ไทยออกแถลงการณ์ประณามกัมพูชา ลอบวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ชี้เป็นการละเมิดอธิปไตย ย้ำหาทางแก้ปัญหาผ่านกลไกทวิภาคี พร้อมพร้อมเรียกร้องให้ช่วยกันเก็บกู้
แม้สงครามจะจบลงไปนานหลายทศวรรษ แต่ทุ่นระเบิดชายแดน ไทย–กัมพูชา ยังคงเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตและสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในพื้นที่ชายแดนตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และสระแก้ว
ล่าสุดเกิดกระแสตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง เมื่อฝ่ายความมั่นคงไทยตรวจพบ “ทุ่นระเบิดสังหารรุ่นใหม่” บางจุดในพื้นที่เคยถูกเคลียร์แล้ว สร้างข้อสงสัยว่าอาจมีการลักลอบวางใหม่โดยไม่ได้รับอนุญาต กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและความร่วมมือระหว่างประเทศ
นายนิกรเดช พลางกูล อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวโดยระบุว่ากรณีเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 เกิดเหตุการณ์กำลังพลของไทยเหยียบกับระเบิดระหว่างลาดตระเวน ในพื้นที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย โดย 1 นายข้อเท้าซ้ายขาด ปัจจุบันทหารทุกนายอาการปลอดภัย และอยู่ระหว่างการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล กระทรวงการต่างประเทศได้แถลงแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในก่อนหน้านี้ แต่ขอให้ทหารไทยทุกนายที่ได้รับบาดเจ็บฟื้นตัวโดยเร็ว
สำหรับประเด็นเรื่องทุ่นระเบิดในพื้นที่กองทัพบก และกองทัพภาคที่สอง ได้แถลงไปเมื่อเมื่อวานนี้ 19 ก.ค. ภายหลังการตรวจสอบของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ยืนยันว่า ทุ่นระเบิด 8 ลูกที่พบ เป็นทุ่นระเบิดที่วางใหม่ และไม่มีในการใช้งาน หรือมีอยู่ในคลังอาวุธของไทย ในขณะที่วันนี้ได้มีการประชุมฝ่ายเลขานุการของศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชา หรือ ศบ.ทก. ซึ่งเป็นการประชุมระดับปฏิบัติ เพื่อแลกเปลี่ยน และจัดเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ให้ที่ประชุม ศบ.ทก. ที่กำหนดประชุมในวันพรุ่งนี้พิจารณาต่อไป เรื่องนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และมีกรอบการดำเนินการหลายกรอบ ฝ่ายไทยจะต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงแนวทางการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ เรื่องการประท้วงการใช้ทุนระเบิดสังหารบุคคล ตามที่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 กำลังพลกองร้อยทหารราบที่ 6021 รวม 3 นาย ซึ่งทำการลาดตระเวนตามปกติในดินแดนไทย บริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ประสบเหตุเหยียบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลนั้น
รัฐบาลไทยได้รับรายงานจากหน่วยงานความมั่นคง ว่า ภายหลังการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าทุ่นระเบิดที่พบไม่มีการใช้ หรือมีอยู่ในคลังอาวุธของไทย และเป็นทุ่นระเบิดที่วางใหม่ เมื่อประกอบกับการประมวลข้อมูล และหลักฐานสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่หน่วยงานความมั่นคงตรวจพบ นำสู่ข้อสรุปได้ว่าเป็นการวางระเบิดสังหารบุคคล ที่ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง
รัฐบาลไทยขอประณามอย่างรุนแรงที่สุด ต่อการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย และเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานที่สำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ละเมิดพันธกรณี ภายใต้อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอย่างชัดเจน ไทยในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาจะดำเนินการตามกระบวนการใต้อนุสัญญาฯ โดยจะยังคงหาทางแก้ปัญหากับกัมพูชา ผ่านกลไกทวิภาคีต่าง ๆ ที่มีอยู่และขอเรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชาให้ความร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด เพื่อมนุษยธรรมตามแนวชายแดน ตามที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันภายในกรอบทวิภาคี
ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) ได้ออกแถลงการณ์ประณามกัมพูชา ที่ละเมิดพันธกรณีและบรรทัดฐานของอนุสัญญา ว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลว่า ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติขอแสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.ค.68
โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการลักลอบเข้ามาดำเนินการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่อธิปไตยไทย
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้กำลังพลของกองทัพไทยได้รับบาดเจ็บ จำนวน 3 นาย โดยในจำนวนนี้ 1 นาย ได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นสูญเสียอวัยวะและกลายเป็นผู้พิการถาวร จากการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดพบว่า ทุ่นระเบิดที่ใช้เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชนิดใหม่ ซึ่งเพิ่งถูกวางขึ้น โดยจัดวางในลักษณะสนามทุ่นระเบิด และกระจายตัวหลายจุดตามแนวชายแดนในเขตพื้นที่อธิปไตยไทย โดยทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชนิดดังกล่าวมิได้อยู่ในระบบยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยอย่างชัดเจน และมีลักษณะมุ่งหมายเพื่อก่ออันตรายต่อกำลังพล รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ และยังส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนในบริเวณใกล้เคียงอย่างมีนัยสำคัญ
ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติขอประณามการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรง และขอแสดงการคัดค้านอย่างเด็ดขาดต่อการกระทำใดๆ ที่อาจถือเป็นการละเมิดพันธกรณีและบรรทัดฐานของอนุสัญญา ว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mine Ban Treaty หรือ Ottawa Convention) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าทั้งราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชาต่างเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ และได้ให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างครบถ้วน อันรวมถึงการยุติการใช้และสะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ตลอดจนการดำเนินการเก็บกู้ และทำลายทุ่นระเบิดที่ยังตกค้างภายในประเทศ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนโดยรวมในระยะยาวในฐานะหน่วยงานหลักของประเทศไทยด้านปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม
ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติขอเรียกร้องให้ราชอาณาจักรกัมพูชาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน รวมถึงดำเนินมาตรการทางกฎหมายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งดำเนินมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะนี้อีกในอนาคต
นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติขอเรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชาหยุดการขัดขวางการปฏิบัติภารกิจเก็บกู้ทุ่นระเบิดของฝ่ายไทยตามแนวชายแดน และให้ความร่วมมืออย่างจริงจังในการดำเนินงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความปลอดภัย และความมั่นคงให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบร่วมกันในฐานะรัฐภาคี ของอนุสัญญาออตตาวา ซึ่งต่างมีพันธกิจในการสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคงของมนุษยชาติ และลดผลกระทบจากอาวุธที่ไร้ความจำแนกต่อพลเรือน
ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ , ศูนย์ปฏฺิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ TMAC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง