svasdssvasds

รู้จัก Samurai Gakuen โรงเรียนที่สอน “ฮิคิโคโมริ” กลับคืนสู่สังคม

รู้จัก Samurai Gakuen โรงเรียนที่สอน “ฮิคิโคโมริ”  กลับคืนสู่สังคม

รู้จัก Samurai Gakuen โรงเรียนเล็ก ๆ ในนากาโนะที่ช่วยให้เหล่าฮิคิโคโมริลุกขึ้นใหม่ สร้างฝัน และกลับคืนสู่สังคม"

SHORT CUT

  •  หลักสูตรของ Samugaku ไม่ได้มุ่งเน้นการเรียนการสอนแบบวิชาการ แต่เน้นทักษะชีวิตที่จำเป็น เช่น การดูแลตัวเอง การทำอาหาร การจัดการอารมณ์ และการเข้าสังคม เป้าหมายหลักคือการเยียวยาบาดแผลทางใจและนำพาผู้เรียนกลับสู่สังคม
  • โรงเรียนมีโปรแกรม 7 ขั้นตอน ครอบคลุมทักษะชีวิตพื้นฐาน จิตวิทยา ปรัชญา และกิจกรรมสร้างความมั่นใจ เพื่อช่วยให้ฮิกิโคโมริค้นพบตัวเองอีกครั้ง
  • ความสำเร็จของผู้ที่เคยเป็นฮิกิโคโมริและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เช่น คุณยูสึเกะ โมริชิมะ ที่กลายเป็นรองประธานบริษัทที่ปรึกษา และคุณโมโมกะ ไทระ วัย 14 ปี ที่พบความหวังใหม่ โรงเรียนแห่งนี้ดำเนินงานในรูปแบบองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยอาศัยเงินบริจาคและการสนับสนุนจากชุมชน

รู้จัก Samurai Gakuen โรงเรียนเล็ก ๆ ในนากาโนะที่ช่วยให้เหล่าฮิคิโคโมริลุกขึ้นใหม่ สร้างฝัน และกลับคืนสู่สังคม"

ในญี่ปุ่น คำว่า “ฮิคิโคโมริ” ใช้อธิบายคนที่ถอนตัวจากสังคมอย่างรุนแรง พวกเขามักไม่ไปเรียน ไม่ทำงาน ไม่ออกจากบ้าน หรือแม้แต่ไม่พูดคุยกับใครเลย เป็นเวลานานเกินครึ่งปีขึ้นไป บางคนหายหน้าไปจากโลกภายนอกนานนับสิบปี

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีประชากรที่เข้าข่ายฮิคิโคโมริมากถึงราว 1.5 ล้านคน และแนวโน้มนี้ยังปรากฏในหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่เกาหลีใต้ จีน ไปจนถึงสหรัฐฯ และฝรั่งเศส

พวกเขาไม่ได้ "ขี้เกียจ" หรือ "ไม่เอาอะไรเลย" อย่างที่สังคมมักเข้าใจผิด แต่หลายคนมีบาดแผลในใจ — ไม่ว่าจะจากการถูกรังแกในโรงเรียน ความล้มเหลวในการเรียนหรือทำงาน ความรู้สึกโดดเดี่ยว หรือแม้แต่การสูญเสียคนรัก  บาดแผลที่ฝังลึกจนเลือกจะปิดตัวเอง ไม่เอาตัวไปเผชิญกับโลกภายนอกอีก 

ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนากาโนะจึงถือกำเนิดขึ้นมา

ชื่อของโรงเรียนคือ Samurai Gakuen หรือ Samugaku โรงเรียนทางเลือกที่ไม่เหมือนใคร เพราะที่นี่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อผลิตเกรดหรือใบปริญญา แต่เพื่อเยียวยา สร้างทักษะชีวิต และพาผู้คนที่เคยหลงทางกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง

หลักสูตรของที่นี่ไม่ได้เน้นแค่การเรียนหนังสือ แต่สอนให้ "อยู่เป็น" Samugaku เชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และเติบโตได้ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร นักเรียนของที่นี่มีตั้งแต่วัยรุ่นอายุ 14 ปี ไปจนถึงผู้ใหญ่ในวัย 40+

พวกเขาเรียนรู้สิ่งที่โรงเรียนทั่วไปไม่เคยสอน  เช่น การตื่นเช้า การกินข้าวให้ครบสามมื้อ การจัดการอารมณ์ตัวเอง การพูดคุยกับผู้อื่นโดยไม่กลัว การค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ และการเริ่มฝันถึงอนาคตอีกครั้ง

โรงเรียนที่สอนการใช้ชีวิตจริงๆ 

โรงเรียนมีหลักสูตร 7 ขั้น ตั้งแต่ทักษะชีวิตพื้นฐาน เช่น การดูแลร่างกาย ทำอาหาร หาที่อยู่ จัดบ้าน ไปจนถึงการเข้าใจจิตใจของตัวเองและผู้อื่น ผ่านวิชาจิตวิทยา ปรัชญา สังคมศึกษา และกิจกรรมพัฒนาความมั่นใจ เช่น เดินไกล 15 กิโลเมตร หรือทำงานร่วมกันในฟาร์ม

โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งโดย ฮิเดทากะ นางะโอกะ (Hidetaka Nagaoka) ผู้ริเริ่มความฝันนี้ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยในวัย 20 ปี นางะโอกะตั้งใจสร้าง Samugaku เพื่อทำหน้าที่เป็น "โรงเรียนเพื่อทุกคนที่ต้องการค้นพบตัวเองอีกครั้ง"  ไม่ได้มุ่งสร้างนักเรียนที่สอบได้เกรดดี แต่เน้นที่การเติบโตจากภายในผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน (co-education) ระหว่างผู้สอนและนักเรียน

ทุกคนเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ 

ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคือ ยูสุเกะ โมริชิมะ (Yusuke Morishima) ที่เคยเป็น ที่เป็นฮิคิโคโมริ  มานานถึง 5 ปี เขาบอกว่าการอยู่ในกลุ่มคนทำให้เขารู้สึกเหนื่อยล้าและวิตกกังวลอย่างมาก จนสุดท้ายก็เลิกไปโรงเรียน และค่อย ๆ ปิดตัวเองจากโลกภายนอกโดยสมบูรณ์

จุดเปลี่ยนของเขาคือการเข้าเรียนที่ Samugaku ที่นั่นเขาได้รับการสนับสนุนให้ปรับพฤติกรรม ค่อย ๆ ฟื้นฟูจิตใจ และเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น หลังจากจบการเรียน เขาไม่เพียงหางานได้ แต่ยังทำงานจนก้าวขึ้นเป็น รองประธานบริษัท Quietude ซึ่งเป็นบริษัทแนวให้คำปรึกษาและสนับสนุนผู้ที่เคยเป็นฮิคิโคโมริเช่นกัน

อีกตัวอย่างคือ โมโมกะ ไทระ (Momoka Taira)  วัย 14 ปี ที่สูญเสียแม่ เธอเป็นคนปิดตัวเอง ไม่ไว้ใจผู้ใหญ่ และกลัวโลกภายนอกอย่างรุนแรง 

วันหนึ่ง เธอตัดสินใจลองเข้าเรียนที่ Samugaku ช่วงทดลอง 1 ปี และได้อยู่ร่วมกับนักเรียนอีก 10 คนในหอพัก เธอเล่าว่า “ตอนแรกฉันไม่อยากมาเลย แต่พอได้เจอเพื่อน ได้คุยกัน ได้หัวเราะ ฉันก็เริ่มรู้สึกว่าโลกภายนอกไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เธอเริ่มตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ เช่น การสอบเข้ามัธยมปลาย และการหางานพาร์ตไทม์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของ ความหวัง 

ทั้งนี้ โรงเรียนดำเนินงานในฐานะองค์กรไม่แสวงกำไร โดยอาศัยเงินบริจาคและความร่วมมือจากภาคชุมชน แม้จะมีอุปสรรคด้านงบประมาณ แต่ทีมงานทุกคนต่างมุ่งมั่น เพราะพวกเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของคนจริง ๆ ที่เคยไม่พูดกับใคร กลับมายิ้ม หัวเราะ และกล้าฝันอีกครั้ง

Samugaku คือบทพิสูจน์ว่า คนทุกคน  ไม่ว่าจะเคยหลงทางแค่ไหน  ก็มีสิทธิ์ได้เริ่มต้นใหม่ได้เสมอ 

ที่มา : japantimes

ข่าวทที่ที่เกี่ยวข้อง 

related