สำรวจข้อมูลจากสื่อส่วนกลางไทย 20 แห่ง ว่านำ AI มาใช้งานในห้องข่าวอย่างไรกันบ้าง ที่น่าสนใจคือ 'ทุกแห่ง' ยอมรับว่า นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในห้องข่าวแล้ว
พูดกันมานานว่า การเติบโตขึ้นของ AI จะส่งผลกระทบต่อวงการสื่อไทยอย่างรุนแรง จนอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกจากหน้าเป็นหลังมือ
แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงการ “คาดการณ์” “ประเมิน” หรือพูดคุยกันในวงเสวนาหรือวงสนทนาเท่านั้น ยังเห็นการ “เก็บข้อมูล” ในเรื่องนี้อย่างจริงจังไม่มากนัก
SPRiNG จึงร่วมกับทีมงาน Media Alert ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำรวจการใช้งาน AI ในห้องข่าวของสื่อส่วนกลาง 20 สำนัก ทั้งสำนักข่าวออนไลน์ สถานีโทรทัศน์/ออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์/ออนไลน์ ทั้งจากบุคคลในตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) บรรณาธิการข่าว (บก.ข่าว) ไปจนถึงหัวหน้าฝ่ายผลิต หรืออาร์ตไดเรกเตอร์ ในช่วงปลายเดือน เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สื่อไทยกลุ่มตัวอย่าง ‘ทั้ง 100%’ ต่างระบุว่า มีการนำ AI มาใช้งานในห้องข่าวแล้ว ทั้งในด้านคอนเทนต์และโปรดักชั่นแล้ว
คำถามต่อไปคือ แล้วองค์กรสื่อไทยทั้ง 20 แห่งนี้ ใช้ AI อะไรและอย่างไรกันบ้าง ไปจนถึงว่า พวกเขามีทัศนะอย่างไรต่อการเข้ามาของ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ในห้องข่าว
อะไรคือสิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุด ยังเป็นเรื่องการเข้ามาแย่งงานหรือไม่
หรือมีประเด็นอื่นที่น่าเป็นห่วงมากกว่า
สื่อไทยใช้ AI ทำอะไรกันบ้าง
กลุ่มตัวอย่างจากสื่อส่วนกลางไทยที่ตอบแบบสำรวจ ต่างยอมรับว่าใช้ AI เข้ามาช่วยงานในห้องข่าว ทั้งในด้านคอนเทนต์และด้านโปรดักชั่น โดยครึ่งหนึ่งระบุว่า ใช้งาน ‘ถี่มาก’ ในทุกวัน, 30% ระบุว่า ใช้งาน ‘สม่ำเสมอ’ คือ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ และ 20% ใช้งาน ‘ปานกลาง’ คือ 1-2 ครั้ง/สัปดาห์
เมื่อถามถึง AI ที่สื่อไทยใช้บ่อย (สามารถเลือกได้หลายข้อ) ผลปรากฏว่า ChatGPT ถูกใช้งานมากที่สุดเป็นสัดส่วน (100%) ตามมาด้วย Gemini (75%), Claude AI (45%), Midjourney (25%), DeepSeek และ Copilot (15% เท่ากัน) ที่เหลือได้แก่ DALL-E, Grok, Notebook LM, Runway เป็นต้น
ถามว่า สื่อต่าง ๆ ใช้งาน AI สำหรับการทำคอนเทนต์อย่างไรบ้าง
โดยผู้ที่ตอบแบบสำรวจว่า ใช้ AI ในการเขียนข่าว/บทความ ขยายความว่า เป็นการให้เรียบเรียงข้อมูลที่นักข่าวหามาแล้ว แล้วจะมีคนมาตรวจสอบอีกครั้ง, ช่วยในการพิสูจน์อักษร ตรวจแก้คำพูดและความถูกต้องของไวยากรณ์ เป็นต้น
ยังไม่มีสื่อไหนที่ระบุว่า ใช้ AI ช่วยเขียนข่าวหรือบทความตั้งแต่ต้นจนจบทั้งหมด โดยที่ไม่มีมนุษย์เข้าไปอยู่ในกระบวนการ
ถามว่า แล้วสื่อต่าง ๆ ใช้งาน AI สำหรับงานด้านโปรดักชั่นอย่างไรบ้าง
ที่น่าสนใจก็คือ ‘หนึ่งในห้า’ ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ยังไม่ใช้งาน AI ในเชิงโปรดักชั่น เพราะอยากรอให้พัฒนามากกว่านี้ก่อน
ขณะที่ 25% ของสื่อส่วนกลางที่ร่วมทำแบบสอบถามเริ่มใช้ ‘ผู้ประกาศข่าว AI’ แต่ก็มีบางสื่อบอกว่ายังไม่ใช้ผู้ประกาศข่าว AI เพราะจากที่ศึกษาข้อมูล เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่ดีพอ ยังขาดความเป็นธรรมชาติ
“ไม่ใช่เทคโนโลยีแห่งอนาคต..แต่เป็นเครื่องมือของปัจจุบัน”
เมื่อขอให้ช่วยให้คะแนนว่า “คิดว่าในอนาคต AI จะพัฒนาจนเป็นประโยชน์ต่อวงการสื่อไทยมากน้อยแค่ไหน”
กลุ่มตัวอย่างจากตัวแทนสื่อส่วนกลางไทยให้คะแนนสูงถึง 4.7 คะแนน จากเต็ม 5 คะแนน โดยให้เหตุผลคล้าย ๆ กัน คือ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน, ลดเวลา ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย, สามารถทำงานพื้นฐานได้เกือบทั้งหมด เพื่อให้นักข่าวมีเวลาไปทำงานเชิงลึกได้มากขึ้น ฯลฯ
นี่คือความเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจนี้บางส่วน
“AI ไม่ใช่เทคโนโลยีแห่งอนาคต แต่เป็นเครื่องมือแห่งปัจจุบัน ที่เปลี่ยนข้อจำกัดให้กลายเป็นโอกาสใหม่สำหรับวงการสื่อ คำถามสำคัญไม่ใช่ 'AI จะมาแทนที่เราหรือไม่?' แต่เป็น 'เราจะใช้ AI เป็นเครื่องมือเพื่อก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างไร”
“สื่อยังควรเป็นสารตั้งต้น และ Gatekeeper ก่อนเผยแพร่เนื้อหาสู่สาธารณชน การใช้ AI คือกระบวนการรวบรวมข้อมูล ย่อยความ สรุปความ ซึ่งท้ายสุด สื่อควรต้องขัดเกลา และตรวจทาน ก่อนเผยแพร่ออกไป”
“AI เป็นผู้ช่วยในการทำงานเบื้องต้น เพื่อประหยัดเวลาการทำงานและทรัพยากรบุคคล โดยสามารถช่วยในการคิด สร้างสรรค์ และลดต้นทุนการผลิต ลดเวลาในการทำงานและไอเดียใหม่ ๆ”
“ช่วยในการทำข่าวได้ดีมาก โดยเฉพาะการจับประเด็นของแหล่งข่าว หลายครั้งที่นักข่าวอาจจะฟังแหล่งข่าวพูดไม่ทัน ต้องกลับไปถอดเทป แต่เครื่องมือ AI ยุคใหม่สามารถช่วยปิดปัญหาเหล่านี้ได้ดี ยังช่วยในการคิดและแตกประเด็น รวมไปถึงการหาข้อมูลที่ประหยัดเวลาการทำงานในรูปแบบเดิม ๆ ได้มาก”
“ปัจจุบันแต่ละองค์กรสื่อมีข้อจำกัดเรื่องคน คนน้อย งานเยอะ จึงจำเป็นต้องใช้ AI เข้ามาเป็นผู้ช่วยในการทำงาน”
ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่มอง AI ใน ‘แง่บวก’ ในฐานะเครื่องมือหรือผู้ช่วยทำงานด้านต่าง ๆ โดยยังเห็นว่า ในกระบวนการทำงานก็ยังต้องมีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ดี
แต่จากประสบการณ์ที่สื่อต่าง ๆ ใช้งาน AI ใช่จะมีแต่ด้านดีเสมอไป
‘ความถูกต้อง-ลิขสิทธิ์-แย่งงาน’ ข้อกังวล AI ในห้องข่าว
เพื่อให้เกิดความรอบด้าน เราสอบถามตัวแทนสื่อส่วนกลางทั้ง 20 สำนักเช่นกันว่า แล้วคิดว่า “ในอนาคต AI จะสร้างปัญหาต่อวงการสื่อไทย มากน้อยเพียงใด”
จากเต็ม 5 คะแนน กลุ่มตัวอย่างมีมุมมองที่หลากหลาย ตั้งแต่ 2 - 5 คะแนน โดยให้คะแนนว่า AI อาจจะสร้างปัญหาในอนาคตอยู่ที่เฉลี่ย 3.8 คะแนน
เมื่อขอให้ลงรายละเอียดว่า ปัญหาใดที่หลาย ๆ คนเป็นห่วง
ที่น่าสนใจก็คือ ‘ไม่มีแม้แต่คนเดียว’ ที่คิดว่า การเข้ามามีบทบาทของ AI ในห้องข่าว จะไม่สร้างปัญหาใด ๆ – กล่าวคือทุกคนคิดว่าจะมีปัญหาอะไรในบางด้านตามมาในอนาคตแน่นอน เพียงแค่เรื่องใดเท่านั้น
ทั้งนี้ มีการระบุความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่เกิดจาก AI อาจไม่ได้มีแค่ในวงการสื่อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสังคมทั่วไป เช่น การหลอกลวงเอาทรัพย์สิน (สแกมเมอร์) หรือการสวมรอยเพื่อกลั่นแกล้งกัน เป็นต้น
ทั้งหมด คือข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความเห็นและประสบการณ์จากตัวแทนสื่อส่วนกลางไทยจาก 20 สำนัก ในเดือน เม.ย. 2568 ที่ต่างยอมรับว่า AI ได้เข้ามามีบทบาทในห้องข่าวทุกสำนักแล้ว (อย่างน้อยก็จากกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ)
แม้ความถี่ - วิธีการ - วัตถุประสงค์ในการใช้งาน AI ของแต่ละสื่ออาจมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป
แต่ก็น่าจับตาว่า หลังจากนี้ บทบาทของปัญญาประดิษฐ์นี้จะมีมากขึ้นหรือไม่ และส่งผลกระทบต่อคนในแวดวงสื่อ ไปจนถึงผู้รับสารอย่างไรกันบ้าง