SHORT CUT
‘ลวรณ แสงสนิท’ เผย กระทรวงการคลัง ลุยล้างหนี้เสีย SME ไทย ชงตั้ง AMC ลุยฟื้นฟูธุรกิจ พร้อมลดเวลาติดเครดิตบูโรเหลือ 6 เดือน ดันเข้าถึงสินเชื่อใหม่
SME ไทยนับว่าเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้ และสร้างรายได้เข้าประเทศปีหนึ่งมหาศาล แต่… SME มักจะประสบปัญหาเข้าไม่ถึง และไม่มีศักยภาพทางการเงินมากเหมือนกลุ่มทุนใหญ่ บนเวที Thailand SMART SME 2025: Smart Solutions & Sustainable Growth จัดโดย สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเตรียมมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ครั้งใหญ่ เนื่องจาก SME มีสัดส่วนถึง 36% ของจีดีพี เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้เสียที่สะสมของผู้ประกอบการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Company: AMC) พิเศษ ขึ้นมาเพื่อรองรับหนี้เสีย SME
ทั้งนี้จะมีการจัดตั้ง AMC โดยมีเป้าหมายเพื่อแยกหนี้เสียออกจากระบบธนาคาร ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ช่วยให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ใหม่ได้คล่องมากขึ้น และช่วยให้ SME ไทย มีศักยภาพในการฟื้นตัวและการกลับเข้าสู้ระบบการเงินหรือสินเชื่อใหม่ได้ง่ายขึ้น โดย AMC ใหม่ที่แยกจากหน่วยงานที่มีอยู่ และอาจตั้งขึ้นโดยธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หรือสถาบันการเงินนอนแบงก์ เพื่อแยกหนี้เสียออกจากระบบแบงก์ให้มากขึ้น แนวทางนี้จะช่วยปลดล็อกภาระหนี้เสียที่แบงก์แบกรับอยู่ให้เบาตัวขึ้น ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้มากขึ้นและคล่องตัวกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นฟู SME ที่ยังมีศักยภาพ แต่ถูกจำกัดโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ
อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างเสนอแนวทางปรับปรุงระบบเครดิตบูโร โดยจะใช้วิธี “ติดธงพิเศษ” สำหรับลูกหนี้ SME ที่เคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้ แต่แสดงเจตนาพร้อมฟื้นฟูกิจการ เพื่อแยกออกจากกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างสิ้นเชิง โดยในระบบเดิมแต่แนวทางใหม่จะลดระยะเวลารอเหลือเพียง 6 เดือน โดยในช่วงนี้ลูกหนี้จะได้รับการดูแลจากพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาเพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจ หากมีความพร้อมจริงก็จะสามารถขอสินเชื่อได้ทันทีโดยไม่ต้องรอครบกำหนด ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ SME กลุ่มนี้กลับเข้าสู่ระบบการเงินได้เร็วขึ้น
โดยมีแนวคิดสำคัญคือไม่ปิดโอกาสคนที่อยากลุกขึ้นใหม่ เพราะถ้าหนี้เสียยังคงอยู่กับธนาคาร ธนาคารก็จะไม่สามารถปล่อยกู้ใหม่ได้เต็มที่ และ SME ที่มีศักยภาพก็จะถูกกีดกัน ไม่เพียงเท่านี้นอกจากมาตรการด้าน AMC และเครดิตบูโร รัฐบาลยังเตรียมวงเงินสนับสนุน และช่วยเหลือ SME กว่า 200,000 ล้านบาท ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ได้แก่ ซอฟต์โลนวงเงิน 100,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ ผ่านธนาคารออมสิน เพื่อส่งต่อปล่อยกู้ SME วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท ผ่าน บสย. ภายใต้โครงการ PGS11 งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 20,000 ล้านบาท พร้อมใช้ทันที งบเยียวยาเศรษฐกิจ 25,000 ล้านบาท เริ่มใช้ 1 ต.ค. 2568
สำหรับการจัดตั้ง AMC และ การฟื้นฟูเครดิตต้องรอระยะเวลาให้ประวัติการค้างชำระหายไปต้องใช้เวลาถึง 36 เดือน คาดว่าจะได้เห็นในเร็วๆนี้ หรือภายในปี 2568 จะได้เห็นแน่นอน พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เร่งพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านการร่วมทุน (Venture Capital) ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก แต่ครั้งนี้จะมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การเข้าไปเติมทุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเท่านั้น แต่ ธพว. จะต้องเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง สร้างองค์ความรู้เพื่อให้ธุรกิจแข็งแรง และเติบโตไปด้วยกัน ไม่ใช่การเข้าไปฮุบธุรกิจ ตรงนี้ถือเป็นมิติใหม่และเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะเข้าไปดูแลเอสเอ็มอี ซึ่งตรงนี้จะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด
ส่วนความเสี่ยงจากการเปิดเสรีทางการค้าและความไม่แน่นอนของกติกาการค้าโลก รัฐบาลจะเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น มาตรการภาษี การเงิน และเยียวยากลุ่มเปราะบางอย่าง SME โดยพร้อมอัดฉีดเงินช่วยเหลือทันทีหากมีข้อตกลงการค้าใหม่ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เร่งสกัด! ธุรกิจผิดกฎหมาย ชู Made in Thailand เสริมแกร่ง SME ไทย
"Greener SME Handbook" คู่มือช่วย SME ปรับตัวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ