svasdssvasds

”ลัทธิโยเร“ คืออะไร ฝ่ามือพลังแสงรักษาโรค ศรัทธา ความเชื่อ หรือแค่งมงาย

”ลัทธิโยเร“ คืออะไร ฝ่ามือพลังแสงรักษาโรค ศรัทธา ความเชื่อ หรือแค่งมงาย

"ลัทธิโยเร" คืออะไร ลัทธิสุดแหวกแนว จากแดนอาทิตย์อุทัย กับความเชื่อใช้พลังแสงจากฝ่ามือรักษาโรคภัยไข้เจ็บ จ่ายเงินซื้อเหรียญ อบรม 3 วันก่อนเข้าเป็นศาสนิก ล่าสุดธรรมกายออกโรงแจงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ตามที่สื่ออ้าง

ชื่อของ "ลัทธิโยเร" ปรากฏในสื่ออีกครั้ง หลังจากคดีสัตวแพทย์หญิงจบชีวิตตัวเองและลูกสาววัย 12 ปี ด้วย “ไซยาไนด์” ก่อนที่สามีของผู้ตายจะออกมาเปิดเผยถึงภาวะซึมเศร้าและการไปนับถือลัทธิโยเรของภรรยา โดยประเด็นที่น่าตกใจคือ “ไซยาไนด์” ดังกล่าว เป็นลอตเดียวกับ “แอม ไซยาไนด์” และดาราสาว "ไอซ์ ปรีชญา" ใช้ รวมถึงสัตวแพทย์หญิงรายนี้ ก็เคยถูกเรียกสอบ ตอนเกิดคดี “แอม ไซยาไนด์” แต่ไม่มีความผิด เพราะใช้ตามกฎหมายรักษาสัตว์

“ลัทธิโยเร” ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมคืออะไร เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร พาไปทำความรู้จัก “ลัทธิโยเร” ลัทธิที่มีความเชื่อว่า แสงจากฝ่ามือจะช่วยรักษาโรคภัย อาการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจได้

ที่มาของ "ลัทธิโยเร" 

ลัทธิโยเร หรือ “เซไกคีวเซ” เป็นศาสนาใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เกิดจากการผสมผสานความเชื่อของลัทธิชินโด ศาสนาพุทธนิการมหายาน และหลักจริยธรรมสากล ก่อตั้งโดย โมกิจิ โอกาดะ เมื่อปี พ.ศ.2478 และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ในช่วงปี พ.ศ.2490 ลัทธิโยเร เริ่มมีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น  

โดย คำว่า โย แปลว่า ชำระล้าง และ เร แปลว่า จิตวิญญาณ ด้วยเหตุนี้ โยเร จึงหมายถึงชำระล้างทางจิตวิญญาณ ซึ่งนอกจากความเชื่อ แสงจากฝ่ามือจะช่วยรักษาโรคภัย อาการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจได้แล้ว ยังมีแนวปฏิบัติอื่น ๆ แต่คำสอนหลักของลัทธิโยเรคือ การทำความดี และต้องชักชวนลูกหลานให้มาร่วมเป็นสาวก   

มีรายงานว่าก่อนหน้านี้ ระบุว่า สื่อญี่ปุ่นเคยออกมาเตือนเรื่อง ลิทธิโยเร ว่าเป็นลัทธิอันตราย ประเทศญี่ปุ่นและหลายประเทศในยุโรป ต่างเฝ้าระวังลัทธินี้ โดยกล่าวหาว่า คำสอนหลายอย่าง เข้าข่ายการล้างสมอง 

โมกิจิ โอกาดะ ผู้ก่อตั้งลัทธิโยเร

"ลัทธิโยเร" เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่

จากข้อมูลของเว็บไซต์วิกิพีเดีย ระบุว่า ลัทธิโยเร เข้าสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2511 โดย คาซูโอะ วากูกามิ เริ่มต้นจากการเผยแพร่คำสอน โดยการแปลเอกสารทางศาสนา และก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมในประเทศไทย จดทะเบียนในชื่อ “มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา” ต่อมากรมศาสนาได้รับรองให้มูลนิธิ เป็นองค์กรศาสนาย่อยของศาสนาพุทธนิกายมหายาน มีการเผยแพร่ศาสนาและมีศาสนิกชนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว   

แต่ต่อมา พ.ศ. 2527 กรมศาสนาได้เพิกถอนสถานะ การเป็นนิกายของศาสนาพุทธนิกายมหายาน จึงถูกลดสถานะกลับไปเป็นมูลนิธิ โดยปัจจุบัน ลัทธิโยเร มีศาสนสถานอยู่ที่จังหวัดสระบุรี เรียกว่าองค์การศาสนาเซไคคิวเซเคียวประจำประเทศไทย (หรือหอเซจิ) และย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่ซอยสีฟ้า ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ลัทธิโยเรยังคงทำกิจกรรมสนับสนุนทุนการศึกษาศาสนาพุทธ ให้แก่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประจำทุกปี และการต่อต้านยาเสพติด รวมไปถึงการปรับปรุงวิธีการเผยแผ่ศาสนา ด้วยการสนับสนุนสถาบันหลักและวัฒนธรรมไทย

เหรียญโยเร

 

วิธีเข้าร่วม "ลัทธิโยเร" ต้องทำอย่างไร 

  • ผู้ที่จะเข้าร่วมลัทธิโยเร ต้องเข้ารับจี้โอฮิการิ หรือเรียกว่า “การรับพระ” ซึ่งมีค่าใช้จ่าย และต้องปฏิบัติศาสนกิจ เรียกว่า “กิจกรรมพระ” ได้แก่ การซัมไป (สักการะ) การโยเร และ การโฮชิ (บำเพ็ญประโยชน์)
  • รวมทั้งต้องเผยแผ่ศาสนาเพื่อเพิ่มจำนวนศาสนิกชนให้มากขึ้น มีคำสอนสำคัญแก่สมาชิกคือ ความสุภาพอ่อนโยน ความสงบเสงี่ยม และความสะอาด
  • ที่สำคัญที่สุดคือการทำโยเร หลังการรับพระพวกเขาจะบูชาเหรียญพระโยเร เอาไว้ และจะสามารถปล่อยแสงทิพย์ออกจากมือเพื่อรักษาโรคได้ 
  • โดยกล่าวคาถาบูชาว่า "ขออำนาจพระศรีรัตนตรัยและท่านเมซึซามะ ขอให้คนข้างหน้าจงมีความสุข" หรือบ้างก็กล่าวว่า "ขออำนาจบารมี คุณพระศรีอริยเมตไตรย และท่านเมซึซามะ โปรดประทานแสงทิพย์ เพื่อชำระเมฆหมอกความขุ่นมัว"
  • จากนั้นจะยกมือขึ้นระดับศีรษะ หันมือเข้าหาผู้รับแสง ยกค้างไว้ 10-15 นาที วันละครั้งหรือสองครั้ง เพราะเชื่อว่าเป็นการรักษาโรคภัย

ระดับชั้นของสาวก "ลัทธิโยเร" 

  • ระดับศาสนิกชน คือ บุคคลที่เพิ่งเข้าสู่ลัทธิโยเรได้ไม่นาน
  • ระดับเซวานิน คือ บุคคลที่เข้าลัทธิได้ 1 - 2 ปี มีหน้าที่ดูแลศาสนิกชนที่เพิ่งเข้ามา และต้องชักชวนบุคคลอื่นเข้าสู่ลัทธิ
  • ระดับไฮเคียว คือ บุคคลที่เข้าลัทธิ 2 ปีขึ้นไป จะต้องเข้ามาประกอบกิจของลัทธิเป็นประจำ
  • ระดับภูไคอิน คือ บุคคลระดับสูง เข้ามาประกอบกิจลัทธิบ่อยครั้ง ทั้งยังมีความเลื่อมใสในลัทธิอย่างสูงส่ง
  • ระดับเคียวไคโจ คือ สาวกระดับอาจารย์ จะมีแค่ 1 คนต่อสาขา ต้องเป็นผู้ละทางโลก และเป็นคนสอนคำสอนให้กับสาวก

ปัญหาที่เกิดขึ้นของลัทธิโยเร

นอกจากความเชื่อเรื่อง แสงจากฝ่ามือจะช่วยรักษาโรคภัย อาการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจได้ ทำให้ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการปฏิเสธการรักษาด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบัน และแนวปฏิบัติอื่นๆ ที่แปลกประหลาดแล้ว

ยังพบปัญหาการบิดเบือนคำสอน และเจตนารมณ์เดิมของผู้ก่อตั้ง หลังก่อตั้งมานาน มีการตั้งองค์กรเป็นกลุ่มธุรกิจเชิงพาณิชย์มากขึ้น สาวกที่คลั่งไคล้คำสอนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และแม่บ้าน ที่ค่อนข้างมีเวลา และทุนทรัพย์ไปบำเพ็ญบุญร่วมกิจกรรม และให้เวลากับการร่วมกิจกรรมของลัทธิมากกว่าครอบครัว 


และยังพบข้อมูล ผู้ร่วมลัทธิโยเรส่วนหนึ่ง แตกกระจายมาจากกลุ่มของวัดธรรมกาย ในช่วงที่ "พระธัมมชโย" อดีตเจ้าอาวาส วัดพระธรรมกาย ประสบปัญหา ช่วงนั้นผู้ศรัทธาต่างหันหน้าไปแสวงบุญ บริจาคเงินทำบุญกับมูลนิธิโยเร ที่มีอยู่ จำนวน 24 สาขาทั่วประเทศ มีการเรียกเก็บเงินแรกเข้า กับสมาชิกรายละ 100 บาท เรียกเก็บเงินค่าเหรียญโยเร รายละ 1,000 - 3,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการเรียกเก็บค่าสมาชิกรายปีอีก รายละ 150 บาท

วัดธรรมกาย ออกโรงโต้ ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโยเร

ล่าสุดเฟซบุ๊ก สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจง ยืนยันว่า วัดธรรมกาย ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโยเร โดยระบุว่า

วัดพระธรรมกายไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโยเรแต่อย่างใด

ตามที่สื่อออนไลน์บางสำนักนำเสนอข่าวอันเป็นเท็จว่า “ลัทธิโยเร” เชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวัดพระธรรมกายนั้น

วัดพระธรรมกายขอชี้แจงว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มความเชื่อตามที่สื่อกล่าวอ้าง ทั้งนี้ วัดพระธรรมกายเป็นวัดในพระพุทธศาสนา สังกัดคณะสงฆ์ไทย ยึดแนวปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยของสงฆ์เถรวาท ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม (มส.) ดังนั้นการนำเสนอข่าวที่ปราศจากข้อเท็จจริง อาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายได้

วัดพระธรรมกายจึงชี้แจงมาเพื่อทราบ และโปรดเผยแพร่ความจริงดังกล่าวแก่สาธารณชนด้วย จักขอบคุณยิ่ง

ที่มา : สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

related