svasdssvasds

Zoochosis โรคเครียดในสัตว์ที่ถูกจับขังกรง ส่งผลต่อพฤติกรรม-สมอง

Zoochosis โรคเครียดในสัตว์ที่ถูกจับขังกรง ส่งผลต่อพฤติกรรม-สมอง

Zoochosis โรคที่เกิดจากบาดแผลทางจิตใจในสัตว์ที่ถูกจับขังใส่กรง จนเกิดความเครียดสะสม สัญชาตญาณสัตว์ลดทอน ส่งผลต่อพฤติกรรมและโครงสร้างทางสมอง สุขภาพอ่อนแลลง

เคยสังเกตพฤติกรรมแปลกๆ ของสัตว์ที่อยู่ในกรงขังกันมั้ย เช่น วิ่งวนไปวนมา หรือทำสิ่งเดิมซ้ำๆ นี่เป็นสัญญาณบอกว่าพวกเขากำลังเผชิญกับโรค Zoochosis ที่เป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจในสัตว์ ความเครียดที่แสดงผ่านออกมาทางพฤติกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งก็หมายถึงว่าการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ ความเป็นอยู่ของพวกเขานั้นกำลังวิกฤตและมีปัญหา

ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ในสวนสัตว์ ละครสัตว์ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ก็ตามการได้ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณ อยู่กับธรรมชาติ มีพื้นที่กว้างใหญ่ได้เดินอย่างมีอิสระ สร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับตัวอื่น เรียนรู้แก้ปัญหาเพื่อเอาตัวรอด และได้ใช้ประสาทสัมผัสอย่างเต็มศักยภาพ การถูกจองจำนอกจากพรากอิสรภาพยังรวมถึงคุณภาพชีวิตที่ต้องพึ่งพารายได้จากมนุษย์ที่จับจองพวกเขาอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อะไรเป็นสัญญาณของโรค Zoochosis (ซู-โค-ซิส) 
แม้แต่ในสวนสัตว์ที่มีการดูแลอย่างดีที่สุด แต่สัตว์แต่ละสายพันธุ์ก็มีความต้องการทางร่างกายและจิตใจเป็นของตัวเองไม่เหมือนกัน ซึ่งพื้นที่หลังกรงไม่สามารถตอบสนองได้ทั้งหมด พฤติกรรมที่เข้าข่าย การเกิด  Zoochosis (ซู-โค-ซิส) ประกอบด้วย 

 

  • การเดินกลับไปกลับมา
  • แทะกัดบาร์ที่มีไว้สำหรับเกาะหรือโหน
  • น้อมตัวเอนไปมา
  • โยกตัวกลับไปกลับมา 
  • ทำร้ายตัวเอง
  • การดูแลส่วนตัวมากเกินไป
  • การสำรอกอาหารที่กินเข้าไปออกมากลืนเข้าไปใหม่อีกครั้ง

ข้อมูลจากเว็บไซต์ idausa.org ที่ย่อมาจาก In Defense of Animals ระบุ สาเหตุของโรค Zoochosis นั้นมาจากการถูกจองจำไว้หลังกรงขังนั่นเอง 

  • การถูกแยกพวกเขาออกจากครอบครัวและเพื่อนฝูง
  • การโดนมนุษย์จับให้ทำการผสมพันธุ์ โดยพวกเขาไม่ได้เลือกคู่เอง
  • การผสมเทียมที่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศ
  • การโดนจำกัดความเคลื่อนไหวและกิจกรรมประจำวันที่เคยทำ 

การถูกกำจัดอิสรภาพต่างๆ ที่กล่าวมากรอบให้อยู่ในพื้นที่คับแคบและน่าเบื่อ เป็นเวลานานต่อเนื่องจึงกลายเป็นความเจ็บป่วยทางใจตามมา

เหล่านี้จากงานวิจัยพบว่าได้สร้างอันตรายทั้งในทางกายภาพต่อโครงสร้างสมอง และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ของสัตว์เหล่านี้ไป 

การเปลี่ยนแปลงทางสมองของสัตว์ที่ถูกขัง
การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดและไม่ได้มีการกระตุ้นในเกิดการคิดตัดสินใจ มีผลกับความหนา-บางของเยื่อหุ้มสมอง ทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลงผลจากเส้นเลือดฝอยที่บางลง ในส่วนของเปลือกสมองที่บางลง มีความเกี่ยวข้องกับสมองในการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ และการทำงานที่ซับซ้อนขึ้นอาจส่งผลให้มีการตัดสินใจที่ไม่ดีและความจำแย่ลง

ความเครียดเรื้อรังจากการถูกขังในกรงภายใต้สภาพแวดล้อมที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมหรือจัดการอะไรภายในได้เลย จนทำให้ทำอะไรเองไม่เป็น ความบอบช้ำทางจิตใจ ส่งผลต่อสมองส่วนฮิปโปแคมปัสซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ และต่อมทอนซิลซึ่งประมวลผลอารมณ์ ผลก็คือ ความจำและอารมณ์ของสัตว์ที่ถูกจองจำนั้นไม่ปกติ และสัตว์บางตัวก็แสดงออกมาว่าไม่สามารถคาดเดาอารมณ์ได้

ความเครียดเป็นเวลานานยังทำลายสมดุลของเซโรโทนินและโดปามีนในสมองของสัตว์ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดพฤติกรรมซ้ำๆและมักกลายเป็นการทำลายข้าวของเสียหาย รวมถึงตัวพวกเขาเอง

การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของสัตว์ที่ถูกขัง
ในเบื้องต้น สัตว์จะสูญเสียพฤติกรรมตามธรรมชาติบางอย่าง เช่น การหาอาหาร การหลีกเลี่ยงผู้ล่า และการเลี้ยงลูก โดยแทนที่ด้วยพฤติกรรมรุนแรงทำลายล้างอันเนื่องมาจากความเครียดสะสมและความเบื่อหน่าย เกิดเป็นพฤติกรรมใหม่ที่อาจสร้างความเจ็บปวดทางร่างกายให้ตัวเอง เช่น การการแทะลูกกรงและวิ่งชนกำแพง

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะมองมุมไหนการจับสัตว์มาขังไว้ในกรงก็สร้างบาดแผลให้กับพวกเขา เพราะสัตว์ก็เหมือนมนุษย์ที่ต้องการอิสระในการใช้ชีวิตที่ต้องการ ได้คิดและตัดสินใจ โดยไม่มีซี่กรงเหล็กมาปิดกั้นไว้แต่การจะแบนไม่ให้มีสวนสัตว์อีกเลยก็ดูจะสุดโต่งอยู่สักหน่อย การไม่สนับสนุนสวนสัตว์ที่ไม่ดูแลสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ที่ดีพอ หรือ เมื่อพบพฤติกรรม Zoochosis (ซู-โค-ซิส) ของสัตว์ก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบ เช่น สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เว็บไซต์ www.thaispca.org
https://www.thaifranchisecenter.com/links/show.php?id=723

สมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย)
https://www.facebook.com/thaiagafanpage/

เพื่อให้เกิดการปรับปรุงที่ดีขึ้น อาจช่วยเซฟสัตว์เหล่านั้นได้อีกทาง

ตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เป็นกฎหมายใหม่คุ้มครองสัตว์โดยแบ่งประเภทเป็น 

  1. สัตว์บ้าน 
  2. สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน 
  3. สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ 
  4. สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน 
  5. สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร 
  6. สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง 
  7. หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด

จุดประสงค์ของกฎหมาย คือ เพื่อป้องกันการทารุณกรรมสัตว์โดยฝีมือมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าของสัตว์ ที่ปล่อย ละทิ้ง ไม่ดูแลสัตว์ และเพื่อปกป้องมนุษย์จากความเสียหายในทรัพย์สินหรือร่างกายที่เกิดจากสัตว์ด้วยเช่นกัน

ที่มา

idausa.org

worldatlas.com

worldanimalprotection.us

related