svasdssvasds

25 ปี ผบ.ตร. ในอดีตมีใครบ้าง ก่อนที่จะมี ผู้นำคนที่ 14 ในยุครัฐบาลเศรษฐา

25 ปี ผบ.ตร. ในอดีตมีใครบ้าง ก่อนที่จะมี ผู้นำคนที่ 14 ในยุครัฐบาลเศรษฐา

เปิดรายชื่อ ผบ.ตร. หรือ ผู้บัญชาการตำรวจ ในอดีต นับตั้งแต่ปี 2541 ที่มีการเริ่มต้นกัน ยกระดับ จาก กรมตำรวจ ให้ขึ้นเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2541 ณ เวลานี้ มีผู้นำ ผบ.ตร. มาแล้ว 13 คน และกำลังจะมีคนที่ 14 ในเร็ววันนี้ ท่ามกลางกระแสดราม่ามากมาย

นับตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้ง "กองโปลิศ-กรมกองตระเวน" เมื่อปี พ.ศ.2403-พ.ศ.2458 สู่การเปลี่ยนผ่านเป็น "กรมตำรวจ" ในปี พ.ศ.2458-พ.ศ.2541

กระทั่งท้ายที่สุดแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ตามวันเวลา โดยยกระดับขึ้นเป็น "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ในปี 2541 มาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน มีรายชื่อบันทึกอยู่ 13 คน ดังนี้

•ผู้บัญชาการตำรวจ คนที่ 1 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก  
16 ต.ค.2541 – 30 ก.ย.2543

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายความมั่นคง) และอดีต รมว.ยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน 
พล.ต.อ.ประชา เป็นชาว จ.นครราชสีมา เป็นนายตำรวจมือปราบมีฉายาว่า "อินทรีอีสาน" เป็นทั้งอธิบดีกรมตำรวจคนสุดท้าย และเป็น ผบ.ตร. คนแรกของประเทศไทย เนื่องจากมีตำแหน่งสูงสุดในช่วงที่ปรับเปลี่ยนสถานะของ กรมตำรวจ เป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี 2541 

โดย พล.ต.อ.ประชา ขึ้นมาเป็น นายใหญ่ของวงการตำรวจในยุครัฐบาล ชวน หลีกภัย เป็นนายกฯอยู่ ณ เวลานั้น

• ผู้บัญชาการตำรวจ คนที่ 2 พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ 
1 ต.ค.2543 – 30 ก.ย.2544 
พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์  อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2543 ถึง พ.ศ.2544 ต่อจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ซ้ำยังเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 2 และนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 18 เหมือนกัน ภายหลังพ้นจากตำแหน่ง ไม่มีรายละเอียดระบุว่าเข้าร่วมเล่นการเมือง พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ เคยประธานที่ปรึกษาสมาคมกีฬาโบว์ลิ่งแห่งประเทศไทย

พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์  อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

•ผู้บัญชาการตำรวจ คนที่ 3 พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ 
1 ต.ค.2544 – 30 ก.ย.2547 
พล.ต.อ. สันต์ ศรุตานนท์ มาจาก โรงเรียนนายร้อยตำรวจในปี 2510 ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ในปี 2544 - 2547  โดยเขาขึ้นเป็น ผบ.ตร. ในยุคที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ 

หลักจากนั้นเมื่อเกิดการเลือกตั้งและการเมืองเปลี่ยนขั้วอำนาจ จึงถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ย้ายไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรีจนเกษียณอายุราชการ 

นอกจากนี้ พล.ต.อ.สันต์ ยังเคยเป็นนายกสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย อดีตราชองครักษ์พิเศษ

• ผู้บัญชาการตำรวจ คนที่ 4 พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ 
1 ต.ค.2547 – 22 เม.ย.2550 
 พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รับช่วงต่อ นั่งเก้าอี้รักษาการจนกระทั่ง พล.ต.อ.สันต์ เกษียณเมื่อปี 2547 อดีตนายกฯ ได้แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็น ผบ.ตร.คนต่อมา ดำรงตำแหน่งวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2547  โดยก่อนที่เขาจะขึ้นเป็น ผบ.ตร. นั้น มี พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ เป็นรักษาการอยู่ก่อน ในช่วงเวลา  22 มีนาคม พ.ศ. 2547 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2547

ขณะเดียวกันในเหตุการณ์ "บิ๊กบัง" พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ทำรัฐประหารประเทศไทย พ.ศ.2549 ต่อรัฐบาลทักษิณ , พล.ต.อ. โกวิทได้รับคำสั่งไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 โดยให้เหตุผลที่ว่า โกวิท วัฒนะ ไม่มีผลงานความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549 ภายหลังศาลปกครองพิจารณาว่าท่านอยู่ในตำแหน่งจนเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2550 

งานด้านการเมืองในปี พ.ศ. 2551 พล.ต.อ.โกวิท ได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.มหาดไทย ในรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ด้วย ซึ่งต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ให้ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ทำให้นายสมชาย และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งรวมถึง พล.ต.อ. โกวิท ด้วย

นอกจากนี้ พล.ต.อ.โกวิท เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เมื่อ พ.ศ. 2537 ก่อนจะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2543 ได้คุมพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 

• ผู้บัญชาการตำรวจ  คนที่ 5 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส 
1 ต.ค.2550 – 8 เม.ย.2551 

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หรือ "ป๋าเสรี" ที่เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ในช่วงการเมือง เลือกตั้ง 2566 , พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อดีตเจ้าของฉายา "วีรบุรุษนาแก" และ "มือปราบตงฉิน" ขึ้นมาเป็น ผบ.ตร. ในช่วง พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ 

โดยทันทีที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ หลุดจากเก้าอี้ผู้นำตำรวจนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการตำแหน่ง ผบ.ตร. ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 คุมตำรวจ 

ต่อมารัฐบาล "นายสมัคร สุนทรเวช" จากพรรคพลังประชาชน ได้ทำการสั่งย้าย ไปประจำสำนักนายกฯ และตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยร้ายแรง ก่อนมีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งในเดือน เม.ย.2551  โดยให้ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้รักษาราชการแทน ณ ตอนนั้น

ผู้บัญชาการตำรวจ  คนที่ 5 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส

•ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 6 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 
8 เม.ย.2551 – 30 ก.ย.2552 

 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2551-30 กันยายน พ.ศ.2552 
.
อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท ไปช่วยราชการสำนักนายกฯ 21 ธ.ค. 2551 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการนายกฯ มีคำสั่งให้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมเป็น ผบ.ตร.เพียงคนเดียว ที่ถูกสั่งย้ายแล้วได้กลับคืนสู่ตำแหน่ง 

กระทั่งภายใต้การนำของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท ยังไม่พ้นวิกฤต เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ผิดอาญารวมทั้งผิดวินัยร้ายแรง กรณีสั่งสลายผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม รอให้ ก.ต.ช.พิจารณาลงโทษใน 30 วัน เพื่อไล่ออกหรือปลดออกเท่านั้น

ทั้งนี้ ในช่วงเวลานี้ มี รักษาการ ผบ.ตร. ขึ้นมาเป็นนายใหญ่วงการตำรวจ 3 คนด้วย ได้แก่ พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี,พลตำรวจเอก ธานี สมบูรณ์ทรัพย์, และ พลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 6 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

• ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 7 พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี 
2 ก.ย.2553 – 14 ต.ค.2554 

ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น เสนอชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ได้ตำแหน่ง ผบ.ตร.คนใหม่ ด้วยมติเอกฉันท์ หลังจากที่ตำแหน่งนี้ว่างเว้นมายาวนานเกือบ 1 ปี    จากนั้นในวันที่ 6 กันยายน 2553 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พล.ต.อ.วิเชียรดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. อย่างเป็นทางการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ปีเดียวกัน และเขาถือเป็น ผบ.ตร. คนเดียว อยู่ได้ขึ้น ในยุคที่เป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 7 พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี

•ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  คนที่ 8 พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ 
26 ต.ค.2554 – 30 ก.ย.2555 

ภายหลังคืนอำนาจให้ประชาชน ปลดล็อกเลือกตั้งเข้าสู่รัฐบาล นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร , พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ นั่งเก้าอี้เป็นรักษาการ ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2554 ก่อนจะขึ้นเป็นตัวจริงในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2554 ภายหลังเกษียณอายุราชการแล้ว พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2555

ภายหลังคืนอำนาจให้ประชาชน ปลดล็อกเลือกตั้งเข้าสู่รัฐบาล นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร , เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ (ซึ่งเป็นพี่ชายของ พจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาของทักษิณ) นั่งเก้าอี้เป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2554-25 ตุลาคม พ.ศ.2554 ก่อนจะผงาดขึ้นเป็นตัวจริงในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2554-30 กันยายน พ.ศ.2555 ภายหลังเกษียณอายุราชการแล้ว พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2555 

หากย้อนไปในอดีต พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ มีผลงานโดดเด่นด้านการปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างมาก โดยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ติดยศ พล.ต.อ. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 

• ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 9 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว 
1 ต.ค.2555 – 24 พ.ค.2557 
ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2555 ต่อจาก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2555 ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 พล.ต.อ.อดุลย์ กลับกลายเป็นหนึ่งในผู้ทำการรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

แต่หลังจากนั้น 2 วัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.อดุลย์ พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร. เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ รอง ผบ.ตร.เป็นผู้รักษาราชการแทน แต่ยังคงดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

• ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 10 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง 
1 ต.ค.2557 – 30 ก.ย.2558 
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (ณ ตอนนี้ เป็นนายกสมาคมฟุตบอลไทย) ได้รับไม้ต่อนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 10 ของประเทศไทย  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2557  โดย พล.ต.อ.สมยศ รับราชการตำรวจครั้งแรก ในตำแหน่ง รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง และได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในกรมตำรวจ เช่น ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

นอกจากนี้ พล.ต.อ.สมยศ ยังได้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คนที่ 17 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 แต่ผลงานทีมชาติไทยก็ไม่ได้เข้าตาโดดเด่นอะไรเลย จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากแฟนบอลไทย

• ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 11 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา
1 ต.ค.2558 – 30 ก.ย.2563 
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา หรือ บิ๊กแป๊ะ เริ่มดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2558 พล.ต.อ.จักรทิพย์ เริ่มต้นรับราชการจากตำแหน่ง นายเวรผู้บังคับการประจำกรมตำรวจ สำนักงานกำลังพล และสารวัตรแผนกสายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กองกำกับการสายตรวจ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2537– 2538 ได้ย้ายเข้าสู่กองปราบปรามในตำแหน่งรองผู้กำกับ ในปี พ.ศ. 2539 ได้เป็นนายเวรอธิบดีกรมตำรวจ (พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา) จากนั้นได้ทำงานในตำแหน่งงานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะงานด้านปราบปราม

ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็น นายตำรวจราชองครักษ์พิเศษ ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ก่อนเกษียณอายุราชการ ในยุคที่ประเทศไทยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ

• ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 12 พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข
1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 - 30 กันยายน พ.ศ. 2565

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข หรือ "บิ๊กปั๊ด" เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 20 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

รับราชการครั้งแรกเป็น รองสว.สน.หัวหมาก ปี 2526 กระทั่ง ปี 2552 ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กองบังคับการอำนวยการถวายความปลอดภัย ต่อมาใน ปี 2562 ได้รับตำแหน่งเป็น รอง ผบ.ตร. ก่อนรับตำแหน่ง ผบ.ตร. เมื่อ 1 ต.ค.2563 

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 12 พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

พล.ต.อ.สุวัฒน์ คลุกคลีทำงานด้านการสืบสวนมานาน ทำคดีสำคัญ เช่น คดีระเบิด วินาศกรรมใน กทม. คดีดังล่าสุดเหตุกราดยิงที่โคราช พล.ต.อ.สุวัฒน์ ทำหน้าที่บัญชาการเหตุการณ์เคียงข้าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ รวมถึง คดีน้องชมพู่ ที่ลงไปบัญชาการด้วยตัวเอง  และในปี 2563  แต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ด้วย (เป็นตามตำแหน่ง ผบ.ตร.)

• ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 13 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ 
1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – ปัจจุบันและกำลังจะหมดวาระ 
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ หรือ "บิ๊กเด่น"  เริ่มต้นรับราชการในตำแหน่ง รองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 เมื่อปี พ.ศ. 2528 จากนั้น เป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2563 

กระทั่งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม ที่ประชุมมีมติเลือก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. คนที่ 13 สืบต่อจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ ที่เกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 

ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ ปี 2541 ซึ่ง กรมตำรวจ เปลี่ยนมาเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม  พ.ศ.2541 จนถึงตอนนี้ ก็เกือบ 25 ปีเต็มแล้ว และคงต้องลุ้นกันต่อในยุคที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ผบ.ตร. คนใหม่ คนที่ 14 ของไทยจะเป็นใคร ? 

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 13 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

• ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล

ล่าสุด ณ วันที่ 27 กันยายน 2566 ภายหลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ครั้งที่ 10/2566 ในวาระสำคัญ การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ แทนที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั้น

ล่าสุด มีรายงานว่า ในที่ประชุม ก.ตร. มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.รับผิดชอบหน้างานป้องกันและปราบปราม เป็น ผบ.ตร. คนที่ 14 แล้ว  

ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า ก่อนจะเริ่มประชุมได้มีการเรียกประชุมวงเล็ก เพื่อหารือพิจารณาคุณสมบัติ รอง ผบ.ตร. ใครจะเหมาะสมเป็น ผบ.ตร. โดยมีการประชุมวงเล็ก แบ่งเป็น 2 วง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ก่อนที่จะเข้าเริ่มประชุมวงใหญ่ โดยที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวด้วยว่า ก.ตร.หลายท่านอยากให้การประชุมจบลงในวันนี้ เพราะปล่อยยืดเยื้อไปจะยิ่งถูกวิจารณ์กันหนักหลังจากเริ่มประชุมวงใหญ่ ได้มีการเปลี่ยนเอาวาระแต่งตั้ง ผบ.ตร.มาเป็นวาระแรก หลังจากในครั้งแรกอยู่วาระสุดท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related