ฉากชีวิต “Anthony Tan” ชายชาวมาเลเซีย ผู้เติบโตมากับแท็กซี่ สู่ผู้ก่อตั้ง Grab จากไอเดียที่เคยถูกมองว่า “ใช้งานจริงไม่ได้" สู่ยูนิคอร์นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
Anthony Tan เป็นชาวมาเลเซีย อายุ 43 ปี เขาคือผู้ร่วมก่อตั้ง Grab ซูเปอร์แอปเดลิเวอรี่ครอบจักวาล ที่คนไทยนิยมใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เขาคือผู้ปลุกปั้นให้บริษัท Grab Holding จนเติบโตเป็นยูนิคอร์นตัวแรกในเอเชีย ติดท็อป 50 บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในสิงคโปร์ SPRiNG ผายมือทำความรู้จักชายคนนี้ไปพร้อม ๆ กัน
แอนโธนี่ เห็นแท็กซี่มาตั้งแต่เกิด คุณปู่มีอาชีพเป็นคนขับแท็กซี่ เก็บหอมรอมริดจนสามารถตั้งบริษัท TCMH Group ผู้ถือครองการผลิต ประกอบและจัดจำหน่ายรถยนต์ Nissan รายใหญ่ในมาเลเซีย ดังนั้น แอนโธนี่กับแท็กซี่ ซี้กันมาแต่ไหนแต่ไร
ในปี 2004 แอนโธนี่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขา เศรษฐศาสตร์ จากมหาวทิยาลัย Chicago ระหว่างนี้ แอนโธนี่ได้เข้าไปเรียนรู้งานในธุรกิจครอบครัวในหลาย ๆ แผนก กระทั่ง ในปี 2009 เขาเดินทางไปสหรัฐฯ อีกครั้ง เพื่อเรียน MBA ที่ Harvard Business School
เมื่อรู้ว่าเป็นคนมาเลเซีย เพื่อน ๆ ในคลาส MBA จึงปรี่เข้ามาถามแอนโธนี่ว่า “ทำไมแท็กซี่บ้านเอ็งมันหายากหาเย็นนัก” ทั้งยังเจอปัญหาโก่งราคา คนขับพูดจาไม่ดี หรือเพื่อนสนิทอย่าง Hooi Ling Tan ที่ต้องแกล้งคุยกับแม่ระหว่างกลับแท็กซี่
Pain point เหล่านี้ทำให้ แอนโธนี่คันมืออยากจะแก้ปัญหารถแท็กซี่ในบ้านเกิด ประกอบกันเป็นช่วงที่โลกออนไลน์ อินเตอร์เน็ตบูมพอดี ในปี 2011 เขาและฮุยหลิงเกิดไอเดียที่จะสร้าง “ตัวกลาง” ระหว่างแท็กซี่กับผู้โดยสาร
ไอเดียฟังดูดี แต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมองว่าใช้งานไม่ได้จริง จนแอนโธนี่และเพื่อนสนิทนำไอเดียนี้เข้าร่วมการแข่งขัน Harvard Business School New Venture Competition ประจำปี 2011 จนสามารถชนะและได้เงินรางวัลมาประมาณ 820,000 บาท
หลังจากเรียนจบ MBA แอนโธนี่กลับมาที่บ้านเกิด และเริ่มโปรเจกต์แอปให้บริการรถแท็กซี่ทันที ชื่อ MyTeksi จะเรียกว่า “แป๊ก” ก็ได้ เพราะไม่มีใครเอาด้วย บริษัทให้บริการแท็กซี่ก็ไม่เชื่อมือ แถมการเรียกแท็กซี่บนมือถือก็ถือเป็นเรื่องใหม่มาก
ถ้าเป็นคุณจะเลือกอะไร ระหว่างสานต่อกิจการครอบครัว (ที่น่าจะสบายดีอยู่แล้ว) กับลุยกับลูกรักอย่าง MyTeksi ให้เต็มที่ แน่นอนว่าแอนโธนี่ได้เลือดปู่มาเต็ม ๆ คือความไม่ยอมแพ้ เขาเลือกตัดขาดจากครอบครัวลุยปั้นธุรกิจ MyTeksi
ช่วงนี้เอง Hooi Ling Tan ต้องอยู่ใช้ทุนที่บริษัท McKinsey & Company ช่วงแรกแอนโธนี่จึงหมดเวลาไปกับการเข้าไปพูดคุยกับเหล่าบริษัทที่ให้บริการแท็กซี่ เพื่อโน้มน้าวให้เห็นถึงข้อดีของแอป MyTeksi
จากยอดดาวน์โหลดเพียง 10,000 แอป MyTeksi มียอดดาวน์โหลด 400,000 ครั้งในมาเลเซีย จากนั้น แอนโธนี่มองไปยังตลาดในสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทย ไม่รู้โหงเฮ้งหรืออย่างไร แอนโธนี่ตักสิดใจเปลี่ยนชื่อจาก MyTeksi เป็นคำว่า GrabTaxi
ในกลางปี 2013 GrabTaxi มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกว่า 1.2 ล้านดาวน์โหลด โดยเฉลี่ยแล้ว ทุก ๆ 8 วินาทีจะมีคนกดเรียกรถ 1 ครั้ง หรือคิดเป็น 10,800 ครั้งต่อวัน และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ในปี 2014 Grab ให้บริการในไทยครั้งแรก และติดอกติดใจคนไทยมาจนทุกวันนี้
ปัจจุบันบริษัท Grab Holding มีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 2,797 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีคนขับมากกว่า 140 ล้านคนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีหลายบริการให้เลือกสรร เช่น GrabFood GrabCar GrabTaxi JustGrab GrabMart GrabBike เป็นต้น
Anthony Tan พูดเรื่องนี้เสมอว่า Grab เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาด้านระบบขนส่งสาธารณะและให้อิสระการเดินทางแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน กล่าวคือ Grab นอกจากช่วยตอบสนองด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมอบอำนาจในการกำหนดเวลาได้และความสะดวกสบาย
ยกตัวอย่างเช่น มีเวลาบอกว่าคนขับใกล้ถึงหรือยัง มีเวลาคาดการณ์จากสถานที่ A ไป B คำนวณระยะเวลาตามสถานการณ์จริง กรณีจราจรติดขัด มีความปลอดภัย สามารถชำระค่าบริการได้บนมือถือ เป็นต้น
อีกหนึ่งเรื่องที่ แอนโธนี่เน้นย้ำเสมอคือ การโอบรับกลุ่มคนเปราะบางในสังคม Grab เริ่มต้นจากการเป็นแอปเรียกรถบนมือถือ ที่ช่วยให้คนขับมีรายได้เลี้ยงชีพ เท่านั้นยังไม่พอ Grab เล็งเห็นถึงผู้ประกอบการรายเล็กอีกนับล้านชีวิต Grab จึงเสมือนเป็น “ตัวกลาง” ที่เชื่อมโยงทุกอย่างไว้ด้วยกัน
Anthony Tan หลานคนจับแท็กซี่ สู่ผู้ก่อตั้ง Grab บริษัทเรียกรถมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ครองใจชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่มา: พฤติกรรมและความพึงพอใจของผู้โดยสารต่อการใช้แอปพลิเคชันแท็กซี่, Forbes, Grab
ข่าวที่เกี่ยวข้อง