svasdssvasds

เปิดไทม์ไลน์ 16 ปี คดีมหากาพย์ "วอเตอร์ฟร้อนท์" ล่าสุดยกฟ้อง "อิทธิพล" แล้ว

เปิดไทม์ไลน์ 16 ปี คดีมหากาพย์ "วอเตอร์ฟร้อนท์" ล่าสุดยกฟ้อง "อิทธิพล" แล้ว

เปิดไทม์ไลน์โครงการมหากาพย์ 16 ปี "วอเตอร์ฟร้อนท์" เมืองพัทยา ล่าสุดศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 2 ยกฟ้อง "อิทธิพล คุณปลื้ม" ชี้ชัดผิดตาม ม.157 แต่ประเด็นขอใบอนุญาต หมดอายุความ

SHORT CUT

  • เปิดไทม์ไลน์โครงการมหากาพย์ 15 ปี "วอเตอร์ฟร้อนท์" คอนโดมิเนียมสุดหรู ริมอ่าวพัทยา
  • ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายอิทธิพล คุณปลื้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และพวก พิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร
  • ล่าสุดศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 2 ยกฟ้อง "อิทธิพล คุณปลื้ม" ชี้ชัดผิดตาม ม.157 แต่ประเด็นขอใบอนุญาต หมดอายุความ

เปิดไทม์ไลน์โครงการมหากาพย์ 16 ปี "วอเตอร์ฟร้อนท์" เมืองพัทยา ล่าสุดศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 2 ยกฟ้อง "อิทธิพล คุณปลื้ม" ชี้ชัดผิดตาม ม.157 แต่ประเด็นขอใบอนุญาต หมดอายุความ

จากกรณีที่ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดนายอิทธิพล คุณปลื้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และพวก พิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยที่ประชุม ป.ป.ช. เห็นว่านายอิทธิพลมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกเมืองพัทยา นอกจากนี้ยังมีข้าราชการเจ้าหน้าที่เมืองพัทยา ที่อยู่ในกลุ่มพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างพร้อมกับนายอิทธิพล คุณปลื้ม อีก 4 คน ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญาและมูลความผิดวินัยร้ายแรงด้วย 

เปิดไทม์ไลน์ 16 ปี คดีมหากาพย์ "วอเตอร์ฟร้อนท์" 

ย้อนกลับไปถึงโครงการ “วอร์เตอร์ฟร้อนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์” เป็นโครงการก่อสร้าง คอนโดมิเนียมสุดหรู ริมอ่าวพัทยา บริเวณท่าเรือแหลมบาลีฮาย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีขนาดความสูง 53 ชั้น จำนวน 312 ห้อง ราคาห้องละ 4-12 ล้านบาท อยู่บนพื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา โดย บริษัท บาลีฮาย จำกัด ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2551 จากเมืองพัทยา

  • ปี 2551

ซึ่งนายอิทธิพล ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา ได้พิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพราะมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง โครงการได้ยื่นเอกสารสำคัญทั้ง เอกสารกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน แบบแปลนอาคาร และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ขณะนั้น ไม่มีการพิจารณา หรือคำสั่งในเรื่องของที่ดินว่ามีที่มาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นการออกใบอนุญาตตามขั้นตอน

 

  • ปี 2557

นายอิทธิพล คุณปลื้ม ได้สั่งระงับการก่อสร้างอาคาร โดยระบุว่า ไม่ต่อในอนุญาตก่อสร้างในรอบ 3 เนื่องจากพบว่ามีการก่อสร้างผิดแบบตั้งแต่ฐานราก ทั้งช่องลิฟต์ และบันไดหนีไฟ

  • ปี 2559

ปลายปี 2559 โครงการได้แจ้งต่อเมืองพัทยาว่า พร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไข และข้อกำหนดทางกฎหมาย ลดความสูงของอาคารลง 8 ชั้น เพื่อลดผลกระทบของประชาชนที่ต่อต้านหนัก ซึ่งโครงการไปบดบังภูมิทัศน์และตั้งขวางแนวอนุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ 

ต่อมา เมืองพัทยาไม่ออกใบอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้าง และมอบหมายให้นิติกรเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อ บริษัท บาลี ฮาย จำกัด ใน 2 ข้อหา คือ

  1. ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น
  2. 2.บุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณเชิงเขา

จนผู้ซื้อห้องชุดได้รวมตัวเรียกร้องสิทธิ กระทั่งโครงการต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการ หลังแบกภาระหนี้กว่า 2.39 พันล้านบาท ในปี 2561 แต่ศาลไม่รับคำร้อง

  • ปี 2560 

นายอภิชาต วีรปาล รองนายกเมืองพัทยา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ได้ลงนามคำสั่งเมืองพัทยา ให้รื้อถอนอาคารดังกล่าว ให้แล้วเสร็จใน 365 วัน

  • ปี 2563

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ลงนามคำสั่ง ออกประกาศเชิญชวนให้ภาคเอกชน ร่วมเสนอราคาและวิธีการรื้อถอนอาคารอย่างเป็นทางการ ระบุสาเหตุว่า ต้องรื้อเพราะก่อสร้างผิดแบบจากแปลนที่ได้รับอนุญาต หลังคดียืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี

 

 

 

  • ปี 2566

ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 1 เห็นว่า นายอิทธิพล มีความผิด ตาม ม.157 และมีมูลสั่งให้พ้นตำแหน่ง โดยพนักงานอัยการสำนักงานปราบปรามคดีทุจริตภาค 2 ได้นัดตัวส่งฟ้องนายอิทธิพล เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 แต่นายอิทธิพลไม่ได้เดินทางมาตามนัด ป.ป.ช.ในฐานะผู้ร้อง จึงยื่นศาลขอออกหมายจับ และศาลพิจารณาแล้วว่า จำเลยทราบหมายโดยชอบแล้วไม่เดินทางมา มีพฤติการณ์หลบหนีให้ออกหมายจับในวันที่ 5 กันยายน 2566

หลังจากนั้น 1 วัน หลังจากมีการออกหมายจับ บันทึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ได้ตรวจพบว่า นายอิทธิพลเดินทางออกนอกประเทศไปตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม ด้วยสายการบิน กัมพูชา แอร์ไลน์ เที่ยวบิน KR0702 ไปยังกรุงพนมเปญ

วันที่ 22 ก.ย. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า นายอิทธิพลได้ประสานเพื่อขอมอบตัว โดยไม่ทราบว่าจะมอบตัวกับหน่วยใด

ต่อมาวันที่ 9 ต.ค. 2566 หลังประสานเข้ามอบตัว ตำรวจ ตม.ได้จับกุมตัวนายอิทธิพล เป็นที่เรียบร้อย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ นำตัวไปที่สำนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 และส่งตัวไปยังศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 เพื่อส่งฟ้อง

  • ปี 2567

วันที่ 13 พ.ค. 2567 เวลา 13.30 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 อ่านคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 49/2566, อท 52/2566, อท 54/2566, อท 55/2866, อท 61/2566 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์

จำเลย 10 ราย

  1. นายวุฒิศักดิ์ เริ่มกิจการ
  2. นายอภิชาติ พืชพันธ์
  3. นายสุธีร์ ทับหนองฮี
  4. นายชานนทร์ เกิดอยู่
  5. นายชัยวัฒน์ แจ้งสว่าง
  6. นายวิทยา ศิรินทร์วรชัย
  7. นายพิเชษฐ อุทัยวัฒนานนท์
  8. นายญัติพงค์ อินทรัตน์
  9. นายเอกพงษ์ บุญชาย
  10. 10.นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา 

สำนวนคดีทั้งห้าศาลสั่งรวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำ อท 49/2566 โดยโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 6 ถึง 10 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157 และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

จำเลยทั้งสิบให้การปฏิเสธ

ศาลกำหนดประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 3 ประการ 

  • ประเด็นที่ 1 มูลคดีนายกเมืองพัทยาและพวกออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ สวีท แอนด์เรสซิเดนซ์ ให้แก่บริษัทบาลีฮาย จำกัด โดยจำเลยที่ 6 ถึง 10 เป็นเจ้าพนักงานและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

ศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยมีใจความโดยสรุปว่า บริษัทบาลีฮาย จำกัด มีวัตถุประสงค์จะใช้ประโยชน์จากการมีพื้นที่ว่างโดยอ้างว่าเป็นที่ครอบครองเพื่อไม่ให้พื้นที่โครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ สวีท แอนด์เรสซิเดนซ์ ติดทางสาธารณะ 2 ด้าน อันจะทำให้อาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างไม่ถูกจำกัดความสูงในด้านที่ติดกับถนนสาธารณะภายในโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยวและถมทะเลบริเวณพัทยาใต้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และไม่มีสิทธิยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างเพราะด้านที่ติดถนนในโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือดังกล่าว ซึ่งแคบกว่าถนนพัทยาสาย 3 ตัวอาคารมีความยาวเกินกว่ากฎหมายกำหนด คำขออนุญาตก่อสร้างยื่นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 จำเลยที่ 10 มีคำสั่งออกใบอนุญาตเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 จึงเชื่อว่ากระบวนการทำคำสั่งของจำเลยที่ 9 ที่ 8 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 10 ตามลำดับชั้น มีการพิจารณารายละเอียดคำขออย่างครบถ้วน

แต่จำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 กลับไม่แสดงให้เห็นเลยว่า มีการพิจารณารูปทรงอาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างมีความเหมาะสมกับพื้นที่โครงการหรือไม่ อาคารที่สร้างมีขนาดใหญ่พิเศษ มีด้านกว้างในส่วนที่ใกล้กับโครงการก่อสร้างท่าเรือท่องเทียวและถมทะเลบริเวณพัทยาใต้ ขนาดความกว้างประมาณ 90 เมตร มีความสูงประมาณ 180 เมตร จึงเห็นได้โดยชัดว่าจะต้องบดบังเขาพัทยาอย่างแน่นอน แม้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะไม่แสดงข้อมูลนี้อย่างชัดเจน เมืองพัทยามีหน้าที่ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

จำเลยที่ 9 ที่ 8 ที่ 6 ที่ 7 เป็นพนักงานเมืองพัทยา จำเลยที่ 10 เป็นนายกเมืองพัทยา ย่อมต้องทราบสภาพแวดล้อมในพื้นที่เมืองพัทยาและต้องมีแผนงานและเป้าหมายให้การก่อสร้างอาคารสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามอำนาจหน้าที่ เมื่ออาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการบดบังเขาพัทยาที่จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ของเมืองพัทยา จำเลยที่ 9 ที่ 8 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 10 จึงปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นการกระทำร่วมกันโดยมุ่งหมายให้เป็นผลสำเร็จจนถึงวันที่จำเลยที่ 10 มีคำสั่งออกใบอนุญาต

การกระทำของจำเลยทั้งห้ามีเจตนาให้เมืองพัทยาได้รับความเสียหายเพราะการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษตามคำขอย่อมมีผลกระทบต่อภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวของเมืองพัทยาเป็นอย่างมาก และการอนุญาตให้บริษัทบาลีฮาย จำกัด ก่อสร้างอาคารโดยมีพื้นที่ใช้สอยมากเกินกว่าที่จะมีสิทธิยื่นคำขอโดยชอบตามกฎหมายควบคุมอาคารและกฎกระทรวง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามบทบัญญัติความผิดตามมาตรา 157 ในส่วนการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เมืองพัทยา การกระทำของจำเลยที่ 9 ที่ 8 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 10  จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

  • ประเด็นที่ 2 ฟ้องโจทก์ประเด็นข้อ 1 สำหรับจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 ขาดอายุความหรือไม่

ศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยมีใจความโดยสรุปว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ไม่ได้มุ่งหมายให้การดำเนินดีอยู่ภายในกรอบเวลาการฟ้องคดีภายในวันที่ 10 กันยายน 2566 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 เกินระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยการนำบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีได้หรือไม่ตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งห้า เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

จำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 แต่คดีขาดอายุความแล้ว จึงต้องยกฟ้องโจทก์ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

  • ประเด็นที่ 3 มูลคดีที่รักษาการนายกเมืองพัทยาและพวกต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ ให้แก่บริษัทบาลีฮายฯ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

ศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยมีใจความโดยสรุปว่า กรณีที่จำเลยที่ 5 ที่ 4 ที่ 3 และที่ 2 ซึ่งทำความเห็นเพื่อมีคำสั่งต่ออายุใบอนุญาต และจำเลยที่ 1 มีคำสั่งต่ออายุใบอนุญาต จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้เมืองพัทยามีการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารที่ไม่แล้วเสร็จในลักษณะการทบทวนเหตุผลที่จะออกใบอนุญาตฉบับใหม่ แม้บริษัทบาลีฮาย จำกัด จะอ้างเหตุประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะขาดเงินลงทุน แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นเหตุหลีกเลี่ยงกฎหมายที่มุ่งประสงค์จะคุ้มครองความปลอดภัยของการใช้อาคาร การกระทำของจำเลยที่ 5 ที่ 4 ที่ 3 ที่ 2 และที่ 1 จึงมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่เมืองพัทยา

และในส่วนของจำเลยที่ 6 รู้อยู่แล้วว่าการออกใบอนุญาตกระทำโดยไม่ชอบ การเสนอให้ต่ออายุใบอนุญาตจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาให้ใบอนุญาตนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปอันเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่เมืองพัทยามาแต่ต้น การกระทำของจำเลยที่ 5 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 3 ที่ 2 และที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เมืองพัทยา หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้เมืองพัทยาได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งหกนี้จึงเป็นการกระทำความผิดเพื่อให้มีผลเป็นการต่ออายุใบอนุญาตแก่บริษัทบาลีฮาย จำกัด แต่เนื่องจากการออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทบาลีฮาย จำกัด กระทำโดยไม่ชอบ จึงต้องถือว่าไม่มีใบอนุญาตที่จะเป็นเหตุให้พนักงานเมืองพัทยาและนายกเมืองพัทยามีหน้าที่พิจารณาต่ออายุ

ดังนั้น เฉพาะการกระทำของจำเลยที่ 5 ที่ 4 ที่ 3 ที่ 2 และที่ 1  ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างมาแต่ต้น จึงกระทำโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดตามฐานความผิดดังกล่าว แต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะไม่มีใบอนุญาตอันเป็นเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำ (ใบอนุญาตที่ออกให้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย) ซึ่งทำให้จำเลยดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ การกระทำของจำเลยที่ 5 ที่ 4 ที่ 3 ที่ 2 และที่ 1 จึงเป็นการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามสำนวนคดีที่หนึ่งมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานพยายามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐพยายามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ที่เป็นไปไม่ได้โดยแน่แท้ จำเลยที่ 6 ตามสำนวนคดีที่สอง มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามกฎหมายบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุด ให้จำคุกจำเลยที่ 5 ไว้ 1 ปี ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ 50,000 บาท และให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 4 จำนวน 20,000 บาท การกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบททีมีอัตราโทษหนักที่สุด ให้จำคุกจำเลยที่ 6 ไว้ 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ในสำนวนที่สาม ที่สี่ และที่ห้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

related