svasdssvasds

รวมมรสุมคดีที่ "แพทองธาร" โดนฟ้อง ตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รวมมรสุมคดีที่ "แพทองธาร" โดนฟ้อง ตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รวมมรสุมคดีที่ "แพทองธาร" โดนฟ้อง ตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 1 ก.ค.นี้ ศาลรธน.ชี้ชะตานายกฯ ปมคลิปเสียงสนทนา“ฮุนเซน” ป.ป.ช.รับตรวจสอบ “จริยธรรมร้ายแรง” รวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่อผิดรัฐธรรมนูญ ม. 144 หรือไม่

ในขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังเดินหน้าปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเคร่งเครียด ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ภายหลังจากที่พรรคภูมิใจไทยถอนตัว โดยอ้างสาเหตุจากคลิปเสียงสนทนา “แพทองธาร-ฮุน เซน” ที่หลุดว่อนสื่อสังคมออนไลน์ ส่งผลให้อุณหภูมิการเมืองร้อนระอุ

ต่อมานายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้ยื่นคำร้องในนาม สมาชิกวุฒิสภา 36 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีบทสนทนากับ สมเด็จฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา เข้าข่ายให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีกำหนดการประชุมพิจารณาคดี ในวันอังคารที่ 1 ก.ค. 2568 ซึ่งเป็นที่จับตามองจากสังคมว่า จะเป็นวันสำคัญที่ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” จะพิจารณารับคำร้องกรณีถอดถอนนายกฯ ออกจากตำแหน่งหรือไม่ 

อีกด้านหนึ่ง ในหน่วยงานตรวจสอบอย่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2568 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเอกฉันท์รับเรื่องคลิปเสียงสนทนาระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ  และ สมเด็จฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเบื้องต้น หลังพบอาจเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 

ป.ป.ช.กำหนดให้ดำเนินการตรวจสอบภายใน 10 วัน โดยให้ถอดเทปเสียงพร้อมแปลภาษากัมพูชาอย่างถูกต้อง สอบพยานที่เกี่ยวข้อง และศึกษาข้อกฎหมายโดยเทียบเคียง กับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติจากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี

 

สถานการณ์ทางการเมืองมาถึงจุดที่รัฐบาลภายใต้การนำของ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ได้เดินมาถึงจุดที่มีมรสุมรุมเล้าชนิดที่คาดไม่ถึง 

รวมมรสุมคดีที่ "แพทองธาร" ตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

1. คดีถือหุ้น “อัลไพน์ กอล์ฟฯ”

  • ยื่นฟ้อง 28 ส.ค. 2567 โดย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ต่อ กกต.
  • ประเด็น : เข้าข่ายขาดคุณสมบัติตาม ม.160/170 รธน. เนื่องจากถือหุ้นช่วงรับตำแหน่ง
  • สถานะ : กกต. ตรวจสอบ–หากชี้มูล อาจถูกฟ้องศาลรัฐธรรมนูญและพ้นตำแหน่ง

2. คดีถือหุ้น “ประไหมสุหรี พร็อพเพอร์ตี้” 

  • ประเด็น: ถือหุ้นเกิน 5% ขัด พ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินรัฐมนตรี
  • ปัจจุบัน : ป.ป.ช. ไต่สวนเบื้องต้นแล้ว 12 ก.ย. 2567 

3. คดี “PN Transfer” (ตั๋วสัญญาใช้เงิน)

  • ยื่นฟ้อง : ป.ป.ช. เริ่มตรวจสอบ ต.ค. 2567
  • ประเด็น : หุ้นกว่า 4.4 พันล้านในครอบครัว อาจเป็น “นิติกรรมอำพราง” หลบเลี่ยงภาษี 
  • สถานะ : อยู่ระหว่างตรวจสอบ–ส่งให้กรมสรรพากรพิจารณาร่วม

4. คดีโครงการ “เงินดิจิทัล 10,000/35,000 ล้านบาท”

  • ยื่นสอบ: ม.ค. 2568 โดยฝ่ายค้าน - ผู้ตรวจการแผ่นดิน
  • ข้อกล่าวหา: ใช้งบผิดประเภท ขัด ม.144 รธน.
  • สถานะ: ป.ป.ช. รับเรื่องตรวจสอบแล้ว 

5. คดี “คลิปเสียงสนทนา ฮุน เซน”

  • ยื่นสอบ : 19 มิ.ย. 2568 โดย สมชาย แสวงการ, นิติธร ล้ำเหลือ, คมสัน โพธิ์คง
  • ศาลรัฐธรรมนูญ : มงคล สุระสัจจะ ยื่นคำร้องถอดถอนด้วย ม.160/170
  • ข้อกล่าวหา: ความผิด ม.120–128 กระทบความมั่นคงชาติ
  • สถานะ : ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณา

6. คดีถอดถอนนายกฯ (คลิปเสียงฮุนเซนและงบประมาณ)

  • ยื่นโดย: มงคล สุระสัจจะ ในฐานะ ส.ว. (ร่วม 36 คน)
  • ข้อกล่าวหา: ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง, ถอดถอนตาม ม.160/170
  • สถานะ : ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณา 1 ก.ค. 2568
related