svasdssvasds

ทหารไทยขาขาดจากกับระเบิด จุดชนวนข้อพิพาทไทย–กัมพูชา กับ อนุสัญญาออตตาวา

ทหารไทยขาขาดจากกับระเบิด จุดชนวนข้อพิพาทไทย–กัมพูชา กับ อนุสัญญาออตตาวา

“ทหารไทยเจ็บหนักจากกับระเบิด PMN-2 ชายแดนไทย–กัมพูชา จุดประเด็นร้อน กัมพูชาละเมิดอนุสัญญาออตตาวาหรือไม่ ?”

SHORT CUT

  • เกิดเหตุทหารไทยเหยียบกับระเบิดชนิด PMN-2 บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ทำให้ได้รับบาดเจ็บและขาขาด ซึ่งจุดประเด็นข้อสงสัยว่ากัมพูชาอาจละเมิดอนุสัญญาออตตาวา
  • อนุสัญญาออตตาวาเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ห้ามการใช้ สะสม ผลิต และโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล รวมถึงกำหนดให้มีการทำลายทุ่นระเบิดที่สะสมไว้และที่ฝังอยู่ในพื้นที่
  • บทความระบุว่า แม้กัมพูชาจะให้สัตยาบันในอนุสัญญาออตตาวาแล้ว แต่มีรายงานว่ากองทัพกัมพูชายังคงใช้และเก็บสะสมทุ่นระเบิด PMN-2 ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงและเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงในภูมิภาค

“ทหารไทยเจ็บหนักจากกับระเบิด PMN-2 ชายแดนไทย–กัมพูชา จุดประเด็นร้อน กัมพูชาละเมิดอนุสัญญาออตตาวาหรือไม่ ?”

เหตุการณ์ที่ทหารไทย 3 นาย เหยียบกับระเบิดแบบ PMN-2 บริเวณช่องบก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จน 1 ในนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นต้องตัดขาทิ้ง ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างแรงกระเพื่อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับทวิภาคี โดยเฉพาะในประเด็นด้านความมั่นคงของชายแดนไทย–กัมพูชา ซึ่งมีประวัติความขัดแย้งและความเปราะบางต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี 

มากไปกว่านั้น เหตุการณ์ดังกล่าวยังจุดประกายข้อถกเถียงทางกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นมาอีกครั้งว่า รัฐบาลกัมพูชาอาจมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายละเมิด “อนุสัญญาออตตาวา” (Ottawa Treaty) หรือไม่ ?

อนุสัญญาออตตาวา คืออะไร ?

อนุสัญญาออตตาวา หรือชื่อเต็มคือ อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ค.ศ. 1997 (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-Personnel Mines and on Their Destruction) เป็นสนธิสัญญาที่สำคัญระดับโลกที่มีเป้าหมายหลักคือการ ขจัดทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั่วโลก ทุ่นระเบิดประเภทนี้เป็นอาวุธที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อพลเรือน แม้สงครามจะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตาม .

หัวใจสำคัญของอนุสัญญาออตตาวาคือ การที่ประเทศสมาชิกต้อง ห้ามใช้ ห้ามสะสม ห้ามผลิต และห้ามโอนถ่ายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้อง ทำลายทุ่นระเบิดที่สะสมไว้ทั้งหมด ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ปกติคือ 4 ปี) และ ทำลายทุ่นระเบิดที่ฝังอยู่ในพื้นที่ ภายใน 10 ปี เพื่อให้พื้นที่เหล่านั้นปลอดภัยและสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

อนุสัญญาฉบับนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในด้านมนุษยธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะช่วยลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากทุ่นระเบิดได้อย่างมหาศาล และยังกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิด รวมถึงการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่เคยมีทุ่นระเบิดฝังอยู่ 

กัมพูชาละเมิด อนุสัญญาออตตาวา หรือไม่ ?

อย่างไรก็ตาม ทางเพจ The Special Forces FC ออกมาระบุว่า แม้กัมพูชาจะลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาออตตาวาตั้งแต่ปี 1997 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อห้ามการใช้ ผลิต สะสม และถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลโดยเด็ดขาด แต่รายงานล่าสุดกลับชี้ว่า กองทัพกัมพูชา ภายใต้การนำของพลเอกฮุน มาเนต มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายละเมิดพันธกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะการใช้และเก็บรักษาทุ่นระเบิด PMN-2 ซึ่งเป็นอาวุธที่มีอานุภาพรุนแรงและเป็นภัยต่อพลเรือน

ข้อมูลจากแหล่งข่าวชายแดนไทย–กัมพูชาระบุว่า กัมพูชามีการเคลื่อนไหวเชิงยุทธวิธี ด้วยการฝังทุ่น PMN-2 ในพื้นที่ยุทธศาสตร์และจัดเก็บไว้ในคลังอาวุธโดยไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งที่ตามอนุสัญญา รัฐภาคีต้องทำลายคลังเก็บทุ่นระเบิดทั้งหมดภายในเวลาที่กำหนด และห้ามใช้อย่างเด็ดขาด การกระทำนี้จึงเข้าข่ายละเมิดอย่างชัดเจน

พฤติกรรมดังกล่าวไม่เพียงบั่นทอนความน่าเชื่อถือของกัมพูชาบนเวทีโลก แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อความมั่นคงในภูมิภาค และเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของพลเรือนในพื้นที่ชายแดน หากรัฐบาลฮุน มาเนตยังคงปฏิเสธความรับผิดชอบ อาจนำไปสู่แรงกดดันจากประชาคมโลกให้มีการตรวจสอบ หรือใช้มาตรการทางการทูตในอนาคตอันใกล้

ที่มา The Special Forces FC 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related