"พิชัย" เผยความคืบหน้าเจรจาภาษีสหรัฐ ไทยยื่นแล้วข้อเสนอ 5 ข้อให้ USTR ล่าสุด รมว.คลังสหรัฐฯส่งสัญญาณตอบรับเชิงบวก มั่นใจเป็น Win-Win Solution
วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงเกี่ยวกับความคืบหน้าการเจรจานโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ นายพิชัย ได้ระบุว่าได้ส่งข้อเสนอ (proposal) ในการเจรจากับสหรัฐฯของไทยถึงนาย นายสกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ และเจมสัน กรีเออร์ ประธานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) โดยหวังว่าจะได้รับการตอบในการนัดเจรจาใน 2 สัปดาห์นี้
นายพิชัย เปิดเผยว่า รมว.คลังสหรัฐ ได้แสดงท่าทีเป็นบวกต่อข้อเสนอของรัฐบาลไทย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีจากระดับนโยบายจากสหรัฐฯ
"ข้อเสนอของเราเป็นข้อเสนอที่เราจะปรับปรุงตัวเอง เป็น win-win โซลูชั่น 2 ฝั่งได้ประโยชน์ หวังว่าจะจัดคิวในเร็ววัน เพราะผ่านมา 1-2 เดือนแล้ว"
1. เสริมความร่วมมือธุรกิจอาหารแปรรูปไทยและสหรัฐ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ด้วยการใช้จุดแข็ง 2 ประเทศร่วมกัน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพื่อเป็นวัตถุดิบแปรรูปและส่งออกไปตลาดโลก และหารือร่วมภาคเกษตรของสหรัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมืองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
2. เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยไทยมีแผนเพิ่มการนำเข้าสินค้าจำเป็น อาทิ พลังงาน (น้ำมันดิบ, LNG, อีเทน), เครื่องบินและชิ้นส่วน, อาวุธยุทโธปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เกษตรอย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง และเนื้อวัว เพื่อกระชับความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ และตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจในประเทศ
3. เปิดตลาดและลดอุปสรรคทางการค้า การลดภาษีนำเข้าภายใต้ระบบ MFN จำนวน 11,000 รายการ ลง 14% รวมถึงการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของความร่วมมือ อีกทั้งลดโควตาและข้อจำกัดพร้อมเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐ เช่น เชอรี่ แอปเปิ้ล ข้าวสาลี ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์
4. บังคับใช้กฎหมายถิ่นกำเนิดสินค้าเคร่งครัดผ่านการบังคับใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้า "Made in Thailand" โดยสินค้าจากประเทศที่ 3 ส่งออกผ่านไทยไปสหรัฐ ซึ่งจะเพิ่มการเฝ้าระวังเพื่อรักษาภาพลักษณ์สินค้าไทยในตลาดสหรัฐ
5. ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐ ภาครัฐสนับสนุนการขยายการลงทุนของเอกชนไทยในสหรัฐ ภายใน 4 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน เช่น โครงการลงทุน LNG ในรัฐอลาสก้า และการลงทุนฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ ปัจจุบันเอกชนไทยลงทุนในสหรัฐ 70 แห่ง ใน 20 มลรัฐ สร้างงานมากกว่า 16,000 ตำแหน่ง มูลค่าการลงทุน 16,000 ล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านี้ วันอังคาร 13 พ.ค. นายสกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ขึ้นเวทีเสวนา Saudi Investment Forum ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ตอบคำถามพิธีกรถึงแนวโน้มการทำข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากที่ทำกับสหราชอาณาจักร
ขุนคลังสหรัฐระบุว่า ตนเน้นการทำข้อตกลงในเอเชียใหญ่สุดก็คือจีน การหารือกับญี่ปุ่นได้ผลมาก ส่วนเกาหลีใต้กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงผู้นำ อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ได้ติดต่อสหรัฐมาก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งพร้อมด้วยข้อเสนอที่ดีมาก อินโดนีเซีย คู่ค้ารายใหญ่ก็ติดต่อกันอย่างดี ไต้หวันยื่นข้อเสนอที่ดีมาก “และประเทศไทยก็เช่นกัน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง