svasdssvasds

นายกฯ ถก ผบ.ตร.เข้มอารักขาขบวนเสด็จ ลั่นไม่ควรมีขบวนการให้ท้ายเยาวชน

นายกฯ ถก ผบ.ตร.เข้มอารักขาขบวนเสด็จ ลั่นไม่ควรมีขบวนการให้ท้ายเยาวชน

นายกฯ เผย คุย ผบ.ตร.เข้มอารักขาขบวนเสด็จ-ผู้นำประเทศ แนะกลุ่มเห็นต่างพูดคุยในเวทีที่ปลอดภัยกว่านี้ ไม่อยากให้กระทบกระทั่งกัน ลั่นเรื่องนี้ไม่ควรมีขบวนการให้ท้ายกลุ่มเยาวชน

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการพูดคุยกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง เรื่องมาตรการอารักขาฯ โดยยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความดูแลบุคคลสำคัญของประเทศ ตรงนี้ก็ได้มอบให้ทางสำนักงานข่าวกรอง

พร้อมกำชับให้ดูแลเรื่องนี้ให้ดี เพราะไม่อยากให้มีการปะทะกันเกิดขึ้น และอยากให้ประเทศอยู่ด้วยความสามัคคี ถ้ามีเวทีไหนที่เราเห็นต่าง ซึ่งต้องเป็นเวทีที่เหมาะสม หรือเวทีนักวิชาการมาพูดคุยกัน 

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีหลายฝ่ายออกมาแสดงพลังและจุดยืนในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ และกลุ่มต่างๆ นั้น ตนว่าจริงๆ แล้ว เรื่องนี้กองทัพเขาก็ทำกันอยู่แล้ว กองทัพก็ให้ความเคารพสถาบัน 

ส่วนทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีการรายงาน เรื่องการดำเนินคดีอย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรีตอบว่า ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งหรืออย่างไร แต่ก็อยากจะวิงวอนในเรื่องของการใช้ความรุนแรง เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควร รัฐบาลไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือกองทัพก็อยากจะเห็นความสมัครสมานสามัคคี

แน่นอนการเห็นต่างเป็นเรื่องที่สังคมมีการเห็นต่างอยู่แล้ว ก็ต้องมาพูดคุยใช้เวทีที่ปลอดภัยและไม่เป็นที่คุกคามของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่อยากจะขอวิงวอนอ้อนวอน ให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงจุดนี้ ประเทศเราก็เดินหน้ามาด้วยดีเรื่องความวุ่นวายเหล่านี้มันก็ไม่มีมานาน เราก็ไม่อยากที่จะให้เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นซึ่งก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายรักษาความปลอดภัย และความมั่นคงที่ต้องดูแล

 

ส่วนความกังวลว่าจะกลายเป็นเหตุความรุนแรงหรือไม่ เนื่องจากล่าสุดก็เกิดการปะทะกันเกิดขึ้น นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องการที่ใช้กำลังหรือวาทกรรมก็อยากให้ลดลง ควรใช้เวทีสาธารณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสภา หรือนักวิชาการในการพูดคุยกันในเวทีที่ปลอดภัยกว่านี้

ความปลอดภัยของราชวงศ์ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ตนเชื่อว่าทุกฝ่ายก็อยากให้ประเทศชาติมีความปรองดอง ความสมัครสมานสามัคคี มีบรรยากาศที่พูดคุยกันได้ ทุกฝ่ายก็ให้ความสำคัญ ตนก็ได้พูดคุยกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไป ว่าต้องระมัดระวังอย่าให้กระทบกระทั่งกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใดความปลอดภัยของราชวงศ์ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

ส่วนพรรคก้าวไกลมีความคิดเห็นว่า หากเป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมืองก็จะนิรโทษกรรมด้วย นั้น "ผมไม่เคยมองไปไกลขนาดนั้น ผมมองว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายรักษาความปลอดภัยที่ต้องดูแลบุคคลสำคัญของประเทศให้ดีที่สุดไม่ให้เกิดมีการคุกคามหรือการใช้กำลัง และไม่อยากให้เรื่องนี้มาเป็นเรื่องการเมืองด้วย เพราะว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง" นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับเหตุที่มีการปะทะกันล่าสุดเนื่องจากกลุ่มทะลุวังได้มีการนำ ป้ายโพสต์ข้อความเกี่ยวกับขบวนเสด็จมาทำกิจกรรม จึงควรที่จะให้หยุดพฤติกรรมตรงนี้หรือไม่ นายเศรษฐา มองว่า เรื่องของการพูดคุยก็ควรเป็นสถานที่ที่เหมาะสม เรามีตัวแทนของประชาชนดูแล้วอยู่ในรัฐสภา เราก็ต้องใช้เวทีสภาในการพูดคุยกันดีกว่าหรือไม่ เพราะก็เป็นเวทีที่ปลอดภัย และถูกต้องตามครรลองคลองธรรมในระบบประชาธิปไตยอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นทุกๆฝ่ายทุกๆพรรค ทุกๆคนที่เรารักก็ได้มีการเลือกตั้งกันไปแล้ว ทุกๆฝ่ายก็มีตัวแทนอยู่แล้วในรัฐสภาอยู่แล้ว ถ้าเกิดมาใช้เวทีอื่นที่อาจจะ ที่มีพื้นที่สาธารณะประชาชนอยู่เยอะ ก็อาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ต้นก็ไม่เห็นด้วย เพราะก็มีคนเดือดร้อน เราไม่อยากให้บรรยากาศที่เกิดขึ้นอย่างเมื่อวันเสาร์ เข้าไปสู่สายตาของชาวโลก เพราะทุกประเทศเขาก็มีเรื่องการอารักขาผู้นำ และต้องเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญสูงสุด

นายกฯ ฉะไม่ควรมีขบวนการให้ท้าย ป่วนขบวนเสด็จ

ผมไม่แน่ใจว่าผู้ใหญ่ที่ไหนให้ท้าย แต่ถ้าจะให้ผมพูด เรื่องนี้มันไม่ควรมีการให้ท้าย ไม่ควรมีกระบวนการอยู่เบื้องหลัง เพราะว่าขบวนเสด็จมีภารกิจ พระองค์ท่านมีภารกิจตลอดเวลา ทุกพระองค์เพราะฉะนั้นเรื่องการเดินทางของท่านเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญอย่างสูงสุด

แล้วฝ่ายที่เห็นต่างก็ควรใช้เวทีที่ปลอดภัย เรามีนักวิชาการก็ควรพูดคุยกันในเวทีที่ถูกต้อง ไม่อยากให้เป็นเวทีที่มาใช้คำว่าท้าทาย อย่างเช่นที่ศูนย์การค้าหรือที่สาธารณะต่างๆ ไม่เหมาะสมหรอกครับเพราะมันไม่มีระบบรักษาความปลอดภัย และสถานที่ช้อปปิ้งต่างๆก็มีคนที่ไปพักผ่อนกัน นายเศรษฐากล่าว

วราวุธ เห็นด้วย 100% ญัติด่วน ถวายอารักขาขบวนเสด็จ

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเตรียมเสนอญัติด่วน เกี่ยวกับเรื่องการถวายอารักขาขบวนเสด็จ ว่า ตนในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์

อย่าว่าแต่ในประเทศไทยเลยเพราะในทุกๆ ประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกาขบวนของประธานาธิบดีจะมีการอารักขา มีการปิดถนนอย่างแน่นหนามาก หากมีผู้ใดแทรกแซงเข้ามา ซึ่งตนเองเคยเห็นกับตา บวกกับในสารคดีก็จะเห็นว่าบุคคลผู้นั้น หรือยานพาหนะนั้นจะถูกปาดจนตกถนน หรือโดนล็อคตัวออกไป ดังนั้นประเทศไทยก็เช่นกัน การถวายอารักขาให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรานั้นตนถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

พรรคชาติไทยพัฒนาทำงานไม่ได้หลับหูหลับตา เราเห็น เราสัมผัสด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการทำงานถวายพระบรมวงศานุวงศ์ ในสถาบันนั้นได้ก่อให้เกิดการพัฒนาต่อประเทศไทยมากน้อยแค่ไหนเพียงใด ดังนั้นบางครั้ง การที่เราจะเรียกร้องให้มีการรักษาสิทธิของบุคคลต่างๆนั้น แต่ละคนก็ต้องเข้าใจในการที่จะไม่ละเมิดสิทธิคนอื่นเช่นกัน ดังนั้น พรรคชาติไทยพัฒนาเราสนับสนุนญัตตินี้ร้อยเปอร์เซ็นต์

สว.จี้ แก้กฎหมาย-เพิ่มโทษ อารักขาบุคคลสำคัญ 

ทางฝั่ง สว. นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กลุ่มทะลุวัง ป่วนขบวนเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า การกระทำดังกล่าว เป็นความไม่เหมาะสม และการขัดขวางขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีพระราชบัญญัติถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 ใช้บังคับอยู่แล้ว

จึงอาจจะต้องมีการทบทวนปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อเพิ่มบทลงโทษ พร้อมเรียกร้องไปยังรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มีหน้าที่ถวายอารักขา ควรบังคับใช้กฎหมายที่มี รวมไปถึงกฎหมายอาญา ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และปะทะกันในสังคม เหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ได้ และมาตรการการรักษาความปลอดภัยประมุข และบุคคลสำคัญมีทุกประเทศ และมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่านี้ รวมถึงมาตรการในการกั้นเส้นทางจราจรในประเทศ ก็มีการปรับให้สอดคล้องกับการจราจรในประเทศ และปิดเส้นทางเท่าที่จำเป็น

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา

นายสมชาย ยังเรียกร้องไปยังนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่มีความเชื่อมโยงกลับกลุ่มมวลชนที่กระทำผิดดังกล่าวที่ศรัทธาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ในการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการยกเลิก หรืออ้างปฏิรูปสถาบัน มีเจตนาซ่อนเร้นตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และพฤติการณ์ดังกล่าว ได้ส่งต่อจากการกระทำที่มีการปลุกเร้าทางความคิดความเชื่อที่ผิด และเป็นการคุกคามที่คนไทยไม่สามารถยอมรับได้ จึงขอให้พรรคก้าวไกล ได้เริ่มต้นแสดงให้สังคมได้เห็นว่า เป็นพรรคการเมืองที่มีความจงรักภักดี และเชื่อมั่นใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยให้ชี้แจงไปยัง สส. สมาชิก และมวลชนที่สนับสนุนว่า การกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้อง และขอให้ยุติการกระทำทั้งหมด ทั้งบนท้องถนน ในสภา และนอกสภา รวมถึงโซเชียมีเดีย และหยุดการเคลื่อนไหวนิรโทษกรรมความผิดคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และหยุดการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะสิ่งที่เยาวชนหลงเชื่อ มีความรุนแรงก้าวร้าว และกระทำผิดซ้ำ จนอาจนำไปสู่ความเกลียดชัง และความรุนแรงเหมือนในอดีตได้

วันชัยสับ! "ทะลุวัง" ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง สมควรถูกประณาม

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงพฤติกรรมของนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กลุ่มทะลุวัง ป่วนขบวนเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า พฤติกรรมที่เกิดขึ้นไม่เหมาะสม เพราะเป็นการย่ำยีความรู้สึกของคนไทย และควรถูกประณาม เป็นการจาบจ้วงล่วงละเมิด ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง และเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

จึงขอให้สังคมช่วยกันปฏิเสธการกระทำเหล่านี้ด้วยการประณาม และใครที่เห็นด้วยกับพฤติกรรมนี้ ก็ต้องถูกประณามไม่ให้มีการกระทำซ้ำ และไม่ให้มีที่ยืนในสังคม พร้อมยังเรียกร้องไปยังผู้เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง จะต้องสั่งสอนให้เข้าใจวิถีชีวิตความเป็นคนไทย 

ส่วนที่นางสาวทานตะวัน อ้างไม่รู้ว่าเป็นขบวนเสด็จ และไม่ได้ตั้งใจป่วนนั้น นายวันชัย เห็นว่า จากพฤติกรรมดูแล้วฟังไม่ขึ้น เพราะมีการพูดชัด และกรรมเป็นตัวชี้เจตนา การกั้นถนนต่างๆ เพียงเห็นก็ต้องทราบแล้วว่าเป็นขบวนเสด็จฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็แจ้งแล้วด้วย แต่ก็ยังโต้ตอบกับตำรวจ และกลับทำทีเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แต่เชื่อว่า คนทั่วไปก็ทราาบว่า การกระทำดังกล่าว มีเป้าหมายอะไร 

นายวันชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่ม ศปปส. ปะทะกับกลุ่มทะลุวังเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยว่า การทำร้ายร่างกายกัน ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และไม่ควรยอมรับได้ แต่การแสดงออกของการปฏิเสธ ผ่านการประณามไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันถือว่า เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ 

ส่วนกรณีที่มีการอ้างถึงการกระทำเพื่อช่วยเพื่อนที่ถูกดำเนินดดีอาญามาตรา 112 นั้น นายวันชัย เห็นว่า จะต้องแยกส่วนกัน เพราะการไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีอาญามาตรา 112 ก็ไม่ควรกระทำเช่นนี้ และจะนำมาปะปนอ้างรวมกันไม่ได้

นายวันชัย ยังกล่าวถึงข้อถกเถียงการนิรโทษกรรมให้รวมความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยว่า ตนเองเห็นด้วยกันการนิรโทษกรรม เพราะความขัดแย้ง 20 ปี หากยุติได้ก็ควรยุติ ไม่ควรปล่อยให้เป็นบาดแผลในสังคมไทยอีก เพื่อเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองมีความเหมาะสม เพราะการสนับสนุนให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นปฐมบทของการปรองดอง และนิรโทษการเมืองสีแดง สีเหลือง นปช. และ กปปส.ในตัว จึงควรทำให้เป็นรูปธรรม แต่สำหรับการนิรโทษกรรมคดีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ควรจะให้มีคณะกรรมการไปพิจารณา และหาความพอดีทางกฎหมายให้เกิดขึ้น เพราะมีทั้งเหตุผลทางการเมือง และกฎหมาย ที่สามารถหาข้อยุติได้ และเชื่อว่า รัฐบาลจะทราบว่า ควรทำอย่างไรให้เหมาะสม และจะเกิดความปรองดองสมานฉันท์เหมือนในอดีต 

นายวันชัย ยังมั่นใจว่า การปะทะกัน หรือความขัดแย้งทางความคิด เป็นปรากฏการณ์ปกติในระบอบประชาธิปไตย และรัฐบาลต้องยึดเป้าหมายใหญ่ และเป้าหมายสำคัญในการทำให้ประเทศมีความปรองดองสมานฉันท์ ไม่ดึงเวลาไปเรื่อย เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่พรรคเพื่อไทย ควรยึดเป็นหัวใจในการผลักดัน ไม่ใช่กล่าวถึงแค่ดิจิทัลวอลเล็ต ที่ไม่ได้ทำให้เกิดความสมานฉันท์ และทำแต่ให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

รวมถึงการประชุมรัฐสภา ในวันศุกร์ที 16 กุมภาพันธ์นี้ รัฐบาล ก็ยังเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และหากรีบนำมาพิจารณาก็มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งลามถึงคดีต่างๆ ที่เคยยุติไปแล้ว แต่กลับหาเรื่อง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะทำไปหาสวรรค์วิมานอะไร 

นายวันชัย ยังเชื่อว่า ในช่วงปลายเดือกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคมี้จะมีการปะทะกันทางความคิดการเมืองใน 2 สภา เนื่องจาก จะมีการพิจารณาทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการอภิปรายทั่วไปของสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงการแก้กฎหมายคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งคาดว่า สมาชิกวุฒิสภา จะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญครั้งนี้ และอาจเสนอให้รัฐบาล นำกลับไปทบทวนก่อนที่จะมีการลงมติ

รวมไทยสร้างชาติ จ่อเสนอญัตติด่วน อารักขาขบวนเสด็จ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะโฆษกพรรคฯ กล่าวย้ำถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ จะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการปรับปรุงประสิทธิภาพการถวายอารักขาขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และขบวนเสด็จ    

ซึ่งเบื้องต้นได้มีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐแล้ว  และจะหารือกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลต่อไป  โดยคาดหวังว่า จะสามารถพิจารณาได้ในวันพุธนี้  ( 14 ก.พ.)  

ส่วนจะมีการเสนอแก้ไขกฎหมายหรือเพิ่มโทษการกระทำผิดหรือไม่ นายอัครเดช ชี้แจงว่า จะต้องรอญัตติที่นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะเลขาธิการพรรค จะเสนอด้วยวาจาและรอการอภิปรายในที่ประชุมก่อนว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร

ทั้งนี้ มีรายงานเบื้องต้นว่า วิปรัฐบาลได้วางแนวทางเบื้องต้นว่า ในวันพุธนี้ (14 ก.พ.) ที่ประชุมฯ จะพิจารณาร่างกฎหมายที่รัฐบาล และพรรคการเมืองเสนอมาก่อน และจะมีการพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาในวันพฤหัส (15 ก.พ.) นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related