svasdssvasds

สภาพัฒน์ โต้ธนาคารโลก ความเหลื่อมล้ำรายได้ในไทย ไม่ได้สูงที่สุดในภูมิภาค

สภาพัฒน์ โต้ธนาคารโลก ความเหลื่อมล้ำรายได้ในไทย ไม่ได้สูงที่สุดในภูมิภาค

เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดข้อมูลโต้รายงานธนาคารโลก ยันความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในไทยไม่ได้สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ก่อนชี้แจง ปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนขึ้นมาทันที หลังจากธนาคารโลก ได้ออกรายงาน “Thailand Rural Income Diagnostic: Challenges and Opportunities for Rural Farmers” ที่ระบุว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงมี่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ล่าสุด ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตามรายงานของธนาคารโลก "Thailand Rural Income Diagnostic: Challenges and Opportunities for Rural Farmers” เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ระบุถึงความยากจน ความแตกต่างกันของความยากจนระหว่างพื้นที่ และสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของรายได้ในประเทศไทยนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขอชี้แจงถึงข้อเท็จจริงตามประเด็นต่าง ๆ ที่รายงานฉบับนี้ได้รายงานไว้ โดยสรุปดังนี้

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สถานการณ์ความยากจนและผลกระทบของ COVID-19

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยหดตัวอย่างรุนแรง โดยในปี 2563 หดตัวถึงร้อยละ 6.2 และส่งผลให้ผู้ว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 74.4 (อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 1.0 เป็น ร้อยละ 1.69)

ส่งผลให้สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.26 ในปี 2562 (จำนวนคนจน 4.3 ล้านคน) เป็นร้อยละ 6.83 ในปี 2563 (จำนวนคนจน 4.7 ล้านคน) อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 สถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยสัดส่วนคนจนลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.32 หรือมีคนจนเหลือเพียง 4.4 ล้านคน เท่านั้น

เลขาธิการ สศช. กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ที่กลับภูมิลำเนาส่วนใหญ่มักไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร หรือกล่าวได้ว่าภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่ดูดซับประชากรที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งในช่วงปี 2563 ภาคเกษตรได้รับอานิสงค์จากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2563 พบว่า ภาพรวมการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรลดลงจากในช่วงต้นของการระบาดของ COVID-19 ที่มีการจำกัดการเดินทางระหว่างพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ยในปี 2563 ขยายตัวถึงร้อยละ 6.05 และส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้นสะท้อนจากดัชนีรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.27 ในปี 2563

ทั้งนี้ หากพิจารณารายได้ต่อหัวระหว่างปี 2562 และ 2564 พบว่า คนที่อาศัยนอกเขตเทศบาลเป็นกลุ่มที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่อาศัยในเขตเทศบาล โดยในปี 2562 รายได้เฉลี่ยของคนที่อาศัยนอกเขตเทศบาลอยู่ที่ 7,588 บาท บาทต่อคนต่อเดือน และเพิ่มขึ้นเป็น 8,130 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2564 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.14 ขณะที่คนที่อาศัยในเขตเมืองมีรายได้อยู่ที่ 11,712 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2562 และเพิ่มเป็น 12,018 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.61 เท่านั้น และเมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่า ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีปัญหาความยากจนสูงที่สุด โดยมีสัดส่วนคนจนร้อยละ 11.6 (จำนวนคนจน 1.1 ล้านคน) รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร โดยมีสัดส่วนคนจนร้อยละ 11.5, 6.84, 3.24 และ 0.49 ตามลำดับ

สำหรับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ พิจารณาจากค่าสัมประสิทธิความไม่เสมอภาคจินีมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามจากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.429 ในปี 2562 เป็น 0.430 อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเปรียบเทียบในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จากข้อมูลที่ปรากฏในฐานข้อมูลของธนาคารโลก พบว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

สภาพัฒน์ โต้ธนาคารโลก ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในไทย ไม่ได้สูงที่สุดในภูมิภาค

สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย

เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.2 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.2 ในปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน และในปี 2563 -2564 เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทย รัฐบาลได้มีการดำเนินมาตรการเพื่อลดกระทบและเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาด อาทิ โครงการเราชนะ โครงการ ม. 33 เรารักกัน และโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ รวมถึงการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท และพระราชกำหนดให้อำนาจ

กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค รวมทั้งมาตรการต่างๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้น และช่วงครึ่งหลังของปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มลดระดับความรุนแรงลง มีการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 6.2 ในปี 2563  อัตราการว่างงานปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ในไตรมาสที่สุดท้ายของปี 2564 จากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ยังคงได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากปีก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ตามลำดับ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ต่ำสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด

ที่มา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

related