svasdssvasds

เทียบเงินดิจิทัลวอลเล็ต : เกณฑ์เดิมช่วงหาเสียง vs หลักเกณฑ์ใหม่จากปากนายกฯ

เทียบเงินดิจิทัลวอลเล็ต : เกณฑ์เดิมช่วงหาเสียง vs หลักเกณฑ์ใหม่จากปากนายกฯ

เช็กเกณฑ์นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ล่าสุด เศรษฐา ทวีสิน มาสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมไทยอีกครั้ง จากการแถลงความชัดเจน , เรามาดูกันว่า หากเทียบช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นับจากช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 2566 จนถึงตอนนี้ ปลายปี 2566 มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง

เพื่อความที่ชัดเจนของสังคมเกี่ยวกับประเด็นดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ร้อนแรงและจุดไฟวิวาทะให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกฯ เศรษฐา แถลงประเด็น เงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งถือว่า มี "ประเด็นใหม่" ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อความกระจ่างและชัดเจนขึ้น เรามาลองวิเคราะห์ดูกันว่า สิ่งที่ รัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน พูดอะไร เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากตอนหาเสียง เลือกตั้ง 2566 บ้าง

ข้อแตกต่างดิจิทัลวอลเล็ต จากช่วงที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ กับสิ่งที่ นายกฯ พูดแถลงไว้ในวันที่ 10 พ.ย. 2566 มีดังนี้ 

1. วงเงินที่ใช้ดำเนินการโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต Digital Wallet 

ตอนหาเสียง : วงเงิน 560,000 ล้านบาท
ใหม่: จะใช้วงเงิน 500,000 ล้านบาท และอีก 100,000 ล้านบาท ใช้ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ

2. แหล่งเงินที่ใช้ดำเนินการโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต

ตอนหาเสียง : พรรคเพื่อไทยเคยแจ้ง กกต. ก่อนเลือกตั้ง 2566 ว่าจะใช้งบประมาณจาก 4 แหล่ง คือ 1. ประมาณการว่าปี 2567 รัฐจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท 2. การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจะเพิ่ม 100,000 ล้านบาท 3. การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท และ 4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท
ใหม่: นายกฯเศรษฐา ทวีสิน บอกว่า ออก พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 500,000 ล้านบาท  “..ไม่ใช่เพียงแค่ความฝัน แต่เป็นความจริง” นายกฯเศรษฐา กล่าวย้ำและให้ความมั่นใจกับประชาชน  ความจริงที่ว่าชาวบ้านจะได้รับเงิน 10,000 บาทนั้น ก็ต้องผ่านด่านเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ให้ได้เสียก่อน

3. แพลตฟอร์มในการให้เงินดิจิทัล Digital Wallet 

ตอนหาเสียง : เพื่อไทยบอกว่าจะใช้ระบบบล็อกเชน
ใหม่: แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”  โดยนายกฯ  ยืนยันใช้ “แอปเป๋าตัง” ที่ประชาชนลงทะเบียนในระบบอยู่แล้ว 40 ล้านคน มีร้านค้าที่คุ้นเคยกว่า 1.8 ล้านร้านค้า และกระทรวงการคลังคุ้นเคยกำกับดูแล-บริหารจัดการอยู่ก่อนแล้ว 

เปรียบเทียบเงินดิจิทัลวอลเล็ต : เกณฑ์เดิมตอนช่วงหาเสียง vs หลักเกณฑ์ใหม่จากปากนายกฯ

 

4. ผู้ที่มีสิทธิรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต

ตอนหาเสียง : พรรคเพื่อไทยเคยประกาศไว้ว่า คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน รวม 54.8 ล้านคน จะได้ดิจิทัลวอลเล็ต
ใหม่: คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท/เดือน มีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท รวม 50 ล้านคน ซึ่งเรื่องนี้ ได้รับการพูดจากนายกฯ เศรษฐา เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 

5. รัศมีการใช้จ่าย


ตอนหาเสียง : ใช้ได้ ภายใน 4 กม. จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
ใหม่: ภายในอำเภอ ตามที่อยู่ในบัตรประชาชนของแต่ละคน

6. ระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินดิจิทัล วอลเล็ต

ตอนหาเสียง : 6 เดือนหลังจากเริ่มโครงการ โดยดำเนินการพร้อมกันทั้งประเทศ
ใหม่: 6 เดือนหลังจากเริ่มโครงการ และเงินที่ถูกใช้และเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว จะใช้จับจ่ายต่อได้จนถึงเดือน เม.ย. 2570

7. วันเริ่มใช้เงินดิจิทัล 

ตอนหาเสียง : ตอนหาเสียง นายกฯ ประกาศในครั้งแรกว่าจะเริ่ม 1 ก.พ. 2567 เพื่อให้ประชาชนกลับภูมิลำเนาไปใช้เงินดิจิทัลได้ช่วงสงกรานต์ ปี 67
ใหม่:  พ.ค. 2567 นั่นหมายความว่า โครงการนี้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ทันช่วงสงกรานต์ ปีหน้า

8. เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 


ตอนหาเสียง : ซื้อสินค้าได้ทุกประเภท แต่ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อบายมุข และการใช้หนี้
ใหม่: ซื้อสินค้าได้ทุกประเภท แต่ไม่สามารถใช้กับบริการ, ซื้อสินค้าออนไลน์, ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม, ซื้อบัตรกํานัล บัตรเงินสด ทองคํา เพชร พลอย อัญมณี, ชำระหนี้, จ่ายค่าเล่าเรียน, จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมันและก๊าซ และไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้

9. เงื่อนไขของร้านค้าในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต


ตอนหาเสียง : ร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี นำเงินดิจิทัลไปแลกเป็นเงินบาทได้
ใหม่: ใช้ได้กับทุกร้านค้า ไม่จํากัดแต่ร้านอยู่ในระบบภาษี ร้านค้ารถเข็น ร้านโชว์ห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอปฯ เป๋าตัง ใช้ได้หมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้นที่จะขึ้นเงินได้

เปรียบเทียบเงินดิจิทัลวอลเล็ต : เกณฑ์เดิมตอนช่วงหาเสียง vs หลักเกณฑ์ใหม่จากปากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

อย่างไรก็ตาม ในการที่รัฐบาลเพื่อไทยจะหาเงินมาใช้จ่ายในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ยังต้องฝ่าด่านกฎหมายอีกหลายด่าน

ด่านแรก : คณะกรรมการกฎษฎีกา , ด่านนี้เปรียบเสมือนเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ถ้า คณะกรรมการกฎษฎีกา ไฟเขียว เห็นชอบ รัฐบาลก็มีความมั่นใจได้ 


ด่านสอง : คณะรัฐมนตรี , ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลเศรษฐา 1 มีพรรคร่วมรัฐบาลถึง 11 พรรค สุดท้ายต้องดูว่า เสียงของประเด็นนี้ จะออกมาอย่างไร จะเสียงแตกหรือไม่ ? ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายกฯ อยากให้พรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุน พ.ร.บ.เงินกู้ เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะเป็นการมัดมือชกหรือไม่ ว่าเรื่องแบบนี้ใครจะมัดมือชก เราเคยย้ำแล้วว่าถ้าโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนทำนโยบายและชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎระเบียบ พรรคร่วมมีหน้าที่สนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนนี้ มีการจับตา ตั้งข้อสังเกตว่า  เรื่อง พ.ร.บ. เงินกู้ 5 แสนล้าน อาจฝ่าฝืน พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ มาตรา 9 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า คณะรัฐมนตรี ต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว เนื่องจากสถานะตัวเลขเศรษฐกิจไทย ยังไม่ได้เลวร้าย ยังไม่มีปัญหาตัวเลข จีดีพี ถึงขั้นติดลบ ยังไม่มีวิกฤตฟองสบู่แตกในตลาดโลก จึงมีความเห็นว่า โครงการดิจิทัล วอลเล็ต 500,000 ล้านบาท ที่ไม่ใช่โครงการเพื่อเพิ่มความสามารถของประเทศนั้น 

ย่อมอาจถูกตีความได้ว่า เข้าข่ายมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองและเนื่องจากมีนักวิชาการมากมาย ที่ทักท้วง เตือนว่าโครงการที่เน้นอุดหนุนกรรอุปโภคบริโภค แต่ไม่เพิ่มขีดความสามารถเช่นนี้ จะเพิ่มหนี้สาธารณะอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

ด่านสาม : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร , ต้องมาเจอกับ สส. เรื่องนี้ต้องมีเสียงโหวตในสภาล่าง ให้ผ่านเกินครึ่ง  ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทย นั้น เกินครึ่งอยู่แล้ว น่าจะไม่มีปัญหาอะไร  ในจังหวะนี้ ถ้าไม่ผ่านสภา หรือ กฎหมายถูกตีตกไป จะมีผลทางด้าน "การเมือง" 

ด่านสี่ : สมาชิกวุฒิสภา , ทั้งนี้ พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าว ในชั้นสภาผู้แทนฯ ไม่น่ามีปัญหา เพราะเสียง สส.พรรคร่วมรัฐบาลเพียงพออยู่ หากจะมีปัญหาก็ในการพิจารณาของวุฒิสภา , แต่ถึงกระนั้น  ถ้าวุฒิสภาตีตก รัฐบาลเศรษฐา คงนำร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าวมาให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาเพื่อยืนยันอีกครั้ง ก็สามารถออกเป็นกฎหมายได้ ระยะเวลาขั้นตอนในรัฐสภา สำหรับ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน น่าจะเกินเดือน พ.ค. และกว่าจะได้ใช้เงินหมื่น ก็คงปลายปี 2567 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กำลังโหลด

related