svasdssvasds

รวมเหตุการณ์ คนประชาธิปัตย์กับการโกหกคำโต

รวมเหตุการณ์ คนประชาธิปัตย์กับการโกหกคำโต

ย้อนดูประวัติศาสตร์ของชาวประชาธิปัตย์กับเหตุการณ์โกหกคำโตจนทุกคนต้องอึ้ง ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคลอย่าง อดีตเลขาธิการพรรค ‘สุเทพ-เฉลิมชัย’ หรือระดับพรรคที่กลายเป็นตราบาปของชาว ปชป.

'ประชาธิปัตย์' เป็นพรรคการเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 77 ปี ผ่านสถานการณ์ทางการเมืองมามากมาย หลายครั้งที่การสื่อสารกับประชาชนเป็นไปเพื่อการปลุกใจสมาชิกและโหวตเตอร์ รวมถึงการสร้างเงื่อนไขเพื่อเข้าสู่อำนาจหรือหาทางลง แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยน เงื่อนไขที่เคยลั่นวาจาออกไปก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทด้วย บ้างใช้คำว่า "ตระบัดสัตย์" บ้างใช้คำว่า "กลับกลอก" บ้างก็ใช้คำว่า "ชุดข้อมูลใหม่" แต่สุดท้ายก็มักจะนำมาซึ่งความฉงนสงสัย ความไม่ไว้วางใจ หรือเสื่อมศรัทธาก็เป็นได้

เฉลิมชัย...คำไหน คำนั้น?

การเข้าสู่ตำแหน่งของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 'นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน' อดีตเลขาธิการพรรค เจ้าของวลี "คำไหน คำนั้น" เกิดกระแสวิจารณ์อย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่การรวบอำนาจในพรรค แต่ยังเป็นการผิดคำพูดครั้งสำคัญ เพราะเจ้าตัวเคยลั่นวาจาไว้หลายครั้งว่าจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต 

เช่น วันที่ 14 สิงหาคม 2565 ที่เจ้าตัวประกาศในการเปิดตัวผู้สมัคร สส. ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ “รวมพลัง 30 เลือดใหม่ทวงปักษ์ใต้คืน” ที่ศูนย์ประสานงาน อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ระบุว่า

"พื้นที่ภาคใต้ 58 ที่นั่งพร้อมสู้ทุกเขตและจะได้ ส.ส. มากกว่า 35-40 ที่นั่ง เพราะครั้งนี้ ผู้สมัครในพื้นที่ภาคใต้มีความเข้มแข็ง และพรรคมีความเป็นเอกภาพ พร้อมประกาศประชาธิปัตย์ในภาคใต้คือบ้านเรา ดังนั้น ต้องเอาบ้านหลังนี้กลับมา มั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้ ส.ส. ทั่วประเทศมากกว่า 52 ที่นั่ง เพราะเคยประกาศไว้แล้วว่า หากได้ ส.ส.น้อยกว่า 52 ที่นั่ง จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต"

ผลการเลือกตั้ง 2566 ออกมาปรากฎว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ สส. เพียง 25 คน ต่ำกว่าจำนวน สส. ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เท่าตัว

แต่ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 9 ธันวาคม 2566 นายเฉลิมชัย กลับถูกเสนอชื่อเป็นหัวหน้าพรรคและเป็นคนเดียวที่มีคณสมบัติครบถ้วน ทำให้ได้รับการเลือกตั้งแบบผ่านฉลุย โดยก่อนหน้านี้มีการประชุมของ 21 สส. ในพรรคและให้ข่าวว่าจะ "บังคับ" ให้นายเฉลิมชัยเข้ามารับตำแหน่งเพื่อยุติความขัดแย้งและนำพาพรรคเดินผ่านวิกฤต และเจ้าตัวก็ออกมาชี้แจงในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ว่า

"ผมมันเป็นศพไปแล้ว เหลือแต่วิญญาณ แต่วิญญาณผมก็ยังมีคุณค่า ถึงผมจะมีวิญญาณแต่ก็มีสำนึก ผมจะไปพูดคุยผลบวกลบคูณหาร หากทำให้ประชาธิปัตย์เดินได้ ผมก็จะพิจารณา แต่ถ้ามีเหตุการณ์ใดที่พรรคจะต้องแตก เลือดจะต้องไหลไม่หยุดอีก ผมก็จะต้องพิจารณา"

แน่นอนว่าวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่นายเฉลิมชัย ได้รับตำแหน่งมีสมาชิกพรรคคนสำคัญประกาศลาออกไป 3 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสาธิต ปิตุเตชะ และทพ.สุรันต์ จันทร์พิทักษ์ ซึ่งนายเฉลิมชัยก็บอกว่า เชื่อว่าทุกคนต้องมีเหตุผล อยู่ที่ว่าจะรักพรรคจริงหรือเปล่า

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการรับตำแหน่งครั้งนี้ถือเป็นการกลับกลอกหรือไม่ นายเฉลิมก็ตอบว่า

"ถ้าท่านต้องการทราบคำตอบ ท่านต้องถาม สส. และกรรมการบริหารพรรคของผม...สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้"

เฉลิมชัย ศรีอ่อน

สุเทพ กับ น้ำตามวลมหาประชาชน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ คู่บุญของหัวหน้ามาร์ค อภิสิทธิ์ หลังจากลาออกจากพรรคแยกทางไปนำม็อบ กปปส. ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ต่อต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

หลังจากนั้นนายสุเทพก็ได้ประกาศเลิกเล่นการเมืองอีกหลายครั้ง โดยครั้งสำคัญ ได้แก่ วันที่ 2 ธันวาคม 2556 ที่วที กปปส. ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

"เมื่อตัดสินใจออกมาทำงานให้กับพี่น้องประชาชนคราวนี้ ก็จะไม่กลับไปลงสมัครเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและไม่กลับไปพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว จบงานนี้ผมจะไม่เป็นนักการเมืองอีกแล้ว"

จนหลังรัฐประหารปี 2557 นายสุเทพก็ได้บวชที่บ้านเกิด วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี มีนามว่า 'พระสุเทพ ปภากโร' ได้กล่าวในผ้าเหลือง ในวันที่ 12 มิถุนายน 2558 ว่า 

"ไม่เป็นแล้วไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกแล้ว ไม่กลับไปบนถนนการเมืองอย่างเดิมแล้ว พอแล้ว แต่ไม่ทิ้งประเทศ"

หลังจากลาสิกขา เจ้าตัวก็ยังประกาศอีกหลายครั้งว่าจะเลิกเล่นการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในงานทำบุญวันเกิด อายุครบ 67 ปี เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 กล่าวที่มูลนิธิมวลมหาประชาชน 17 มิถุนายน 2560 กล่าวที่หน้าศาลอาญาอีก 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และ 5 มีนาคม 2561 โดยเจ้าตัวเริ่มย้ำคำว่า "แต่การเมืองเป็นเรื่องของประชาชน"

จนเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2561 นายสุเทพ เปิดตัวพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยขึ้นเวทีกล่าวทั้งน้ำตาถึงมวลมหาประชาชนและผู้ที่เสียสละชีวิตเพื่อแผ่นดิน พร้อมทั้งยืนยันว่าตัวเองจะมาเป็นแค่เบื้องหลัง ไม่รับตำแหน่งใดๆ ในพรรคและในทางการเมือง แต่จะเป็น 'ขี้ข้าประชาชน' และต่อมาได้ใช้การเดินหาคารวะแผ่นดินเป็นแคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง ก็ถูกประชาชนตั้งคำถามว่าไหนจะไม่เล่นการเมือง เจ้าตัวก็ตอบยืนยันว่าไม่ได้เล่นเอง แต่เป็นแค่โค้ช แต่โดยทางปฏิบัติแล้วเขาก็คือคนที่มีอำนาจตัดสินใจในพรรคการเมืองอยู่ดี แม้พรรคนี้จะได้ สส. เพียงแค่ 5 คนก็ตาม

"ผมไม่ต้องการตำแหน่งทางการเมืองอีกแล้ว แต่เมื่อพี่น้องผู้ร่วมอุดมการณ์เหล่านี้มาบอกผมว่าจะต้องตั้งพรรคการเมืองของประชาชน ผมรู้เลยว่า ผมต้องเข้าร่วมกับพรรค"

รวมเหตุการณ์ คนประชาธิปัตย์กับการโกหกคำโต

ชัดๆ ไม่สนับสนุน 'ประยุทธ์' เป็นนายกต่อ?

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืนผ่านคลิปวีดิโอความยาว 34 วินาที ที่มีเนื้อหาชัดเจนว่า ตนในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เพราะการสืบทอดอำนาจและสร้างความขัดแย้งขัดต่ออุดมการณ์ "ประชาชนเป็นใหญ่" ของพรรคประชาธิปัตย์

“ชัดๆ เลยนะครับ ผมไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ แน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจย่ำแย่ ประเทศเสียหายมามากพอแล้ว”

ผลของแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งนี้ทำให้ประชาธิปัตย์ได้คะแนนโหวต 3.9 ล้านเสียง สส. 52 ที่นั่ง ซึ่งน้อยกว่าพรรคเกิดใหม่อย่างพลังประชารัฐและพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งยังน้อยกว่าการเลือกตั้งปี 2550 ที่ได้ สส. 165 ที่นั่ง ทำให้วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะได้ต่ำกว่า 100 ที่นั่ง และต่อมาในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 อภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. หลังจากพรรคประชาธิปัตย์เพราะมีมติร่วมรัฐบาลและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

จากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค และนายเฉลิมชัย เลขาธิการพรรค ก็มีมติ 61 เสียง เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยมีเพียง 16 เสียงที่ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 2 และให้เหตุผลคือการเข้าไปแก้ไขปัญหาปากท้องของเกษตรกร การแก้รัฐธรรมนูญ และรัฐบาลต้องไม่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมทั้งยังบอกว่าเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และหยุดอำนาจ คสช. ประเทศจึงต้องมีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีเสียงข้างมากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จึงต้องไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อให้มีรัฐบาลเสียงข้างมาก

รวมเหตุการณ์ คนประชาธิปัตย์กับการโกหกคำโต

เสียหลักตั้งแต่เริ่มต้น? ยุคนายกฯควง

อีกเหตุการณ์ที่กลายเป็นคำวิพากษณ์วิจารณ์สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน คือ ในสมัยของ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้บัญญัติอุดมการณ์ 10 ประการ ไว้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2489 โดยข้อที่ 4 ระบุว่า  

"พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ"

แต่ปรากฎว่าในปี 2490 หลังการทำรัฐประหารที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ น.อ.กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งเป็นฉบับที่มีลักษณะความเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 หรือที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” และได้เชิญ พ.ต.ควง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี 

โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้มาจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อมีรัฐบาลใหม่ที่จะอ้างได้ว่ามาจากผลการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแล้ว ในการจัดการเลือกตั้งใหม่ก็ไม่มีอะไรน่าวิตกนัก เพราะพรรคของรัฐบาลเก่าตกที่นั่งลำบาก เดือดร้อน

แต่พอเลือกตั้งเสร็จ พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง 53 จาก 100 เก้าอี้ สส. เป็นเสียงข้างมาก พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ก็จัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ส่วนใหญ่มีคนหน้าเก่าเป็นรัฐมนตรี และมีตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม

แต่รัฐบาลบริหารประเทศได้ราว 1 เดือน ก็ถูกคณะนายทหารมาเข้าพบและจี้ให้ลาออกก็ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังคงอยู่ภายใต้คณะทหาร และพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ทำตามอุดมการณ์พรรคข้อ 4 ที่จะไม่สนับสนุนเผด็จการ

อ้างอิงข้อมูล:

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=6_เมษายน_พ.ศ._2491

related