svasdssvasds

แกะรอย "แคดเมียม" จากตาก สมุทรสาคร ถึงชลบุรี โดยมี "ทุนจีน" อยู่เบื้องหลัง

แกะรอย "แคดเมียม" จากตาก สมุทรสาคร ถึงชลบุรี โดยมี "ทุนจีน" อยู่เบื้องหลัง

เปิดเส้นทางลอบขน "แคดเมียม" กว่า 15,000 ตัน จากตากไปสมุทรสาคร ล่าสุดโผล่ที่ชลบุรี พบ "ทุนจีน" อยู่เบื้องหลัง

กำลังเป็นกระแสร้อนในสังคม จากกรณีการพบกากแร่ "แคดเมียม" ในโกดังบริษัทแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร โดยกากแร่แคดเมียมดังกล่าว ถูกนำมาจากจังหวัดตาก 15,000 ตัน ซึ่งแร่ "แคดเมียม" เป็นธาตุอันตราย ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นสารก่อมะเร็ง

ภายหลังจากกรณีที่กรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาแถลงข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ได้ขายกากแร่สังกะสีและกากแคดเมียมที่ฝังกลบในจังหวัดตาก ให้กับบริษัทหนึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร กว่า 15,000 ตัน 

ต่อมานายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบที่บริษัทหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ใน หมู่ที่ 2 ซอยกองพนันพล ถนนเอกชัย ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่นำกากแร่แคดเมียมจากจังหวัดตาก เข้ามากักเก็บไว้ที่โรงงานแห่งนี้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และคณะ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ได้ออกมาในการเข้าไปตรวจสอบ และระบุว่า 

เปิดเส้นทางลอบขน "แคดเมียม" กว่า 15,000 ตัน 

จากการตรวจสอบพบมีกากแร่แคดเมียมที่มาจากทางจังหวัดตากจริงประมาณ 15,000 ตัน โดยทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้ทำการอายัดไว้แล้ว ซึ่งกากแคดเมียมส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในตัวอาคาร มีกองอยู่ภายนอกตัวอาคารบางส่วนประมาณ 100 ถุง ที่ต้องนำเข้าไปเก็บในตัวอาคารให้เรียบร้อย

ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ หลังพบ "กากแคดเมียม" ก่อมะเร็ง 1.5 หมื่นตัน

ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ออกคำสั่งประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ โดยห้ามบุคคลหรือสิ่งอื่นใด เข้าไปภายตัวอาคาร รวมถึงห้ามมีการหล่อหลอมแคดเมียมโดยเด็ดขาด

 

 

 

สั่งให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ออกคำสั่งขนย้ายกากแร่แคดเมียมทั้งหมดออกจากจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อส่งกลับไปยังบริษัทต้นทางที่จังหวัดตาก เพราะกากแร่ตัวนี้ตาม EIA แล้ว ห้ามขนย้ายออกมาจากจังหวัดตาก 

โดยจะให้เวลารีบดำเนินการภายใน 7 วันนับจากนี้ ส่วนกากแคดเมียมตัวนี้ถูกขนย้ายมาอยู่ที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครได้อย่างไรนั้น ก็ต้องไปตรวจสอบที่อุตสาหกรรมจังหวัดตาก ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ขนย้ายออกมา

เร่งนำกากแคดเมียมย้ายกลับไป จ.ตาก ภายใน 7 วัน ฝังกลบภายใน 15 วัน

วันที่ 5 เมษายน 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ประกอบกิจการหลอมหล่ออะลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมเม็ด จากเศษอะลูมิเนียมและตะกรันอะลูมิเนียม (SCRAP AND DROSS) เนื่องจากได้รับรายงานว่าโรงงานดังกล่าวลักลอบเก็บกากแคดเมียมไว้ภายในโรงงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ห้ามนำกากแคดเมียมและกากสังกะสีเข้าสู่กระบวนการผลิต ให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงานเก็บและดำเนินคดีทะเบียนโรงงานตามกฎหมาย โดยกากแคดเมียมและกากสังกะสีที่พบในโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 2,440 ตัน ส่วนที่เหลือได้เร่งให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบข้อเท้จจริง

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

พร้อมสั่งให้นำกากส่วนที่ถูกขนย้ายไปที่จังหวัดสมุทรสาคร กลับไปจังหวัดตากโดยด่วนภายใน 7 วัน และให้ฝังกลบภายใน 15 วัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ตากคุมเข้ม รับกากแร่ "แคดเมียม" ฝั่งกลบหลุมกำเนิดเดิม

วันที่ 6 เมษายน 2567 นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก มอบหมายให้ นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วย อุตสาหกรรมจังหวัดตาก ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปยังบริษัทเบาด์ แอนด์ บียอน จำกัด (มหาชน) เลขที่ 94 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก จ.ตาก ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บกากแร่แคดเมียม ที่มีการขนย้ายไปยังโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในความสนใจของประชาชนในขณะนี้

  • จุดแรก ได้ตรวจสอบที่บริเวณบ่อกักเก็บกากแร่แคดเมียม บ่อที่ 5 (จากทั้งหมด 7 บ่อ) ซึ่งได้มีการเปิดบ่อ ขุดกากแร่ออกไปแล้วทั้งหมด ซึ่งสภาพของพื้นที่บ่อ ยังมีความสมบูรณ์ตามมาตรฐาน
  • จุดที่ 2 เข้าตรวจสอบบ่อที่ 4 ที่ได้เปิดบ่อ ขุดกากแร่ไปแล้วบางส่วนประมาณ 1 ใน 3 โดยที่บ่อนี้ มีการปิดประกาศคำสั่งของอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ลงวันที่ 4 เมษายน 2567 ยึดอายัดกากแร่ไว้ตาม พรบ.โรงงาน พ.ศ.2535 ห้ามเคลื่อนย้ายกากแร่อย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น 

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการ นำผ้ายางพลาสติกมาปิดคลุมบ่อไว้ และให้ขยายเขตกั้นบ่อที่ขุดออกมา เพื่อป้องกันการรั่วไหล และการฟุ้งกระจายของแร่ ในระหว่างรอการเคลื่อนย้ายแร่ กลับมาฝังยังจุดกำเนิดเดิม

เปิดเส้นทางลอบขน "แคดเมียม" กว่า 15,000 ตัน 

รวบชาวจีน เจ้าของโกดังเก็บแคดเมียม 7 พันตันที่ จ.ชลบุรี

หลังจากได้รับเบาะแสว่า พบกากแร่แคดเมียม บรรจุในถุงบิ๊กแบ็ค ที่มีลักษณะบรรจุภัณฑ์และรอยเขียนสีน้ำเงินด้านข้างถุง คล้ายกับที่พบในโรงงาน จ.สมุทรสาคร แต่หายไปจากจำนวนที่แจ้งออกจากต้นทางกว่า 10,000 ตัน

โดยปฏิบัติการครั้งนี้ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พร้อมตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ บก.ปทส. เพื่อตรวจสอบโกดังแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 4 ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ในเบื้องต้น รายงานจาก บก.ปทส. ที่ร่วมตรวจค้นระบุว่า พบกากแคดเมียมกว่า 7,000 ตัน ในโกดัง จ.ชลบุรี มีคำสั่งปิดโกดังเพื่อตรวจสอบ

จากข้อมูลยังพบว่าพื้นที่บริเวณที่ถูกตรวจพบ มีอาคารลักษณะเป็นโกดังไม่ต่ำกว่า 20 อาคาร ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ระบุว่า โกดังของโรงงานบริเวณนี้ มีใบอนุญาต 4 โรงงาน มีเพียง 4 ใบ แต่ยังไม่ได้แจ้งประกอบกิจการ นั้นหมายความว่ายังไม่สามารถประกอบกิจการได้ นอกจากนี้ยังระบุว่าโกดังอื่น ๆ ภายในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาต

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัว "นายหลิวลู่" อายุ 38 ปี เจ้าของโกดังเก็บแคดเมียมกว่า 7,000 ตัน ซึ่งเป็นสารอันตราย ไปดำเนินคดี ที่ สภ.คลองกิ่ว  แต่จากการตรวจสอบพบว่ายังไม่มีการเอาออกมามาหลอมละลาย

จากการสอบปากคำเบื้องต้น นายหลิวลู่ เจ้าของโรงงานแคดเมียมดังกล่าว รับสารภาพว่ารับซื้อมาจากมิสเตอร์จาง เพื่อรอการจำหน่าย 

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหากับนายหลิวลู่ ในข้อหาครอบครองวัตถุสารอันตราย พร้อมทั้งสั่งอายัดโกดังดังกล่าว ห้ามผู้ไม่มีส่วนเข้าออก เพื่อรอการจัดการสารแคดเมียมทั้งหมด

นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า มี 3 บริษัทเป็นเจ้าของ ในจำนวนนี้ มีใบอนุญาต 1 ใบ ระบุเป็นโรงงานลำดับที่ 53 บดอัด หล่อหลอมพลาสติก โรงงานที่ 2 มีใบอนุญาต 1 ใบ ระบุเป็นโรงงานลำดับที่ 53 บดอัด หล่อหลอมพลาสติก และโรงงานที่ 3 มีใบอนุญาต 5 ใบ ระบุเป็นโรงงานลำดับที่ 53 จำนวน 4 ใบ อีกใบเป็นโรงงานลำดับที่ 105 คัดแยกของสียที่ไม่เป็นอันตราย แต่ใบอนุญาต ทั้ง 7 ใบ ยังไม่ได้แจ้งขออนุญาตประกอบการ

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจผิดกฎหมายที่มี "ทุนจีน" อยู่เบื้องหลัง หลังจากที่ทางการจีนปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างหนัก จนทำให้กลุ่มคนจีนที่ทำธุรกิจสีเทาบางกลุ่มกระจายออกมาอยู่นอกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวมถึงประเทศไทยด้วย

“ทุนจีนสีเทา” เป็นคำที่ใช้เรียกนักธุรกิจจีนที่เข้ามาอาศัยและใช้ประเทศไทยเป็นฐานสำคัญในการดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมายหลากหลายรูปแบบ

ธุรกิจที่เข้าข่ายว่ามีทุนจีนสีเทาดำเนินการอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  • เข้ามาแย่งคนไทยดำเนินธุรกิจที่กฎหมายห้ามคนต่างด้าวทำ
  • ทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาต เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายคนจีน

เปิด "ธุรกิจทุนจีนสีเทา" ในประเทศไทย

  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อปล่อยเช่าหรือขายให้คนจีนที่ต้องการมาปักหลักอยู่ในไทย
  • สถาบันสอนภาษา เปิดโรงเรียนสอนภาษาเป็นธุรกิจบังหน้า แต่ลับหลังคืออำนวยความสะดวกออกวีซ่าผิดกฎหมายให้คนจีนที่ต้องการมาทำธุรกิจในไทย
  • โรงงานผลิตสินค้า กว้านซื้อโรงงานผลิตสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มงานฝีมือ แล้วจ้างคนไทยผลิตสินค้า เพื่อติดป้าย made in thailand แล้วส่งออกไปต่างประเทศ
  • ทัวร์ศูนย์เหรียญ ร่วมมือกับนอมินีคนไทย เพื่อนำทัวร์ศูนย์เหรียญ โดยขายทัวร์ไทยราคาถูกให้คนจีน จากนั้นพาคนจีนไปแวะตามสถานที่ท่องเที่ยวหรือซื้อสินค้าต่างๆ ในไทย ที่มีคนจีนเป็นเจ้าของอยู่เบื้องหลัง
  • โรงแรม เข้ามาซื้อหรือเช่าเหมาโรงแรมในไทย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมา โดยอาจจะทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมายในโรงแรมด้วย
  • ร้านอาหาร เปิดร้านอาหารในไทย โดยว่าจ้างคนไทยเป็นนอมินีถือหุ้นให้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีน
  • ล้งรับซื้อผลไม้ส่งออก ทำหน้าที่พ่อค้าคนกลาง รับซื้อผลไม้จากชาวสวนไทย โดยกดราคาถูก ๆ แล้วส่งออกไปต่างประเทศ
  • จนวด สปา ใช้นอมินีในไทยเปิดธุรกิจนวด สปา รองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาไทย
  • รถเช่า ใช้นอมินีในไทยทำธุรกิจรถเช่าให้บริการนักท่องเที่ยวชาวจีน
  • ไนท์คลับ ร่วมมือกับนอมินีในไทย ทำธุรกิจไนท์คลับที่มีการขายยาเสพติดในสถานประกอบการ
  • พนันออนไลน์ เข้ามาแฝงตัวทำธุรกิจพนันออนไลน์ในไทย
  • คอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงทางโทรศัพท์ ทำธุรกิจผิดกฎหมายหลอกลวงผู้คนทางโทรศัพท์
  • ลักพาตัว เรียกค่าไถ่คนจีนด้วยกัน เข้ามาเพื่อลักพาตัวคนจีนที่มาไทย เพื่อเรียกค่าไถ่  

การดำเนินการธุรกิจของคนจีนในประเทศยังคงมีอยู่ทั้งแบบธุรกิจที่อยู่บนดิน และธุรกิจที่อยู่ใต้ดิน และการเข้ามาของกลุ่มคนจีนในประเทศไทยไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้น เพราะหากย้อนไปในอดีต การเข้ามาของกลุ่มคนจีนนั้นมีมานานแล้ว แต่รูปแบบการเข้ามาอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยี และความเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจ แรกเริ่มการทำธุรกิจของกลุ่มจนจีนอาจจะอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน หรือ ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนา แต่ปัจจุบันคนจีนค่อยๆ รุกคืบเข้ามาจนถึงใจกลางกรุงเทพมหานคร  

related