svasdssvasds

ย้อนไทม์ไลน์ กติกาเลือกตั้ง ส.ส. ไทย อดีตถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?

ย้อนไทม์ไลน์ กติกาเลือกตั้ง ส.ส. ไทย  อดีตถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?

ชวนย้อนดูวิวัฒนาการการเลือกตั้งไทย เลือกตั้ง ส.ส. ของไทย ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมา ไทย มีเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว อย่างเป็นทางการ 26 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2476 จนถึงปี 2562 และปี 2566 นี้ กำลังจะมีเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ที่อาจจะพลิกโฉมประเทศอีกครั้ง

สำหรับ การเลือกตั้ง 2566  ที่จะถึงนี้ ยังอยู่ภายใต้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บัญญัติให้การเลือกตั้ง  ใช้ระบบเลือกตั้งแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะลงคะแนนเสียงด้วยบัตรใบเดียว เพื่อเลือก ส.ส. 400 ที่นั่งจากเขตเลือกตั้ง และอีก 100 ที่นั่งจะเป็นการจัดสรรตามคะแนนของพรรคการเมืองทั้งประเทศ (ถือว่าเปลี่ยนแปลงจากครั้งล่าสุด ที่เป็นการ แบ่งเขต 350 บัญชีรายชื่อ 150 ) 

โดยการ เลือกตั้ง 2566 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้บัตรลงคะแนนเพียงใบเดียว สำหรับเลือกได้เพียง ส.ส. เขตเท่านั้น แต่นำคะแนนในระบบเขตไปคำนวณเพื่อกำหนดที่นั่ง ส.ส. ทั้งหมดของแต่ละพรรคและกำหนดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

อย่างไรก็ตาม กว่าที่ประเทศจะเดินหน้ามาถึงจุดนี้ มีการเปลี่ยนแปลงมามากมาย  โดยหากย้อนดูประวัติศาสตร์กติกาการเลือกตั้งทั่วไปของไทยทั้ง 26 ครั้งที่ผ่านมา จะพบว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นได้ผ่านการทดลองหลากหลายวิธี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 2476 ใช้วิธีเลือกตั้ง “ทางอ้อม”  โดย ณ เวลานั้น กำหนดให้กรมการอำเภอดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นทั่วประเทศ ก่อนที่จะให้ผู้แทนตำบลไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย

จากนั้น ในการเลือกตั้ง ครั้งที่ 2 ของไทย วันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 มีการเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งทางตรง โดยใช้แบบ “แบ่งเขต” คือ ประชาชนเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในเขตของตนเองโดยตรง โดยเกณฑ์จำนวน ส.ส. 1 คน ต่อ ประชากรจำนวน 100,000 คน โดยใช้วิธีนี้จัดการเลือกตั้งรวม 4 ครั้ง

จนถึงการเลือกตั้งในวันที่ 29 มกราคม ปี 2491 การเลือกตั้งจึงเปลี่ยนไปเป็นแบบ “รวมเขต” หรือ “รวมเขตเรียงเบอร์” โดยถือเอาจังหวัดหนึ่งเป็นเขตการเลือกตั้งหนึ่ง ซึ่งจำนวนผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดจะยึดจากจำนวนประชากรในจังหวัด 200,000 คน ต่อ 1 ผู้แทนราษฎร

ย้อนไทม์ไลน์กติกาเลือกตั้ง ไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน เลือกตั้ง 2566 เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?

จากนั้นในเวลาต่อมา จะมีเปลี่ยนเป็นวิธีเลือกตั้งแบบ “แบ่งเขตเรียงเบอร์” ในการเลือกตั้งวันที่ 26 มกราคม ปี 2518 ซึ่งก็คือ การเลือกตั้งทางตรง โดยจำนวนผู้แทนราษฎร 1 คนต่อจำนวนประชากร 150,000 คน ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวาย “ตุลาฯ 16” โดยการแข่งขันทางการเมืองมีความคึกคักมากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากมีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 ขึ้น และกำหนดให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ทำให้มีพรรคการเมืองยื่นขอจดทะเบียนพรรคเป็นจำนวนมาก

จนถึงการเลือกตั้งครั้งที่ 12 ในวันที่ 22 เมษายน ปี 2522 ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการ “รวมเขตเรียงเบอร์” โดยกำหนดให้แต่ละเขตมีผู้แทนได้ไม่เกินเขตละ 3 คนโดยจำนวนผู้แทนในแต่ละเขตให้ถือเอาจำนวนประชากร 150,000 คนต่อสัดส่วนผู้แทนราษฎร 1 คน

• จุดเริ่มต้นการเลือกตั้งแบบผสม

จากนั้นการเลือกตั้งครั้งที่ 16 ในวันที่ 22 มีนาคม 2535 มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้มีจำนวน ส.ส. 360 คน เท่ากับประชากรในขณะนั้นประมาณ 150,000 คนต่อ ส.ส. 1 คน โดยใช้วิธีการ “เลือกตั้งโดยตรงแบบผสม” เขตละไม่เกิน 3 คน จนกระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่ 20 ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 ได้แก้ไขให้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส. จากเดิมที่กำหนดไว้ตายตัว 360 คน เป็นจำนวน ส.ส. 1 คน ต่อประชากร 150,000 คน ทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นมี ส.ส. จำนวน 391 คน

และเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 20 ของไทย อีกทั้งยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ด้วยวิธีการเลือกตั้งแบบผสม  โดยเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (one man one vote) จำนวน 400 คน และ ส.ส. จากบัญชีรายชื่อ (party lists) 100 คน ซึ่งมีเขตเลือกตั้งคือเขตประเทศ เสมือนว่าการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อคือการเลือกพรรคที่ชอบ โดยพรรคการเมืองนั้นๆ จะจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยจัดเรียงตามลำดับความสำคัญ  โดยการเลือกตั้งปี 2544 มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครมากเป็นประวัติการณ์ โดยมีผู้สมัครถึง 3,722 คน แบ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 2,782 คน ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 940 คน จากทั้งหมด 43 พรรคการเมือง  โดยพรรคไทยรักไทย นำโดยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นพรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุด 247 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอีก 3 พรรค มีเสียงในสภารวม 367 เสียง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านมีเสียงเพียง 163 เสียง

จากนั้นในปี 2548 พรรคไทยรักไทยก็ยังคงคว้าชัยในสนามเลือกตั้งได้ถึง 377 ที่นั่ง กลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียว  แต่แม้พรรคไทยรักไทยจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว แต่บริหารประเทศได้เพียง 11 เดือน ก็ต้องได้ประกาศยุบสภา

และผลจากการ ยุบสภาในยุค "ทักษิณ 2"  ครั้งนั้น นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งครั้งที่ 24 ในวันที่ 2 เมษายน ปี 2549 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ทุกพรรคการเมือ ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง (ยกเว้นพรรคไทยรักไทย) โดยไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง แต่สุดท้ายครั้งนั้น เป็นการเลือกตั้งที่ โมฆะ ครั้งแรกของประเทศไทย 
ย้อนไทม์ไลน์กติกาเลือกตั้ง ไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน และ เลือกตั้ง 2566 จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?

ในภายหลังการ ปฏิวัติ 2549 , ไทยมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นครั้งที่ 23 ของประเทศ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบการเลือกตั้งมา โดยใช้แบบ "การเลือกแบ่งเขตตั้งสัดส่วน" เพื่อแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น คือ ความได้เปรียบของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เช่น การกำหนดให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อไม่ถึง 5 % จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว เพื่อไม่ให้พรรครัฐบาลเข้มแข็งเกินกว่าที่ควรจะเป็น  โดยวิธีการเลือกตั้ง ในปี 2550 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว จึงกำหนดให้จัดการเลือกตั้งแบบเขตเดียวหลายคน จำนวน 400 คน และเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยกำหนดกลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งจำนวน 8 กลุ่มจังหวัด แต่ละกลุ่มมี ส.ส. 10 คน รวม ส.ส.สัดส่วนทั้งหมด 80 คน  แต่ประเทศไทยก็ใช้ระบบนี้ แค่ครั้งเดียว

• การเลือกตั้งของประเทศไทย ในช่วง 10 ปีหลัง 

ในช่วง 10 ปีหลัง ประเทศไทย มีการเลือกตั้ง 3 ครั้ง ในปี 2554 , 2557 และ 2562  ซึ่งในช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2557 ซึ่งพรรค เพื่อไทย เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง แต่ถูก คสช. นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหาร ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 

โดยหากลงลึกถึงรายละเอียด ในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม ปี 2554 แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หลังจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง โดยกำหนดให้มี ส.ส. จำนวน 500 คน มากกว่าครั้งก่อน 20 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต (เขตเล็ก) 375 คน จากเดิมเขตละไม่เกิน 3 คน และเปลี่ยน ส.ส.ระบบสัดส่วนเป็นระบบบัญชีรายชื่อ โดยเอาประเทศไทยเป็นเขตเลือกตั้ง 125 คน ผลปรากฏว่า พรรคพลังประชาชนได้ที่นั่งถึง 265 คน 

สำหรับการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ถูกจัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ซึ่งถูกจารึกไว้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ปั่นป่วนที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น “โมฆะ” ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนการเลือกตั้ง ครั้งล่าสุด ครั้งที่ 26 เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ไทย ใช้ ระบบการเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดย ส.ส. 500 คนมาจากระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด 350 เขต เขตละคน และอีก 150 คนมาจากที่นั่งปรับระดับ (leveling seat)  

ส่วน การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะถึงนี้ จะยังใช้ ระบบการเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม  แต่จะแบ่งสัดส่วนใหม่อีกครั้ง  โดย ส.ส. 500 คนมาจากระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด 400 เขต เขตละคน และอีก 100 คน 

เส้นทางการเลือกตั้งของไทย ผ่านการลองผิด-ลองถูกมาแล้วหลายครั้ง และการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นจะกลายเป็นบทพิสูจน์ว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม จะตอบโจทย์การปฏิรูปพาประเทศก้าวพ้นวังวนปัญหาอย่างที่หวังได้หรือไม่
ย้อนไทม์ไลน์กติกาเลือกตั้ง ไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน และ เลือกตั้ง 2566 จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?
• สรุปไทม์ไลน์ กติกา เลือกตั้ง ส.ส. ไทย  จากอดีตถึงปัจจุบัน 
                
1. 15  พ.ย. 2476      วิธีการทางอ้อม    จำนวนส.ส. 78 
2. 7 พ.ย. 2480        วิธีการ แบ่งเขต        จำนวนส.ส. 91 
3. 12 พ.ย. 2481     วิธีการ แบ่งเขต         จำนวนส.ส. 91
4. 6 ม.ค. 2489        วิธีการ แบ่งเขต         จำนวนส.ส. 96    ในวันที่ 5 ส.ค. 2489 วิธีการ แบ่งเขต เลือกตั้งเพิ่มเติม 47 จังหวัด ได้ ส.ส. ประเภทสอง 82 คน
5. 29 ม.ค. 2491     วิธีการ รวมเขต         จำนวน ส.ส. 99 โดย ในวันที่ 5 มิ.ย. 2492  มีการเลือกเลือกตั้งเพิ่มเติม โดยเลือก ส.ส. เพิ่มเติม 19 จังหวัด จำนวน 21 คน
6. 26 ก.พ. 2495     วิธีการ รวมเขต        จำนวนส.ส. 123 
7. 26 ก.พ. 2500    วิธีการ รวมเขต         จำนวนส.ส. 160 
8. 15 ธ.ค. 2500    วิธีการ รวมเขต         จำนวนส.ส. 160 
9. 10 ก.พ. 2512     วิธีการ รวมเขตเรียงเบอร์     จำนวนส.ส.  219         
10. 26 ม.ค. 2518    วิธีการแบ่งเขตเรียงเบอร์     จำนวนส.ส. 269
11. 4 เม.ย. 2519    วิธีการแบ่งเขตเรียงเบอร์    จำนวนส.ส. 279
12. 22 เม.ย. 2522    วิธีการรวมเขตเรียงเบอร์     จำนวนส.ส. 301
13. 18 เม.ย. 2526     วิธีการรวมเขตเรียงเบอร์     จำนวน ส.ส. 324
14. 27 ก.ค. 2529    วิธีการรวมเขตเรียงเบอร์     จำนวนส.ส. 347
15. 24 ก.ค. 2531    วิธีการรวมเขตเรียงเบอร์     จำนวนส.ส. 357
16. 22 มี.ค. 2535    วิธีการผสม        จำนวนส.ส. 360
17. 13 ก.ย. 2535    วิธีการผสม        จำนวนส.ส. 360
18. 2 ก.ค. 2538    วิธีการผสม        จำนวนส.ส. 391
19. 17 พ.ย. 2539    วิธีการผสม        จำนวนส.ส. 393
20. 6 ม.ค. 2544    วิธีการ แบ่งเขตบัญชีรายชื่อ    จำนวนส.ส. แบ่งเขต 400 , บัญชีรายชื่อ 100
21. 6 ก.พ. 2548     วิธีการ แบ่งเขตบัญชีรายชื่อ     จำนวนส.ส. แบ่งเขต 400 , บัญชีรายชื่อ 100
22.  2 เม.ย. 2549    วิธีการ แบ่งเขต บัญชีรายชื่อ     แต่การเลือกตั้งโมฆะ 
23 . 23 ธ.ค. 2550    วิธีการแบ่งเขตสัดส่วน        จำนวนส.ส. แบ่งเขต 400 สัดส่วน 80 
24. 3 ก.ค. 2554    วิธีการแบ่งเขต บัญชีรายชื่อ     จำนวนส.ส. แบ่งเขต 375 บัญชีรายชื่อ 125
25. 2 ก.พ. 2557     วิธีการแบ่งเขต บัญชีรายชื่อ    แต่การเลือกตั้ง โมฆะ
26. 24 มี.ค. 2562    วิธีการจัดสรรปันส่วนผสม    จำนวนส.ส. แบ่งเขต 350 บัญชีรายชื่อ 150

สรุปแล้ว ประเทศไทย นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา ประเทศไทย ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 26 ครั้ง

โดยเป็นการเลือกตั้ง ดังนี้  

ทางอ้อม  1 ครั้ง
แบ่งเขต  3 ครั้ง
รวมเขต หรือ รวมเขตเรียงเบอร์  9 ครั้ง 
แบ่งเขตเรียงเบอร์ 2 ครั้ง
ผสม 4 ครั้ง 
แบ่งเขต บัญชีรายชื่อ  5 ครั้ง
แบ่งเขต สัดส่วน 1 ครั้ง 
จัดสรรปันส่วนผสม 1 ครั้ง 

related