svasdssvasds

ทำไมข้าวหอมมะลิไทย แพ้ผกาลำดวนของกัมพูชา เพราะกลิ่น

ทำไมข้าวหอมมะลิไทย แพ้ผกาลำดวนของกัมพูชา เพราะกลิ่น

อนาคตการส่งออกข้าวไทยจะเป็นอย่างไร? หลังปีนี้ ข้าวหอมมะลิไทย แพ้ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน เพราะกลิ่นของผกาลำดวนหอมกว่า Springnews พาไขคำตอบทำไมกลิ่นข้าวไม่หอมเหมือนเก่า?

เกิดเป็นกระแสร้อนแรงอีกครั้งในกลุ่มของเกษตรกรและผู้ติดตามข่าวสารเรื่องข้าว เนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ในการประชุมข้าวโลก ประจำปี 2022 หรือ (The World’s Best Rice 2022) ผลการประกวดสายพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในโลก ปรากฎว่า ข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยชวดแชมป์ เสียท่าให้ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน (Phaka Rumduol) จากกัมพูชาชนะพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2022 ไปครอง

ข้าวผกาลำดวน (Phaka Rumduol) จากกัมพูชา ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีมานมนานแล้วว่า ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและขึ้นชื่อเรื่องข้าวในภูมิภาคเอเชียมาตลอดหลายปี แถมความหอมความนิ่มก็ไม่เป็นรองใครเลย แต่ดันมาพลาดท่าให้กับข้าวผกาลำดวนของกัมพูชาซะนี่ จึงทำให้มีหลายเสียงวิเคราะห์และวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หลากหลายความคิดเห็นเลยว่า แพ้เพราะอะไร ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสิน

อนึ่ง ผลการตัดสินโดยเชฟชาวอเมริกัน ได้ให้ความเห็นว่า ผลคะแนนระหว่างข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยกับหอมมะลิผกาลำดวนของกัมพูชา เชือดเฉือนกันเพียง 1 คะแนนเท่านั้น และข้าวกัมพูชาชนะข้าวไทย ด้วยกลิ่น! และเพราะคำตัดสินที่แพ้ชนะกันด้วยกลิ่นนี้เอง ก็ทำให้ผลการตัดสินนั้นยังคงถูกพูดถึงอย่างไม่หยุดหย่อน จนนำไปสู่การหาคำตอบว่า ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินและทำไมข้าวไทยถึงไม่หอมเหมือนแต่ก่อน? Springnews สรุปให้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นแรก ตัดสินอย่างไร?

วันนี้ (23 พ.ย. 2565) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้อธิบายผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ที่ผกาลำดวน ชนะข้าวหอมมะลิไทยไปได้ ซึ่งตนก็มองว่า ผลการตัดสินนี้เป็นผลตัดสินที่ชัดเจน โดยหลายปีที่ผ่านมาข้าวหอมมะลิไทยก็ได้ชนะประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกมาแล้วถึง 7 ครั้ง และแน่นอนว่า ขึ้นชื่อว่า ‘การประกวด’ ก็ย่อมมีแพ้มีชนะ

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประเด็นที่สอง จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในอนาคตหรือไม่?

นายกีรติ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทยแน่นอน เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามดูแลคุณภาพ มาตรฐานของข้าวไทยมาตลอด จึงเชื่อมั่นได้ว่าลูกค้ายังเชื่อมั่นในข้าวไทย และมาตรฐานการส่งออกอยู่ รวมถึงในอนาคต จะมียุทธศาสตร์ข้าวเพิ่ม โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ได้ 12 สายพันธุ์ ซึ่งตอนนี้พัฒนาไปได้แล้ว 6 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นข้าวที่นุ่ม เหมาะสมกับความต้องการของตลาดโลก

แนวโน้มการส่งออกข้าวในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าว โดยภาคเอกชนมองว่าในปี 2566 จะมีการส่งออกข้าวอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านตัน หากปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อข้าวจริง ๆ คาดว่าจะเป็นเรื่องของค่าเงินที่ผันผวน กำลังการซื้อของผู้บริโภค ตลาดนำเข้ามีหลากหลายประเทศ อีกทั้งคู่แข่งยังมีการพัฒนาที่ดีขึ้นมาก และยังต้องจับตาดูการแข่งขันข้าวอย่างใกล้ชิด

ส่วนสถานการณ์การส่งออกข้าวในปีนี้ 2565 การส่งออกถือว่าขยายตัว และเรายังสามารถรักษาตลาดเดิมได้ เช่น ตลาดอิรัก ซึ่งมีการนำเข้าข้าวไทยมากกว่า 1 ล้านตัน แต่แน่นอนว่า การส่งออกข้าวในอนาคตทางกระทรวงจะร่วมหารือกับกรมการค้าต่างประเทศและผู้ส่งออก ถึงกลยุทธ์เชิงรุกและลึก ควบคู่ไปกับการหาตลาดใหม่ การรักษาตลาดเดิม และการรักษามาตรฐานคุณภาพข้าวให้เป็นที่ยอมรับของตลาดต่อไป

ทำไม ข้าวไทย กลิ่นหอมน้อยลง?

ในเรื่องนี้ เพจเว็บไซต์เรื่องเล่าข่าวเกษตรได้ไปหาคำตอบมาให้กับผู้ติดตาม ว่าทำไม การแข่งขันข้าวในปีนี้ ความหอมของข้าวไทยจึงแพ้ผกาลำดวนของกัมพูชาในเรื่องของกลิ่นหลังหุง ซึ่งทางเพจก็ได้มีการสัมภาษณ์ไปยัง นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์  อธิบดีกรมการข้าว ซึ่งก็ได้ไขข้อข้องใจให้เราได้รับรู้ โดยมีใจความว่า

ข้าวหอมมะลิไทยที่มีชื่อเสียงในการส่งออกมากที่สุด คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 รองลงมาคือ กข15 โดยเฉพาะนางเอกตลอดกาล คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ครองความนิยมในใจของผู้บริโภคมานาน 60 ปี นับตั้งแต่ผ่านการรับรองพันธุ์

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์  อธิบดีกรมการข้าว Cr. ฐานเศรษฐกิจ

แต่ทว่าในระยะหลัง ความหอมของข้าวไทยนั้นมีน้อยลง ซึ่งสามารถแยกปัจจัยออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ

ประเด็นที่หนึ่ง คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในปัจจุบัน กรมการข้าวมีงานวิจัยเรื่องความหอมข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งก็ได้ยืนยันแล้วว่าพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เมล็ดพันธุ์แท้จากกรมการข้าว ไม่พบว่ามีความแปรปรวนของลักษณะสรีระและทางพันธุกรรม รวมทั้งลักษณะทางการการเกษตรแต่อย่างใด และได้พิสูจน์ความหอมแล้วยังมีความหอมเหมือนเดิมไม่น้อยลง

ประเด็นที่สอง ปัญหาความหอมของข้าวที่ลดลง จากงานวิจัยที่ทำการศึกษา พบว่าคุณภาพเมล็ดทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และความหอมของพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 ที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนมีความแปรปรวน โดยเฉพาะความหอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการในแปลงนาและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

ดังนั้น โดยรวมแล้ว พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จึงถูกเลือกเนื่องจากการคัดเลือกจากพันธุ์พื้นเมืองที่สามารถปรับตัวได้ดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน เป็นข้าวที่ไวต่อแสง ต้นสูง และฟางข้าวอ่อนล้มได้ง่าย แถมยังเหมาะสมที่จะปลูกในดินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ ยังให้ในช่วงข้าวออกดอกซึ่งเป็นระยะที่ข้าวสะสมแป้งน้ำในนาจะซึมลงใต้ดิน ทำให้น้ำไม่ขังแปลง เกิดสภาวะที่เหมาะสมต่อการสร้างสารหอมระเหย 2 AP (2-Acetyl-1-Pyrroline) จึงทำให้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีความหอมมาก อีกทั้งในช่วงข้าวสะสมแป้งเป็นช่วงฤดูหนาวอากาศเย็น หากปีใดมีอากาศเย็น (อุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส) ในช่วงระยะเวลายาวนานจะทำให้สารหอมระเหยในข้าวจะคงอยู่ในเมล็ดข้าวได้มาก ผลผลิตข้าวปีนั้นจะหอมมากกว่าปีที่มีอากาศร้อน

ทำไมข้าวหอมมะลิไทย แพ้ผกาลำดวนของกัมพูชา เพราะกลิ่น

แผนพัฒนาพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวจะเป็นอย่างไรต่อไป?

  1. การจัดการน้ำ การระบายน้ำออกจากแปลงนาหลังระยะออกดอก 7 วัน จะทำให้การสร้างสารหอมระเหยสูงขึ้น คุณภาพการสี และคุณภาพหุงต้มรับประทานดีขึ้น
  2. การจัดการธาตุอาหารในดิน ธาตุหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแตสเซียม และธาตุรอง ได้แก่ แคลเซียม ซัลเฟอร์ แมงกานีส และแมกนีสเซียม ที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละชุดดิน จะทำให้ข้าวสร้างสารหอมระเหยสูงขึ้น
  3. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อช่วยรักษาความหอม ต้องเก็บเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง คือระยะ 25-30 วันหลังออกดอก
  4. การจัดการเก็บรักษาข้าวสารเพื่อช่วยรักษาความหอมข้าวให้นานขึ้น โดยสภาพปกติเก็บควรเก็บข้าวสารไม่เกิน 5 เดือน หากเป็นไปได้เก็บในที่ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ยาวนานกว่าสภาพปกติและคงคุณภาพที่ดีกว่า

ส่วนคำถามว่าสถานการณ์ผลิตข้าวหอมมะลิปัจจุบันนี้ เอื้อต่อการรักษาคุณภาพความหอมหรือไม่ เนื่องจากมีข้อสังเกตว่ากระบวนการผลิตข้าวในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากในอดีตหลายด้าน โดยเฉพาะการนำเครื่องเกี่ยวนวดมาใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ทำให้ข้าวที่เกี่ยวได้มีความชื้นสูงกว่าการเกี่ยวด้วยมือและตากให้แห้งก่อนนำเข้าโรงสี ในขณะที่ข้าวที่ได้จากเครื่องเกี่ยวนวดจะต้องนำไปลดความชื้นอย่างถูกต้องและรวดเร็ว จึงจะทำให้คุณภาพที่ดีได้มาตรฐาน

ดังนั้น ความหอมของข้าวหอมมะลิในปัจจุบันต้องผ่านกระบวนการอบลดความชื้น จึงทำให้มีโอกาสที่จะมีแนวโน้มทำให้ความหอมน้อยลงไปจากกระบวนการผลิตข้าวแบบดั้งเดิม

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช และได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด ปัญหาสำคัญที่พบและเป็นปัญหาเร่งด่วนในปัจจุบันเพราะมีผลโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพข้าวไทย ก็คือ ชาวนาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีชาวนามักจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ใชเองต่อเนื่องกันหลายปีส่งผลให้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพต่ำ จากสาเหตุมีข้าวแดงและพันธุ์อื่นปนทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

ที่มาข้อมูล

ทำไมข้าวหอมมะลิไทยไม่หอมเหมือนในอดีต เจาะกลางใจ โดยขุนพิเรนทร์

ปลัดพาณิชย์ย้ำข้าวไทยมีคุณภาพ เชื่อถือได้ แม้เสียแชมป์ ผกาลำดวน ให้กัมพูชา

related