svasdssvasds

เผยโฉมสัตว์โบราณ 11 ชนิด ที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หน้าตายังเหมือนเดิม

เผยโฉมสัตว์โบราณ 11 ชนิด ที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หน้าตายังเหมือนเดิม

11 สัตว์โบราณ ที่ไม่ถูกระบบวิวัฒนาการเล่นงาน เพราะตั้งแต่ยุคบรรพกาลจนถึงปัจจุบัน รูปร่างหน้าตาแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากในอดีต (ล้านปี) จะมีสัตว์อะไรบ้าง ติดตามได้ที่บทความนี้

ถือเป็นเรื่องยากมาก ที่สัตว์จะไม่มีวิวัฒนาการเลยเมื่อเวลาผ่านไปหลายล้านปี โลกของเราในแต่ละยุคมีรายละเอียดแตกต่างกัน สภาพอากาศ แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหาอาหาร หรือผู้ล่า

สัตว์หลายชนิดมีการวิวัฒนาการเผ่าพันธุ์ตัวเองไปตามกาลเวลา เพื่อดำรงสายพันธุ์ให้อยู่รอดต่อไป แต่ “วิวัฒนาการ” ที่ว่าจะเกิดขึ้นแตกต่างกันไป อย่างต่ำกินเวลาไม่น้อยกว่าสองล้านปีถึงจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงบนร่างกายอย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น “วาฬ” ที่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ครั้งหนึ่งวาฬเคยเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่บนบกมาก่อน โดยสัตว์ที่เรียกได้ว่าเป็นญาติกับวาฬคือ “ฮิปโปโปเตมัส”(Hippopotamus) ซึ่งคาบเวลาการวิวัฒนาการจากสัตว์บก แล้วค่อย ๆ ลงไปอยู่ในน้ำของวาฬกินเวลามากหลายร้อยล้านปี แรกเริ่มขาจะเริ่มหดสั้นลง จนขาหายไปเลย และมีอวัยวะอื่น ๆ เพื่อช่วยในการใช้ชีวิตใต้น้ำได้อย่างคล่องแคล่วแทน

แต่รู้หรือไม่ว่า โลกของเรามีสัตว์อยู่ราว 11 ชนิด ที่ตั้งแต่ยุคบรรพกาล ปัจจัยดังที่กล่าวไปแทบไม่มีผลให้สัตว์เหล่านี้วิวัฒนาการเผ่าพันธุ์ตัวเองเลย เมื่อล้านปีที่แล้วเป็นอย่างไร ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มีตั้งแต่ “นักล่า” ใต้ทะเลลึก ไปจนถึงสัตว์ในห้องน้ำที่บ้านคุณเลยล่ะ

Infographic - เปิดลิสต์สัตว์ที่เอาชนะวิวัฒนาการได้

สัตว์โบราณที่ยังหน้าตาเหมือนเดิมมีอะไรบ้าง?

ปลาซีลาแคนท์ (Coelacanth)

ปลาซีลาแคนท์เป็นปลาโบราณที่อาศัยอยู่ในทะเลลึก พบได้นอกชายฝั่งแอฟริกาและอินโดนิเซีย ปลาชนิดนี้ถูกบันทึกว่าชีวิตอยู่มาตั้งแต่ช่วง 400 ล้านปีก่อน (ดูจากซากฟอสซิล) ซึ่งตรงกับยุคดีโวเนียน (419 – 358 ล้านปี)

ปลาซีลาแคนท์ อยู่มาตั้งแต่ยุคดีโวเนียน (419 ล้านปีก่อน) Cr. Wikimedia / Daderot

ในช่วงแรกที่มีการเริ่มการศึกษา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปลาซีลาแคนท์สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ 65 ล้านปีก่อน กระทั่งมีการค้นพบปลาชนิดนี้อีกครั้งในมหาสมุทรอินเดียตะวันตก

ปลาซีลาแคนท์สามารถมีความยาวได้ถึง 2 เมตร และหนักได้ถึง 90 กิโลกรัม อีกหนึ่ง Fact ที่ชวนตะลึงไม่น้อย การศึกษาพบว่า ปลาชนิดนี้สามารถมีอายุขัยได้ถึง 100 ปี

หอยงวงช้าง (Nautiluses)    

เรียกได้ว่าเป็น ฟอสซิลที่ยังมีชีวิต (Living Fossil) ที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก หอยชนิดนี้แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย นับตั้งแต่ยุคบรรพกาล ข้อมูลจาก Live Science ระบุว่า หอยชนิดนี้มีชีวิตอยู่ในช่วง 500 ล้านปีก่อน ในช่วงยุคพาลีโอโซอิกตอนต้น ประมาณ 541 – 252 ล้านปีก่อน

หอยงวงช้างอยู่มาตั้งแต่ยุคพาลีโอโซอิกตอนต้น (541 - 252 ล้านปีก่อน) Cr. wikimedia / Profberger

หอยงวงช้างพบได้ที่มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก (Pacific Ocean) และมหาสมุทรอินเดีย เป็นหอยที่อาศัยอยู่ในกระดองอันซับซ้อน และมีความแข็งแรงมาก มีเรื่องเล่าว่า ลักษณะการวนภายในของหอยงวงช้างตรงตามลักษณะของสัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) แบบพอดิบพอดี ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างหนึ่ง

ฉลามก็อบลิน (Goblin Shark)

ฉลามก็อบลินเป็นปลาที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกที่หายาก (มาก) และค่อนข้างน่ากลัว ด้วยรูปร่างภายนอกที่ดูไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย ลำตัวยาวได้ถึง 4 เมตร และหนักได้ถึง 210 กิโลกรัม มีครีบขนาดเล็ก ทำให้สามารถเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าฉลามชนิดอื่น ๆ

ฉลามก็อบลินอยู่มาตั้งแต่ 125 ล้านปีก่อน Cr. Smithsonian Institution

ปลาโบราณชนิดนี้มีชีวิตอยู่มาตั้งแต่ 125 ล้านปีก่อน เอกลักษณ์ของปลาฉลามก็อบลินมีอยู่ 2-3 อย่าง อย่างแรกคือ มีจมูกแบนยาวซึ่งเต็มไปด้วยต่อมรับไฟฟ้า นั่นหมายความว่า ปลาชนิดนี้สามารถรับรู้ถึงสนามไฟฟ้าได้

นอกจากนี้ ยังมีกรามที่เต็มไปด้วยฟันแหลมคม ที่สามารถตะครุบเหยื่อได้อยู่หมัด นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปลาฉลามก็อบลินเป็นนักล่าที่อันตรายอย่างมากในท้องทะเลลึก มีโอกาสพบได้ที่มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย

แมงดา (Horseshoe crab)

มองไม่ผิด ยำแมงดาที่เรากินกินอย่างเอร็ดอร่อยคือสัตว์โบราณชนิดหนึ่งของโลก ที่รูปร่างหน้าตาไม่ได้เปลี่ยนแปลงแม้แต่น้อย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ล้านปี แมงดาปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อ 300 ล้านปีก่อน

แมงดาอยู่มาตั้งแต่ 300 ล้านปีก่อน Cr. wikimedia / shubham Chatterjee

หลัก ๆ แล้ว แมงดามีอยู่สี่สายพันธุ์ ได้แก่ แมงดาแอตแลนติก (Limulus polyphemus) แมงดาอินโดแปซิฟิกหรือแมงดาจาน (Tachypleus gigas) แมงดาญี่ปุ่น (Tachypleus tridentatus) และ แมงดาถ้วย (Carcinoscorpiu rotundicauda)

แมงดามีกระดองที่แข็งแรง มีทั้งหมด 10 ขาไว้ใช้เดิน และมีขา 1 คู่ เอาไว้ใช้หยิบเอาอาหารเข้าปาก เราเรียกว่า chelicerae

กบสีม่วง (The Purple Frog)

กบสีม่วง หรืออีกชื่อคือ กบจมูกหมู จะว่าน่ารักก็ใช่ จะว่าน่าชังก็ไม่ผิดนัก กบชนิดนี้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่หาได้ยากในวงศ์ Nasikabatrachidae เห็นแบบนี้ กบสีม่วงตั้งรกรากบนโลกมาเป็น 100 ล้านปีแล้ว

กบสีม่วงอยู่มาตั้งแต่ 100 ล้านปีก่อน Cr. wikimedia / karthickbala

ครั้งล่าสุดที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบกบสายพันธุ์นี้ คือพบในพื้นที่ตะวันตกของประเทศอินเดีย เมื่อปี 2003 สันนิษฐานว่า กบสีม่วงใช้เวลาอยู่ใต้ดินเป็นส่วนใหญ่เพื่อผสมพันธุ์ แต่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

หากดูจากลักษณะภายนอก จะมีสีผิวมันวาว สีออกม่วงเข้มไปถึงดำ มีลำตัวป่อง อวบอ้วน ขาสั้น หัวเล็ก และมีใบหน้าที่แอบคล้ายหมูเล็กน้อย

มังกรโคโมโด (Komodo)

มังกรโคโมโดเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษรุนแรง นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เผ่าพันธุ์ของนักล่ารายนี้ น่าจะมีชีวิตมาตั้งแต่ช่วง 100 ล้านปีก่อน (ค้นพบฟอสซิลที่ออสเตรเลีย)

มังกรโกโมโดอยู่มาตั้งแต่ 100 ล้านปีก่อน Cr. Flickr

ทว่า ปัจจุบันนี้พบได้มากที่ประเทศอินโดนิเซีย บนหมู่เกาะ Lesser Sunda และเกาะโคโมโด สัตว์โบราณชนิดนี้ ถือเป็นจิ้งจกไซส์ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสามารถเติบโตจนมีความยาวได้ถึง 3 เมตร หนักประมาณ 150 กิโลกรัม 

เรานำวิดีโอการล่าเหยื่อของมังกรโคโมโดมาให้ได้ชมกัน จะได้เห็นว่า จิ้งจกยักษ์รายนี้ โหดเหี้ยม ทารุณมาก และเป็นอันตรายมากแค่ไหน บอกได้เลยว่า เห็นแล้วมีขนลุกแน่นอน

*ขอบคุณคลิปจาก How To Survive

ตุ่นปากเป็ด (platypus)

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อ 110 ล้านปีก่อนในยุคครีเทเชียส (145 – 66 ล้านปีก่อน) ปัจจุบันนี้ สามารถพบตุ่นปากเป็ดได้แค่เฉพาะที่แถบตะวันออกของประเทศออสเตรเลียเท่านั้น

หากใครจำกันได้ ไม่นานมานี้ มีการค้นพบตัวตุ่น Attenborough เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี เพราะคนเชื่อกันว่าพวกมันน่าจะสูญพันธุ์กันไปแล้ว ปรากฏว่าได้ยลโฉมอีกครั้ง สามารถดูคลิปได้ด้านล่าง

ตุ่นปากเป็ดอยู่มาตั้งแต่ยุคครีเทเชียส (145 - 66 ล้านปีก่อน) Cr. Flickr / hobvias sudoneighm

ตัวตุ่นปากเป็ดมีลำตัวแบน หัวท้ายเรียว มีความยาวเฉลี่ย 50 เซนติเมตร หนักได้ถึง 1 – 2 กิโลกรัม โดยปกติแล้ว ตัวตุ่นปากเป็ดมักออกหากินในเวลากลางคืน ตามแหล่งน้ำจืดเช่น ลำธาร แม่น้ำ ทะเลสาบ

กระต่ายอามามิ (Amami Rabbit)

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pentalagus furnessi เป็นกระต่ายดึกดำบรรพ์สายพันธุ์สุดท้ายที่ยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน

กระต่ายอามามิอยู่มาตั้งแต่ยุคไพลสโตซีน (2.6 ล้าน - 11,700 ปีก่อน) Cr. Flickr / Okinawa Nature Photography

นักวิทยาศาสตร์คาดว่า กระต่ายอามามิมีชีวิตอยู่ในช่วงโพลสโตซีน (Pleistocene) ประมาณ 2.6 – 11,700 ปีก่อน นับเป็นสัตว์โบราณชนิดหนึ่งของโลกที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน กระต่ายอามามิอาศัยอยู่บนเกาะเล็ก ๆ นอกชายฝั่งของประเทศญี่ปุ่น ณ ขณะนี้มีการประเมินว่า ประชากรของกระต่ายชนิดนี้เหลือเพียงแค่ราว ๆ 5,000ตัวเท่านั้น

หนูหิน (Laotian rock rat)

หนูหิน ที่ไม่ใช่หนูหิ่น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Laonastes aenigmamus ถอดความได้ว่า ผู้อาศัยอยู่ในหิน (คำแรก) และ หนูประหลาด (คำหลัง)

หนูหินอยู่มาตั้งแต่ 11 ล้านปีก่อน Cr. Cerec

หนูชนิดนี้มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีขนปกคลุมสีดำ-เทาทั้งตัว ทว่า มีหางคล้ายกับกระรอก มีอุ้งเท้าคล้ายเป็ด ทำให้เดินได้ช้า และไม่มีความสามารถในการปีนป่ายเหมือนหนูทั่ว ๆ ไป

หนูหินถือเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่ามีชีวิตอยู่มาตั้งแต่ช่วง 11 ล้านปีก่อน โดยศึกษาจากซากฟอสซิลที่พบในมณฑลซานตง ทางตอนใต้ของประเทศจีน

แมลงสาบ (Cockroaches)

หนึ่งในสัตว์ทีน่าจะมีคนเกลียดชังเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยกลิ่น รูปลักษณ์ ที่ชวนขนลุกเป็นไหน ๆ หากย้อนดูความเป็นมาแล้ว แมลงสาบถือเป็นหนึ่งในแมลงที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก

แมลงสาบอยู่มาตั้งแต่ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (354 – 295 ล้านปีก่อน) Cr. wikimedia / Gary Alpert

บันทึกซากฟอสซิลของแมลงสาบที่มีการค้นพบ บ่งชี้ว่า แมลงชนิดนี้น่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วง 300 ล้านปีก่อน ความรู้ ณ ปัจจุบัน ระบุว่า โลกของเรามีแมลงสาบทั้งหมด 4,000 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนัก

อาร์ดวาร์ก (Aardvark)  

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Orycteropus afer พบได้มากในทวีปแอฟริกา ชื่อ “อาร์ดาร์ก” แปลว่า หมูดิน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ชอบออกหากินในเวลากลางคืน (Nocturnal) ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อ 50 ล้านปีก่อน

อาร์ดวาร์กพบครั้งแรก 50 ล้านปีก่อน Cr. wikimedia / Kelly Abram

หมูดินรายนี้ มีจมูกและปากยาวลักษณะคล้ายท่อ มีฟันเป็นลักษณะคล้ายรูปหกเหลี่ยม จำนวน 20 ซี่ มีใบหูยาวคล้ายลา

อาร์ดวาร์กเป็นสัตว์ที่มีประสาทการรับกลิ่นและฟังชั้นยอด สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของแมลงใต้ดินได้ หูฟัง จมูกดม และยังเป็นนักเดินตัวจริง เพราะมีการบันทึกว่า ในหนึ่งวันหมูดินเดินหาอาหารไกลถึง  48 กิโลเมตร เทียบเท่า full marathon เลยทีเดียว

 

 

 

ที่มา: Live Science

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related