svasdssvasds

ไทยมีคุณสมบัติพอไหม? หากอยากเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN

ไทยมีคุณสมบัติพอไหม? หากอยากเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เสนอรัฐบาลไทยให้พัฒนามาตรการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างหลักประกัน และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลกว่าประเทศไทยมีความจริงใจและยืนยันในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่ม

SHORT CUT

  • ไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนแค่ 7 ฉบับจาก 9 ฉบับ ซึ่งไม่ครอบคลุมสิทธิมนุษยชนทั้งหมด
  • มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน ชี้ ไทยสอบตกในเรื่องสิทธิมนุษยชน และจะไปนั่งร่วมเก้าอี้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UN ได้อย่างไร!
  • ประเทศไทยมีปัญหากักขังผู้อพยพชาวอุยกูร์ ชาวโรฮิงญา ชาวเมียมา และอื่นๆ และยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เสนอรัฐบาลไทยให้พัฒนามาตรการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างหลักประกัน และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลกว่าประเทศไทยมีความจริงใจและยืนยันในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่ม

วันที่ 1 มีนาคม 2567 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (Foreign Correspondents' Club of Thailand – FCCT) ตึกมณียา เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จัดกิจกรรม “เวทีเสวนาไทยกับเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ”

สำหรับวาระการเสวนา จะมีการปาฐกถา โดย องค์ปาฐก ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “ไทยและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” จากนั้นจะมีการเสวนาโดยวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในหัวข้อ “สถานการณ์การคุ้มครองแรงงานและผู้อพยพ เมื่อไทยประกาศลงชิงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” และปิดท้ายด้วยข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย

ไทยมีคุณสมบัติพอไหม? หากอยากเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN

งานเสวนาเริ่มด้วย เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล พิธีกรจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวเท้าความว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ว่าเริ่มมีการรับสมัครสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN ซึ่งจะมีวาระในปี 2568-2569 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2567

ซึ่งในกระบวนการสมัคร ทางสมาชิกจะต้องมีการทำเอกสารให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ ซึ่งหน้าที่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN ปีนี้ ต้องทำหน้าที่สอดส่องดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก หยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างบรรทัดฐาน ของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ที่ผ่านมา ประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่ง คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN มาแล้วในปี 2513-2556 ส่วนในปี 2556-2560 ประเทศไทยมีความพยายามลงสมัครเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้รับเลือกให้อยู่ในคณะมนตรีชุดนี้ ซึ่งเป็นเวลากว่า 10 ปีทำให้ไทยไม่มีบทบาทบนเวทีนี้ แต่การที่ประเทศไทยยังให้ความสำคัญและอยากลงสมัครอยู่ เป็นการเน้นย้ำว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะคุ้มครองดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย แต่สถานการณ์แรงงานในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ หรือผู้ข้อลี้ภัย ทำให้เกิดคำถามว่าประเทศไทยทำการบ้านมาดีพอหรือยัง

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไทยกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาพิเศษ ระบุว่า นิยาม ของผู้อพยพลี้ภัย คือผู้ที่หลบหนีภัยในการประหัตประหาร หรือภัยสงครามเข้ามาในประเทศ

สำหรับบทบาทของไทยในการมีส่วนร่วมกับเรื่องสิทธิผู้อพยพบนเวทีต่างประเทศ ตอนนี้ไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่เราเป็นภาคีอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับจาก 9 ฉบับ ซึ่งใช้ปกป้องคุ้มครองผู้อพยพลี้ภัยได้บ้าง เช่นมาตรา 13 ของอนุสัญญาที่ห้ามส่งคนต่างด้าวออกจากประเทศแบบพลการ รวมถึงผู้อพยพลี้ภัยด้วย นอกจากนั้นไทยยังร่วมในกฎหมายระหว่างประเทศ ในการพัฒนากระบวนการรกลั่นกรองผู้ลี้ภัยเข้าสู่ประเทศ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ เล่าต่อว่า ส่วนกระบวนการภายในประเทศ สิ่งที่กระทบมากที่สุดคือการใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ที่ในบางครั้งก็ยื่นหยุ่นในเรื่องให้เข้ามาได้ แต่ไม่ได้ตอบสนองประเด็นที่ว่าถ้ารัฐเดิมของคนที่เข้ามาไม่ปกป้องเขา ซึ่งถ้าเป็นกรณีนั้นเราจะทำอย่างไร ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองในการคัดกรองผู้ที่เป็นคนอพยพลี้ภัย

อย่างไรก็ตาม ที่ดีขึ้นในประเทศไทยคือมี พ.ร.บ ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และมาตรา 13 ในอนุสัญญาที่ห้ามส่งกลับใครก็ตามสู่ภัยอันตราย ซึ่งอันนี้ต้องบังคับใช้ให้มากขึ้น นอกจากนั้นไทยยังมีกฎหมายอื่นๆ เช่นเปิดเด็กที่อพยพลี้ภัยได้รับการศึกษา แม้จะหลวมในแง่ของการปฏิบัติจริงก็ตาม

ผู้อพยพ 4 กลุ่มยังเผชิญการเลือกการเลือกปฏิบัติ

ผู้อพยพ 4 กลุ่มยังเผชิญการเลือกการเลือกปฏิบัติ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ กล่าว่าถ้ามาดูข้อท้าทายในการปฏิบัติ ต้องแบ่งตามประเภทดังนี้

กลุ่มที่ 1 ชาวเมียนมาเดิม 90,000 คน ที่อยู่ในค่ายลี้ภัยตามตะเข็บชายแดนไทย - เมียนมา ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีการศึกษาเข้าถึงได้อยู่บ้าง ซึ่งประเทศไทยทำดีพอสมควร แต่ขอให้ดีขึ้นอีกคือ ให้พวกเขาได้เรียนต่อเนื่องมากขึ้น ตั้งแต่ ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย และเอกสารการศึกษาต้องมีความชัดเจน

นอกจากนี้อยากให้พวกเขาได้ทำงาน เพราะตอนนี้พวกเขาอยู่เฉยๆ มาหลายปีแล้ว ซึ่งยังทำงานไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องแอบทำงาน ทำให้คนในชุดยูนิฟอร์มได้ประโยชน์ เลยอยากถามว่าทำไม่เปิดโอกาสให้ 90,000 คน ให้พวกเขาทำงาน เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานหนักอยู่แล้ว

กลุ่มที่ 2 ชาวเมียมาที่เพิ่งเข้ามาใหม่ หลังรัฐประหาร 3 ปีก่อน ที่มีเป็นหมื่นๆ คน ซึ่งบางคนก็อยู่ไทยได้ แต่บางคนก็โดนดันกลับ ซึ่งกลุ่มนี้ขอเรียกร้อง 3 อย่างคือ 1.ให้เข้ามาอยู่ชั่วคราวได้ 2.ไม่ผลักดันกลับ 3.เคารพสิทธิพื้นฐาน ให้ข้าว น้ำ การศึกษา หรือสาธารณสุขที่เหมาะสม

กลุ่มที่ 3 ชาวกัมพูชา ซึ่งมีขอเรียกร้องเหมือนกันว่า ไม่ให้ดันกลับ อยู่ชั่วคราวได้ และ เคารพสิทธิพื้นฐาน ซึ่งกลุ่มที่ไทยดันกลับไป 3-4 ปีก่อน ตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่ในคุกที่กัมพูชา

กลุ่มที่ 4 ผู้ลี้ภัยทั่วไปที่มีหลายสัญชาติ ซึ่งกลุ่มนี้จริงๆ แล้วอยู่ได้ชั่วคราวในทางปฏิบัติ แต่เมื่อไทยกำลังบังคับใช้กฎหมายคัดกรองแห่งชาติอยู่แล้ว ซึ่งเกณฑ์ล่าสุดคือห้ามแรงงานต่างด้าวเข้ากระบวนการนี้ ต้องเป็นคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นเท่านั้น จึงขอให้บังคับใช้ได้แล้ว เพราะรอมา 3-4 แล้ว

ศาสตราจารย์กิตติคุณกล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องปวดหัวคือไทยมีกฎหมายเยอะเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายคนเข้าเมือง กฎหมายสัญชาติ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าเป็นกระดาษออกมาจะได้ 100 หน้า แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างการ จัดแคมเปญรณรงค์ให้สัญชาติ ซึ่ง 3 ปีก่อน สถิติล่าสุดพบว่า 5 แสนคนในไทยไม่มีสัญชาติ

ซึ่งทางออกที่ง่ายที่สุดสำหรับอนาคตคือ 1. เด็กที่เกิดในไทยที่ไม่มีสัญชาติ ขอให้ได้รับสัญชาติไทย เพื่อตัดประเด็นหม่ำผลประโยชน์ใต้โต๊ะไปเลย 2.กลุ่มอื่นที่ไม่ได้เกิดในไทย แต่ไร้สัญชาติ ให้ใช้ “residency” ที่เปิดช่องทำงานได้ อย่าไปใช้กฎหมายคนเข้าเมืองกับเขา 3. มีการรับหลักการกฎหมายเรื่องสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยแล้ว ทำให้ผู้ตกหล่นต้องได้รับสัญชาติไทย และปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อพวกเขา

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ทิ้งท้ายว่า ถึงเราจะไม่ได้เป็นภาคีสนธิสัญญาระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ แต่ไทยก็ร่วมกับ Global Compact on Migration และที่สำคัญมากสำหรับแรงงานต่างด้าวคือ ไทยมี MOU กับประเทศข้างเคียง ซึ่งเป็นการกำหนดการเข้า-ออกของแรงงานข้ามชาติในประเทศข้างเคียง ซึ่งอยากให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยลดการทำเอกสาร รวมถึงกระบวนการราชการ และแยกการใช้กฎหมายคนเข้าเมืองกับการปกป้องสิทธิของคนออกจากกัน 

โดยศาสตราจารย์กิตติคุณเสนอ 5 ข้อดังนี้

  1. มาตรฐานสากลสนธิสัญญาสากลเป็นสิ่งสำคัญมา และคำมั่นสัญญาที่เราน่าจะให้คือ การเป็นภาคีมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความโปร่งใสในกระบวนการมากยิ่งขึ้น
  2. การบังคับใช้กฎหมาย และมีนโยบายกฎหมายที่ดี อะไรที่มันแย่อย่าไปบังคับใช้ เช่นใช้กฎหมายอาญาหรือกฎหมายคนเข้าเมือง
  3. ต้องมีการร่วมมือของกระทรวงทั้งหลาย
  4. การมีส่วนร่วมของ NGO และฝ่ายอื่นๆ ในเรื่องการตรวจตรา
  5. การมีส่วนร่วมของผู้อพยพลี้ภัย แรงงานต่างด้าว ผู้ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และอื่นๆ

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน

ในบ้านยังดูแลไม่ดี และจะไปดูแลในระดับสากลได้อย่างไร

คุณสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน เล่าว่า สิ่งที่เราเห็นในสถานการณ์สงครามทางการเมือง แรงงานจะถูกจับเยอะมา จนเรารู้สึกเครียด เพราะต้องหาเงินซื้อข้าวส่งให้คนที่ถูกจับ ยังไม่นับเรื่องหาเสื้อผ้าให้พวกเขาใส่ระหว่างโดนคุมตัวอีก เพราะเราไม่อยากให้พวกเขาอยู่แบบไร้การคุ้มครอง และมันน่าจะมีวีการจัดการที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่สักแต่ใช้กฎหมายอย่างที่ทำตามๆ กันมา

คุณสุธาสินี กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักว่าพวกเขาหนีสงคราม หนีภัยอันตรายมา เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่สถานการณ์ปกติ และต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อปกป้อง และเยียวยาพวกเขาด้วยซ้ำ ไม่ใช่มองแต่ว่าเขาเข้ามาแบบผิดกฎหมาย

เมื่อถูกถามว่าให้คะแนนเท่าไหร่ หากไทยอยากเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UNคุณ สุธาสินี ตอบว่า ตนอยู่กับแรงงานข้ามชาติตลอดเวลา และเห็นเนื้องานที่เจ้าหน้าที่ไทยปฏิบัติจริงๆ ขอไม่ให้คะแนน เนื่องจากตนเห็นว่าแม้แต่คน ที่อยู่ในโรงงาน มาทำงาน มาสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทย ยังไม่มีสิทธิรวมตัวเพื่อแสดงพลังเลย ทั้งๆ ที่สิทธิการรวมตัว สิทธิการเจรจาต่อรองเวลาเกิดความไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐไทยห้าม และมีข้อยกเว้นกับแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศ ซึ่งถ้าเรื่องขั้นต่ำอย่างนี้ ยังให้ไม่ได้ เลยขอชี้ว่าไทยสอบตกในเรื่องสิทธิมนุษยชน และจะไปนั่งร่วมเก้าอี้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนระดับโลกได้อย่างไร

พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล

ไทยเปิดแค่ประตูมนุษยธรรมอย่างเดียวไม่พอ

คุณ พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า ในความจริงแล้วไทยเป็นประเทศต้นๆ ที่แสดงความจำนงเข้า เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN แต่กลับเป็นประเทศท้ายๆ ที่ยังเข้าไปเป็นไม่ได้สักที

อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยว่าไทยควรลงสมัครอยู่ เพราะถึงแม้ว่าจะเหมือนการล้างมือในอ่างทองคำก็ตาม แต่ก็ยังคิดว่ามีประโยชน์อยู่ดีในแง่ที่ว่า เป็นการชักชวนให้ภาคประชาสังคม ช่วยกันผลักดัน และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องนี้คงไม่เกิด หากไทยไม่ลงสมัครตั้งแต่แรก ตนจึงมองเป็นสัญญาณเชิงบวก

แต่ถ้าถามว่า ประเทศไทยทำอะไรในประเด็นผู้ลี้ภัยบ้าง ตนขอตอบว่าตอนนี้เรามีความพยายามมากที่จะร่วมมือกับองค์กรหรือกลไกระหว่างประเทศ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาไทยได้สร้างนโยบายหรือกฎหมายคุ้มครองผู้ลี้ภัยมากขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะเมียนมาที่กำลังมีความขัดแย้งอยู่ และการบังคับเกณฑ์ทหารซึ่งทำให้หนุ่มสาวชาวเมียมาจำนวนมาก พยายามหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในประเด็นนี้ประเทศไทยทำแค่ เปิดประตูมนุษยธรรม หรือ Humanitarian Corrido อย่างเดียวยังไม่พอ

คุณพุทธณี  กล่าวเพิ่มเติม ว่าประเทศไทยจะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมอย่างเดียวไม่ได้ แต่สิ่งที่ควรทำคือมีจุดยืนให้ชัดเจนมากกว่านี้ ที่จะผลักดันให้เมียนมากลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตยได้อย่างไร

ทั้งนี้ ประธานกรรมการแอมเนสตี้มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ

  1. ประเทศไทยต้องพิจารณาร่วมกับอาเซียน เสนอให้มีการหยุดค้าขายอาวุธในเมียนมาหรือไม่ เพราะจากรายงานอาวุธทั้งหลายที่ส่งไปส่วนหนึ่งมาจากประเทศอาเซียน อันนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอยู่
  2. รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับตัวแทนทางการเมืองที่ไม่ใช่จากรัฐบาลด้วยกันเท่านั้น เช่น รัฐบาลพลัดถิ่น หรือ กลุ่มอื่นๆ ที่มีพลังทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลควรฟังเสียงพวกเขาด้วย
  3. รัฐบาลไทยควรพิจารณาเข้าเป็น ภาคีในอนุสัญญากรุงโรม เพื่อที่จะเข้าไปมีบทบาทในศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถส่งประเด็นเรื่องอาชญากรรมมนุษยชาติ ให้กับอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ พิจารณาได้

กัณวีร์ สืบแสง ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ

เราจับผู้อพยพทุกคนใส่ตะกร้าเดียวกันไม่ได้

คุณกัณวีร์ สืบแสง ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ แสดงความคิดเห็นว่า การที่เราจัดตั้งคณะกรรมการหรืออนุกรรมการเรื่องการพิจารณา สถานการณ์การโยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกตินั้น ไม่ได้สอดคล้องกับเงื่อนไขการ เข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN

แต่เราอยากเปลี่ยนกรอบความคิดในเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน และหลักการทางด้านมนุษยธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อให้เห็นว่า การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติมีในประเทศไทยมานานแล้ว และเรามองสิ่งนั้นด้วยเลนส์ด้วยมาตลอดว่า เป็นแค่การหลบหนีเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ทั้งๆ มันเป็นการผสมผสานของกลุ่มคนที่เหมือนจะมาเหมือนกัน แต่เหตุผลที่เข้ามาไทยมีความแตกต่างกัน

คุณกัณวีร์กล่าวเพิ่มเติมว่า เราแบ่งกลุ่มออกมาเป็น “ผู้ลี้ภัย” ที่หนีความอันตรายเข้ามาจากประเทศต้นกำเนิด อีกกลุ่มคือ “แรงงานข้ามชาติ” ที่บางกรณีเข้ามาแบบถูกกฎหมาย แต่อยู่แบบผิดกฎหมาย หรืออยู่แบบถูกกฎหมาย แต่ต่อไปในอนาคตอาจผิดกฎหมาย และอีกกลุ่มคือ “บุคคลไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ”  ที่อยู่ในประเทศไทย เช่นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เติบโตในไทย แต่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเราเห็นว่า 3 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ

คุณกัณวีร์กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยโดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติกลับไม่ให้ความสำคัญในประเด็นนี้มากนัก เพราะถึงแม้จะมีกฎหมายหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ผู้อพยพ และผู้ไร้สัญชาติ แต่เรากลับจับทุกคนมาใส่ตะกร้าเดียวกัน และใช้กฎหมาย พ.ร.บ ตรวจคนเข้าเมืองเป็นคัมภีร์ โดยไม่ได้มองเลยว่าพวกเขาโยกย้ายเข้ามาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน และควรได้รับสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับประชาชนที่มีสัญชาติไทย

ซึ่งตอนนี้เรานำปัญหาดังกล่าวมาสู่ คณะอนุกรรมการของเรา และมีการเดินทางลงพื้นที่ คุยกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จนมองเห็นว่ามีกฎหมายหลายตัวที่จะกิโยตีนออกไปได้ โดยการลด และยกเลิกบางมาตราเพื่อให้เกิดประโยชน์และสามารถดูแลผู้ลี้ภัยประเภทต่างๆ ได้ ซึ่งหัวข้อนี้เรากำลังเสนอร่างกฎหมายผู้ลี้ภัยใหม่อยู่

ทั้งนี้ ข้อเสนอของคุณกัณวีร์คือประเทศไทยต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพราะเวลานี้ประเทศไทยมีปัญหากักขังผู้อพยพชาวอุยกูร์ ชาวโรฮิงญา ชาวเมียมา และอื่นๆ ซึ่งถ้าเรายังไม่ทำให้ถูกต้องเหมาะสม แล้วเราจะวิ่งเข้าไปให้เขาเลือกเราได้อย่างไร

 

“อดิศร เกิดมงคล”  ผู้ประสานงาน องค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ Migrant Working Group

ข้อเสนอของนักสิทธิแรงงาน ต่อรัฐบาลไทย

ช่วงท้ายของการเสวนา คุณ “อดิศร เกิดมงคล”  ผู้ประสานงาน องค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ Migrant Working Group อ่านแถลงการณ์ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 รับทราบการลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่ง สหประชาชาติของประเทศไทย (United Nations Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 (พ.ศ. 2568-2670) ซึ่งมีกำหนดเลือกตั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2567 โดยในกระบวนการสมัครนั้นตามข้อมติสหประชาชาติที่ 60/251 ไทยจัดทำเอกสาร คำมั่นโดยสมัครใจที่จะดำเนินการให้เกิดความก้าวหน้าในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ

คำมั่นโดยสมัครใจของไทยจำนวน 10 ข้อ พบว่าเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน อยู่หลายกรณี เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ในการเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน คือ อนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว (International Convention on the Protection of the Rights of All Migrant Workers and Members of Their Families : ICRMW) การพัฒนาแก้ไข กฎหมาย หรือนโยบายให้มีความสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี การปฏิบัติตามข้อแนะนำของ สมาชิกองค์การสหประชาชาติในกระบวนการจัดทำรายงานตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ตามกระบวนการพิเศษ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ และกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review : UPR) การ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการส่งเสริมแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในระยะที่ 2

ทั้งนี้ สถานการณ์ด้านการคุ้มครองแรงงานในประเทศไทย ยังมีความท้าทายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติและครอบครัว อาทิ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของไทยในปัจจุบันยังคงปิดกั้นเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการสมาคม โดยไม่อนุญาตให้แรงงานข้าม ชาติมีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม อันไม่สอดคล้องต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม. (International Convent on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR) ที่ไทยเป็นรัฐภาคี ความพยายามในการ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง ซึ่งมีแนวโน้มว่าแรงงานประมงจะเผชิญกับความเสี่ยงของการเป็นแรงงานบังคับมากขึ้น การให้มีเด็กเข้าสู่กระบวนการทำงานในอุตสาหกรรมที่มีอันตราย เช่นในอุตสาหกรรมประมง การเลือกปฏิบัติด้านการเข้าถึงด้าน สิทธิประโยชน์ทางสังคมของกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านและภาคเกษตร และความไม่ชัดเจนด้านการคุ้มครองผู้แสวงหาที่ลี้ภัย

โดยเฉพาะที่ประเทศเพื่อนบ้านเกิดความไม่สงบทางการเมืองทำให้มีนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ได้รับผลกระทบทางการขัดแย้งต้อง หนีเข้ามายังชายแดนไทยและมีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมืองและการบังคับส่งกลับโดยไม่สมัครใจ อันขัดต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานฯ ที่ไทยเป็นรัฐภาคี ดังนั้นแนวทางการบริหารจัดการและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยในภาวะสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศพม่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นเครื่องชี้วัดความความตั้งใจในการจะปกป้องคุ้มครองและการยึดมั่นต่อหลักสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และความเชื่อมั่นของประชาคมโลกต่อการที่ประเทศไทยจะมีความเหมาะสมเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และภาคีภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการพัฒนามาตรการในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยดังนี้

  1. พิจารณารับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย ได้แก่ การให้การรับรองอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว, อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย, อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกัน และเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนากฎหมายภายในประเทศให้รองรับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย
  2. ดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่มียุทธศาสตร์การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ การมีแผนรองรับผลกระทบสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า
  3. พิจารณาดำเนินการทบทวนกลไกการคัดกรองบุคคลที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ ซึ่งยังพบปัญหาการต้องให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องการได้รับการคุ้มครองจากประเทศไทยต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมืองก่อนซึ่งถือว่าทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำซ้อน รวมถึงการพิจารณาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อบริหารจัดการและกำหนดสถานะให้แก่ผู้ลี้ภัยและแสวงหาผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ
  4. จัดทำกลไกการคัดกรองก่อนการผลักดันส่งกลับผู้อพยพที่อาจจะมีความเสี่ยงต่ออันตรายต่อชีวิตและภัยการประหัตหาร เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการผลักดันส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพไปเผชิญภัยอันตรายต่อตนเอง

ทั้งนี้เพื่อสร้างหลักประกัน และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลกว่าประเทศไทยมีความจริงใจและยืนยันในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่ม และเป็นหลักประกันสำหรับแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และประชาชนไทยว่าจะได้รับการคุ้มครองและดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และเพื่อให้ประเทศไทยได้ยืนอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related