"ชุดนักเรียนไทย" กลายเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในหมู่วัยรุ่นจีน นำไปสู่ไวรัลของกลุ่มนักท่องเที่ยวสาวชาวจีน ใส่ชุดนักเรียนเดินเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กลายเป็น Soft Power ใหม่
"ชุดนักเรียนไทย" กลายเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในหมู่วัยรุ่นจีน หลัง "จวีจิ้งอี" ดาราสาวชื่อดังชาวจีนเดินทางมาเที่ยวไทย พร้อมกับโพสต์ภาพตัวเองในชุดนักเรียน ที่ปักชื่อตัวเองเป็นภาษาไทย อยู่บนสะพานหน้าห้างสรรพสินค้าย่านราชประสงค์ ส่งผลให้ชุดนักเรียนไทยได้รับความนิยมอย่างมาก นำไปสู่ไวรัลของกลุ่มนักท่องเที่ยวสาวชาวจีนใส่ชุดนักเรียนเดินเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ที่ผ่านมากระแสความนิยมในชุดนักเรียนไทยแต่ก่อนหน้านี้ก็เริ่มนิยมกันมาบ้างแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ส่งผลให้หยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง
จุดเริ่มต้นเทรนด์ฮิต ชุดนักเรียนไทย
1. กระแสความนิยมชุดนักเรียนไทย เริ่มเป็นที่สนใจของวัยรุ่นจีน หลังจากภาพยนตร์ไทย "สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก" ที่เข้าฉายในจีน เมื่อปี 2555 ส่งผลให้ คู่พระ-นาง อย่าง มาริโอ เมาเร่อ และใบเฟิร์น พิมพ์ชนก โด่งดังเป็นพลุแตก ซึ่งตลอดทั้งเรื่องทั้ง 2 คน แต่งชุดนักเรียน
2. ต่อมา ซีรีส์ "เด็กใหม่" ทางช่อง Netflix ออกฉาย "แนนโน๊ะ" ตัวละครนำของเรื่องอยู่ในเครื่องแบบชุดนักเรียนที่เป็นเอกลักษณ์ กระทั่งซีรีส์ "เด็กใหม่ ซีซั่น 2" ออกฉายทาง Netflix เช่นเดียวกัน ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจ ทำให้ซีรีส์ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นจีน ประกอบกับ เน็ตไอดอล และนักแสดงของจีนหลายคนมีการโพสต์ภาพตัวเองใส่ชุดนักเรียนไทย ที่มีการปักชื่อโรงเรียน ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์ สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก ติดอยู่บริเวณหน้าอก เช่นเดียวกับชุดนักเรียนของไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• จวีจิ้งอี โพสต์ภาพชุดนักเรียน ปักชื่อ "ภาษาไทย" ทำแฟนคลับละลาย
• ตลาดชุดนักเรียนสะเทือนไม่น้อย หากอนาคตนักเรียนได้แต่งชุดไปรเวท
• ส่องตลาดชุดนักเรียน ยังสดใสหรือไม่ ? รับเปิดเทอมใหม่ ยุคโควิด -19
หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ดีขึ้นตามลำดับ การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นคืนกลับมานักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เริ่มเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นรวมถึงนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา "จวีจิ้งอี" นักร้อง นักแสดงสาวชาวจีน เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย เธอเช็กอินย่านราชประสงค์ ในแอปพลิเคชันเว่ยป๋อ
พร้อมโพสต์ภาพเธอสวมชุดนักเรียนไทย ถ่ายรูปอยู่บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โดยชุดนักเรียนที่เธอสวมปักชื่อและรหัสประจำตัว "จวีจิ้งอี้ 991" ภาพของเธอ ถูกแชร์ไปในโลกโซเชียลจนกลายเป็นกระแสทั้งในประเทศไทย และจีน
จากนั้นกระแสนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น คนหนุ่มสาว หนึ่งในกิจกรรมที่นิยมกันก็คือการแต่งชุดนักเรียนไทย เที่ยวเมืองไทยทั้งกรุงเทพ และภูเก็ต รวมถึงการถ่ายรูป โพสต์ลงโซเชียลจนกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของการเที่ยงเมืองไทย ซึ่งถือว่าเป็น Soft Power เป็นอย่างดี
ด้านเว็บไซต์ allkpop เปิดเผยว่า นี่เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเจ๋ง เพราะไม่บ่อยนัก ที่จะเห็นประเทศในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมป๊อปในประเทศแถบเอเชียตะวันออก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความนิยมของวงการบันเทิงไทยในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี คาดว่าน่าจะขยายไปอีกไกลทีเดียว
สาเหตุที่ชุดนักเรียนไทยเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นจีน มีเหตุผลที่น่าสนใจเมื่อเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ CGTN ระบุว่า เด็กวัยรุ่นจีนส่วนใหญ่คิดว่าเครื่องแบบของพวกเขาน่าเกลียด อ้างอิงการการสำรวจออนไลน์โดย Weibo ชาวเน็ตถูกถามเกี่ยวกับความคิดเห็นเกี่ยวกับชุดนักเรียนจีน เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจวิจารณ์เครื่องแบบว่าน่าเกลียด มีเพียง 10.3 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่าเครื่องแบบดูดี
โดยเครื่องแบบจีนสมัยใหม่ได้รับการออกแบบในปี 1950 เป็นชุดวอร์มแบบ Unisex ที่มีแจ็กเก็ตมีซิป เสื้อยืดลำลอง และกางเกงวอร์มทรงหลวม ส่วนใหญ่ทำจากวัสดุสังเคราะห์น้ำหนักเบา แต่ในอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่นักเรียนเกาหลีใต้แสดงความอิจฉาชุดนักเรียนของจีน
ชุดนักเรียนไทย แต่งเลียนแบบผิดหรือไม่
คำถามที่เกิดขึ้นจากเทรนด์ฮิตใส่ชุดนักเรียนไทยนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ผิดหรือไม่ หากไม่ได้เป็นนักเรียนจริงๆ เมื่อตรวจสอบ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วย เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องแต่งกายแบบไหน ให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบนักเรียน หากไม่แต่ง ต้องเป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และหากไม่แต่งชุดนักเรียน โดยไม่ได้รับข้อยกเว้น อาจได้รับโทษทางวินัย
นอกจากนี้ เครื่องแบบนักเรียน ยังถือเป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประโยชน์ในการประหยัดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสร้างวินัยให้แก่นักเรียน รวมทั้งเป็นการคุ้มครองเพื่อมิให้บุคคลอื่นแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่สิทธิที่จะแต่ง ส่วนในมาตรา 7 ระบุว่าผู้ใดแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่มีสิทธิที่จะแต่งหรือแต่งกายเลียนแบบ เครื่องแบบนักเรียน ถ้าได้กระทําเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักเรียน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
จากกระแสที่ชุดนักเรียนที่เกิดขึ้น ทนายรัชพล ศิริสาคร โพสต์เฟซบุ๊กถึง ข้อกฎหมายที่อาจจะมีความผิด หากซื้อชุดนักเรียนมาใส่ โดยที่ไม่ใช่นักเรียน
ทนายรัชพล ศิริสาคร ได้โพสต์อธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังชุดนักเรียนไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ทนายรัชพล ศิริสาคร Fanpage ใจความระบุว่า
"แต่งชุดนักเรียน โดยที่ไม่เป็นหรือไม่ใช่นักเรียน อาจจะมีความผิดได้ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ตาม พ.ร.บ. เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ที่บอกว่า "ถ้าคุณไม่ใช่นักเรียน แล้วแต่งเครื่องแบบนักเรียน หรือแต่งกายเลียนแบบนักเรียน เพื่อให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นนักเรียน จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท"
ทั้งนี้ ต้องดูตรงที่ปักเป็นสำคัญ หากคุณใส่เครื่องแบบชุดนักเรียนปักตัวอักษรย่อ แล้วไปตรงกับอักษรย่อของโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง กรณีแบบนี้อาจเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย แต่หากปักชื่อของตนเองเฉยๆ อันนั้นไม่ผิด จึงอยากออกมาเตือน เพราะเห็นว่ากำลังเป็นกระแสนักท่องเที่ยวซื้อชุดมาใส่กัน ต้องระวังนิดนึง เพราะอาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายได้
พ.ร.บ. เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 มาตรา 7
ผู้ใดแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่มีสิทธิที่จะแต่ง หรือแต่งกายเลียนแบบเครื่องแบบนักเรียน ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักเรียน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ถ้าแต่งเครื่องแบบนักเรียน ปักอักษรย่อของโรงเรียนชัดเจน หรือแต่งตัวเลียนแบบให้เข้าใจว่าเป็นนักเรียน เข้าข่ายเป็นความผิดได้
ที่มา : ทนายรัชพล ศิริสาคร Fanpage