุปว่าสภาพอากาศมีผลต่อความเจริญของประเทศ

อย่างไรก็ตาม Economics Explained อ้างว่าความเชื่อมโยงระหว่างสภาพอากาศ และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ความมั่งคั่งของประเทศอาจขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่สามารถผลิตได้ แต่ในปัจจุบันความมั่งคั่งของประเทศอาจถูกกำหนดโดย 'อุตสาหกรรม' และ 'นวัตกรรม' แทน นอกจากนี้ เสถียรภาพทางการเมืองก็มีผลเช่นกัน

“ท้ายที่สุดประเทศเมืองหนาวอาจนำหน้าไปก่อน แต่ประเทศเขตร้อนอย่างสิงคโปร์ ได้แสดงศักยภาพให้เห็นแล้วว่าการนำหน้านี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป เพราะทุกประเทศมีศักยภาพในการพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรก็ตาม” Economics Explained อธิบายทิ้งท้าย

 

related