อดีต ผกก.โจ้ นักโทษคดีคลุมถุงดำทรมานผู้ต้องหายาเสพติดเสียชีวิตคาโรงพัก ปลิดชีพตัวเอง ภายในห้องขัง ตึกนอนแดน 5 เรือนจำกลางคลองเปรม
ย้อนกลับไปคดีดังในอดีต พันตำรวจเอก ถิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือ ผู้กำกับโจ้ ข่มขู่รีดไถเงินจากผู้ต้องหาคดียาเสพติด 2 ล้านบาทโดยการใช้ถุงดำคลุมหัวจนถึงขั้นเสียชีวิต จากนั้นได้มีการเผยแพร่ภาพคลิปวีดีโอจากกล้องวงจรปิด ขณะกลุ่มตำรวจกำลังใช้ถุงพลาสติกครอบหัว และใช้กำลังบังคับข่มขู่ให้บอกข้อมูลบางอย่างจนผู้ต้องหาเสียชีวิต เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลเป็นวงกว้าง
ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.เลียบทางรถไฟ แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กทม. อ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ พร้อมพวกรวม 7 คน ฐานร่วมกันกระทำให้นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหายาเสพติด ด้วยการซ้อมและใช้ถุงดำคลุมศีรษะ จนขาดอากาศหายใจ
โดยศาลอ่านคำพิพากษา ตัดสินประหารชีวิต อดีตผู้กำกับโจ้ ใช้ถุงดำคลุมศรีษะผู้ต้องหายาเสพติดจนเสียชีวิต เเต่มีเหตุบรรเทาโทษ เนื่องจากเยียวยาผู้เสียหาย จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 2 3 4 5 7 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 6 ลงโทษ 5 ปี 4 เดือน
ล่าสุดวันที่ 8 มีนาคม สน.ประชาชื่น รายงานเหตุ ผู้ต้องขังฆ่าตัวตายภายในเรือนจำ โดยวันเวลารับแจ้งเหตุ วันที่ 7 มีนาคม 68 สถานที่เกิดเหตุ ห้องขังหมายเลข 50 ตึกนอนแดน 5 เรือนจำกลางคลองเปรม แขวง ลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ผู้เสียชีวิต พ.ต.อ.ธิติสรรค์ หรือ โจ้ อุทธนผล อายุ 43 ปี
โดยศูนย์วิทยุ สน.ประชาชื่น ได้รับแจ้งจากเรือนจำคลองเปรม ว่ามีผู้ต้องขังฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอ ภายในห้องขังหมายเลข 50 ตึกนอนแดน 5 เรือนจำกลางคลองเปรม จึงแจ้งมายัง สน.ประชาชื่น เพื่อดำเนินการชันสูตร
ด้วยกรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากเรือนจำกลางคลองเปรมว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 20.50 น. เจ้าพนักงานเรือนจำปฏิบัติหน้าที่เวรพยาบาลได้แจ้งเหตุผู้ต้องขังเสียชีวิต 1 ราย ทราบชื่อ ข.ช.ธิติสรรค์หรือโจ้ อุทธนผล คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อชีวิต ความผิด ต่อเสรีภาพ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต นับตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ตามหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ต้องจำมาแล้วในเรือนจำ 3 ปี 6 เดือน 13 วัน โดยรับตัวผู้ต้องขังเข้าคุมขังเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ปัจจุบันถูกคุมขังที่ห้องแยกการควบคุม แดน 5
เรือนจำฯ ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาพบว่า ข.ช.ธิติสรรค์ฯ มีโรคประจำตัว คือ ภาวะหัวใจสั่น (Essential tremor) มีไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) และมีอาการป่วยด้วยโรคทางจิตเวชวิตกกังวล (Anxiety disorder) ซึ่งได้รับการรักษาและรับยาต่อเนื่อง โดยพบจิตแพทย์ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และมีนัดพบจิตแพทย์ในเดือนเมษายน 2568 ขณะควบคุมในเรือนจำฯ ผู้ต้องขังมีพฤติกรรมหวาดระแวงกลัวผู้ต้องขังอื่นทำร้าย เนื่องจาก เป็นอดีตข้าราชการตำรวจ เรือนจำฯ จึงได้รับคำร้องของผู้ต้องขังและพิจารณาอนุญาตให้แยกการควบคุมจากผู้ต้องขังอื่น และยังเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในเรือนจำได้เป็นปกติ
จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ช่วงเที่ยงผู้ต้องขังได้รับการเยี่ยมเยียนจากภรรยา ซึ่งเจ้าพนักงานเรือนจำไม่พบเหตุผิดปกติแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อเวลา 20.25 น. เจ้าพนักงานเวรรักษาการณ์ ขณะกำลังเดินไปจ่ายยาประจำตัวให้กับ ข.ช.ธิติสรรค์ฯ พบว่า ผู้ต้องขังนั่งหลังพิงกับประตูห้องขัง จึงได้พยายามเรียกแต่ไม่มีเสียงตอบรับ จึงได้แจ้งพัศดีเวรฯ และพยาบาลเวรฯ เข้าเปิดห้องขังเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนตามหลักวิชาชีพ แต่พบว่า ผู้ต้องขังใช้ผ้าขนหนูขนาดเล็กผูกคอกับประตูห้องขัง ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก ไม่รู้สึกตัว ปลายนิ้วมือซีดเขียวคล้ำ ไม่พบชีพจรบริเวณหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ จึงได้แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับ ในเบื้องต้น เรือนจำฯ ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณหน้าทางเดินของห้องขังผู้ต้องขังดังกล่าว ซึ่งไม่พบว่ามีผู้ใดเข้าออกห้องดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมทั้งแจ้งพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ แพทย์ เจ้าพนักงานปกครอง เพื่อดำเนินการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต พร้อมทั้งจะได้เชิญญาติเพื่อรับทราบต่อไป
กรมราชทัณฑ์ อยู่ระหว่างรอผลการชันสูตรถึงสาเหตุการเสียชีวิต และขอยืนยันว่าไม่มีเจ้าพนักงานเรือนจำหรือผู้ต้องขังรายใดทำร้าย ข.ช.ธิติสรรค์ฯ และขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้ต้องขัง
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เป็นที่ปรากฏโดยทันที และขอเรียนว่า เรือนจำฯ ได้ยึดถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดอย่างเคร่งครัดโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ต้องขัง และดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง (SOPs) และการปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา) เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ต้องขังทุกคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง