สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบนโยบายพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ เน้นเข้าถึงประชาชน พร้อมขับเคลื่อนสู่เทรนด์พลังงานสะอาด
วันนี้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานมอบนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานที่ผันผวน ให้แก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานรวมถึงพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด ในการประชุมเชิงปฏิบัติการในการขับเคลื่อนแผนพลังงานชาติและภารกิจกระทรวงพลังงานในส่วนภูมิภาค
ราคาพลังงานยังผันผวน ต้องไม่ประมาท
สุพัฒนพงษ์ระบุว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่มีความผันผวนสูงตั้งแต่ต้นปี 2565 และสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ในระยะสั้น กระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนครบทุกด้านทั้งเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ด้วยการใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ ขณะเดียวกัน ก็ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยลดค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองผ่านการประหยัดพลังงาน
ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจประชาชนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มาตรการความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐมีอะไรบ้าง จะต้องอาศัยการตอกย้ำ ในการทำความเข้าใจ เพราะภาวะที่เกิดขึ้นนี้กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน กระทรวงพลังงานต้องเปิดรับฟัง
บทความที่น่าสนใจ
“อุตตม-สนธิรัตน์” จวกรัฐบาล บอก บริหารงานเศรษฐกิจล้มเหลว ทำค่าไฟ-แก๊สแพง
ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้สิทธิ ส่วนลดเพิ่ม แก๊สหุงต้มได้ ปลายตุลาฯ นี้
เปิดแล้ว! งาน SETA 2022 ชูนวัตกรรมกักเก็บพลังงาน หนุนไทยสู่ Net Zero
นโยบายระยะยาว มุ่งสู่พลังงานสะอาด
ในระยะยาว รูปแบบการทำงานของกระทรวงพลังงานจะเปลี่ยนแปลงไป นโยบายพลังงานจะมุ่งสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ซึ่งรัฐบาลไทยได้ประกาศไว้ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) มีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งถือเป็นกติกาสากลที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อไม่ให้ถูกกีดกันทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต เรื่องนี้จึงมีความสำคัญ
ต่อจากนี้ไปเรื่องพลังงานสะอาดจะเป็นนโยบายหลัก ในแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศมีการกำหนดสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดไว้ถึง 50% จะมีพลังงานหมุนเวียนที่มีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นมากขึ้น อาทิ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม การติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ ดังนั้น พลังงานจังหวัดในพื้นที่จะต้องเตรียมตัวทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อสร้างให้เกิดความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน
พลังงานจังหวัดจะต้องมีส่วนร่วมในการสำรวจศักยภาพ ความพร้อมของพื้นที่และแจ้งให้กระทรวงพลังงานรับทราบด้วย เพื่อเป็นข้อมูลในการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และสนับสนุนการผลิตพลังงานสะอาดต่อไป
“ตนอยากให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนพลังงานจังหวัดของกระทรวงพลังงานที่มีอยู่ทั่วประเทศได้สัมผัส ได้เข้าถึงประชาชนให้มากๆ ต้องพร้อมรับฟัง พร้อมอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์ด้านพลังงาน มาตรการด้านพลังงานต่างๆ แม้จะต้องทำซ้ำๆ ทุกวันก็ตาม
“เพราะการได้เข้าไปพูดคุยรับฟังอธิบายเล่าสู่กันฟังก็จะช่วยสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้น ช่วยจุดประกายความหวังในยามวิกฤตเช่นนี้ได้ และยังช่วยให้กระทรวงฯ ทราบถึงความต้องการของพื้นที่ ทำให้การดำเนินการต่างๆ ในพื้นที่ได้รับความร่วมมือที่ดีจากภาคประชาชน
“พลังงานจังหวัดต้องเร่งทั้งประชาสัมพันธ์การประหยัดพลังงาน ให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องการส่งเสริมพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า กระทรวงพลังงานให้ความสนใจ พร้อมจะแนะนำและให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนตามศักยภาพของประชาชนและพื้นที่” สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ กล่าว