svasdssvasds

สว.เปิดอภิปรายซักฟอก "รัฐบาลเศรษฐา" ชำแหละ 7 ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

สว.เปิดอภิปรายซักฟอก "รัฐบาลเศรษฐา" ชำแหละ 7 ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

สมาชิกวุฒิสภาเปิดอภิปรายรัฐบาล “นายกฯ เศรษฐา” ลุยจัดหนักปัญหาเศรฐกิจ ไฮไลต์สำคัญ ดิจิทัลวอลเล็ต-แก้รธน.-ทักษิณ-แจกที่ดิน

SHORT CUT

  • การประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาญัตติด่วน ขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้ ครม. แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ
  • เนื้อหาการเปิดอภิปรายรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ 11 ก.ย. 2566 รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาสำคัญตามนโยบายที่ได้แถลงไว้  7 เรื่อง
  • การประชุมครั้งนี้จะมีผู้อภิปรายจำนวน 27 คน โดยเรื่องปัญหาเศรษฐกิจจะมีผู้อภิปรายมากที่สุด

สมาชิกวุฒิสภาเปิดอภิปรายรัฐบาล “นายกฯ เศรษฐา” ลุยจัดหนักปัญหาเศรฐกิจ ไฮไลต์สำคัญ ดิจิทัลวอลเล็ต-แก้รธน.-ทักษิณ-แจกที่ดิน

วันที่ 25 มีนาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา การประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาญัตติด่วน ขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 153 โดยมี นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมชิกวุฒิสภา (สว.) กับคณะเป็นผู้เสนอ โดยเริ่มประชุมในเวลา 09.00 น.

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

สำหรับเนื้อหาการเปิดอภิปรายรัฐบาล ของ สว. ระบุว่า ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ 11 กันยายน 2566 

รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาสำคัญตามนโยบายที่ได้แถลงไว้  7 เรื่อง

  1. ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องของประชาชน
  2. ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย
  3. ปัญหาด้านพลังงาน
  4. ปัญหาด้านการศึกษาและสังคม
  5. ปัญหาด้านการต่างประเทศและการท่องเที่ยว
  6. ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  7. ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 

สำหรับการประชุมครั้งนี้จะมีผู้อภิปรายจำนวน 27 คน โดยเรื่องปัญหาเศรษฐกิจจะมีผู้อภิปรายมากที่สุด ขณะที่ต้องจับหาในหัวข้อ ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ที่คาดว่าจะมีการอภิปรายเชื่อมโยงไปถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงพักโทษ ซึ่ง สว.จะใช้เวลาอภิปรายเพียง 1 วันเท่านั้น ก่อนที่วันพรุ่งนี้ (วันที่ 26 มี.ค. 67) สว.จะมีการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย (ร่าง พ.ร.บ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 

"สมชาย" จวก "เศรษฐา" บินเยือนต่างประเทศ 32 ทริป ทำประเทศเกิดสุญญากาศ 6 เดือน 

การประชุมวุฒิสภา ในการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 นายสมชาย แสวงการ ได้ลุกขึ้นอภิปราย ถึงประเด็นการเดินทางไปต่างประเทศของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ว่า นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน ความมั่นคงการแก้ไขปัญหาสังคม การเป็นเซลแมนไปขายของที่ยังขายไม่ได้ ยังไม่ได้ผลิตอะไร

การเดินทางบางอย่างที่ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถือว่าไม่มีความจำเป็นเพราะผู้นำระดับประเทศของภูมิภาคอาเซียน ไม่จำเป็นต้องไปร่วมทุกคน สามารถมอบหมายรองนายกฯ ที่เกี่ยวข้องไปแทนได้ จึงคาดหวังว่าที่นายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะอยู่บริหารราชการแผ่นดินในฐานะ CEO ยกลงภายในประเทศโดยไม่เดินทางอีก 2 เดือนนับจากนี้ ตนขอให้อยู่เพิ่มอีก 4 เดือนเป็น 6 เดือน หวังว่าจะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ เพราะการเดินทางไปต่างประเทศ 32 ทริป ทำให้ไม่ได้นั่งหัวโต๊ะการประชุมครม. ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง และด้นนสังคม ซึ่งไม่มีเลย จึงเกิดสุญญากาศมาตลอด 6 เดือน 

สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา

ส่วนสาเหตุที่ต้องมาอภิปราย ทั้งที่งบประมาณยังไม่ออก ก็ถือเป็นความผิดของตัวท่านเอง เพราะตั้งแต่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีมานานเกือบ 8 เดือน ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดเก่าได้จัดทำงบประมาณเสร็จสิ้นแล้ว หากตนเป็นนายกฯ จะเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่อสภาทันที เพื่อเข้าสู่กระบวนแก้ไขในสภาจะทำให้เม็ดสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ 4 เดือนที่แล้ว ดังนั้นที่งบประมาณล่าช้าเป็นความผิดของครม.เอง

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังหมกมุ่นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตมาก ทั้งที่ได้ไม่คุ้มเสีย อย่าดันทุรังต่อไป ดังนั้นการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เสี่ยงผิดกฎหมาย ประเทศไทยติดกับดักประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 50 ปีไม่พัฒนาอะไรเลยใช้เพียงนโยบายประชานิยมแจกอย่างเดียวสุดท้ายต้องกู้มาแจก  ดังนั้นจึงขอให้เลิกการกู้เงินมาแจกเพราะเป็นการทำลายประเทศ

พร้อมกันนี้นายสมชาย ยังได้อภิปรายในประเด็นความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม ว่า วันนี้ตนรู้สึกว่า ประเทศนี้ขาดความยุติธรรม เสื่อมวิกฤตความยุติธรรมอย่างถึงที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีส่วนรับผิดชอบสำคัญในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ท่านเป็นประธานก.ตร. คุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คุมโรงพยาบาลตำรวจ และคุมกระทรวงยุติธรรม แม้ประชาชนจะไม่พูดแต่เขารู้สึกว่าความยุติธรรม 2 มาตรฐาน บางคนเรียกว่าไร้มาตรฐาน นักโทษในเรือนจำกว่า 200,000 คนได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันหรือไม่

วันนี้ไม่มีความจำเป็นต้องมีศาล คงไว้ให้เหลือแต่กรมราชทัณฑ์ ที่อ้างกฎ อ้างระเบียบ ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้แก้ไข จนเกิดช่องว่าง  แต่กฎหมายกำหนดว่านักโทษที่จะได้รับการลงโทษจะต้องเป็นผู้ประพฤติดี ช่วยงานราชการ จึงอยากถามว่านายทักษิณ ชินวัตร เข้าเงื่อนไขใดบ้าง วันนี้ตนไม่ขอก้าวร่วงนายทักษิณเพราะมองว่าไม่ใช่ความผิดฐาน ตนสนับสนุนในการกลับประเทศ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังจากหนีคดีทุจริตไป 17 ปี วันนี้สิ่งที่ต้องพูดคือปัญหาในการบังคับโทษที่เกิดขึ้นในระบบทั้งการเมืองและข้าราชการ ผู้ใดทำคนนั้นต้องรับผิดชอบ

พร้อมกันนี้นายสมชาย ยังได้เปิดคลิปวีดีโอภาพเหตุการณ์ขณะนี้นายทักษิณลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมถามว่า การลุกนั่ง การใช้มือขวาโหนขึ้นรถกอล์ฟ เหมือนกับอาหารเอ็นเปลือยยุ่ยจริงหรือไม่ การเดินบันไดดอยสุเทพ และยังรดน้ำพรวนดินที่งานพืชสวนโลก แสดงถึงความแข็งแรง ต้องขอแสดงความยินดีด้วย ซึ่งตนได้สอบถามไปยังแพทย์ระดับแพทย์ผู้ใหญ่และคณบดีหลายคน บางคนให้ถึง 30 คะแนนถือว่าแข็งแรง จึงขอชื่นชืมโรงพยาบาลตำรวจ

เดิมนักโทษจะได้รับการพักโทษจะ รับโทษมาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 6 เดือน อายุ 70 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว แต่มีการแก้ไข จากคำว่า และ เป็น หรือ ทำให้เกิดการโกงชาติบ้านเมือง แค่อายุ 70 ปี ก็กลับบ้านได้ 

ตนจึงขอบอกว่าเรื่องนี้เป็นการสั่นคลอนกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง วันนี้ตนไม่ได้มาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเพราะไม่มีสิทธิ์ แต่ประชาชนจะไม่ไว้วางใจท่าน ความเสื่อมศรัทธานี้จะซึมลึกยาวนาน ตอนกังวลว่าจะเกิดวิกฤตศรัทธา และจะนำมาซึ่งสึนามิ ที่แก้ไขยาก คนที่จะต้องรับผิดชอบคือเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายการเมืองที่ไปเอื้อประโยชน์

รมว.ยธ.ย้ำปม "ทักษิณ" ยึดกฎหมาย รัฐบาลชุดนี้ไม่เกี่ยว 

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ในการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ถึงการบริหารโทษ และการพักโทษนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยย้ำว่า ตนเอง ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และหลักนิติธรรม เพื่อเสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก สามัคคี ปรองดอง และเลือกประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เลือกความถูกต้องมากกว่าบุญคุณ พร้อมเลือกระบบคุณธรรม มากกว่าระบบอุปถัมภ์

พร้อมยืนยันว่า นายทักษิณที่ตนรู้จัก ไม่เคยสั่งการให้ตนกระทำสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย หรือคุณธรรม และการกลับเข้ามารับโทษ ตามกระบวนการ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ขณะนั้น รัฐบาลยังคงอยู่ในการบริหารราชการแผ่นดินของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และข้าราชการกระทรวงยุติธรรม เป็นชุดเดิมกันหมด ซึ่งตนที่เข้ามาทำหน้าที่ในเดือนกันยายน 2566 ก็ไม่ได้มีการโยกย้ายใครทั้งสิ้น 

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

พันตำรวจเอกทวี ยังได้ตอบโต้ข้อกล่าวหาทำลายระบบราชการ และกระบวนการยุติธรรม โดยย้ำว่า ตนเอง และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถสั่งการใด ๆ ได้ เมื่อนายทักษิณเข้าประเทศแล้วว่า จะต้องไปโรงพยาบาลทันที เพราะรัฐบาลชุดนี้ ยังไม่ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดิน จึงขอความเป็นธรรมในการชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย พร้อมมองว่า การทำลายกระบวนการยุติธรรม คือการฉีกรัฐธรรมนูญ และกระทำการรัฐประหาร และย้ำว่า ตนเองเป็นคนมีอุดมการณ์ 

พันตำรวจเอกทวี ยังชี้แจงด้วยว่า ตนเองเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในช่วงเดือนกันยายน หลังนายทักษิณ รักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจแล้ว และคิดเหมือนคนอื่น ๆ เช่นกันว่า เหตุใดนายทักษิณ ถึงไม่ได้อยู่ในเรือนจำ แต่ต้องไปอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ แต่ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ก็ได้รับการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่หลายคนเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปัจจุบัน ซึ่งกฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ดี เพราะกฎหมายเดิมมีบทบัญญัติไม่สอดคล้องนโยบายรัฐบาล ที่จะเปลี่ยนเป็นการฟื้นฟูผู้ต้องขัง

พร้อมยังระบุด้วยว่า บุคลากรกรมราชทัณฑ์แทบไม่มีอำนาจ ทั้งการกำหนดโทษ ที่เป็นเรื่องของศาล หากนายทักษิณ จะจำคุก ก็ต้องมีคำพิพากษาศาลก่อน และการรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ก็เป็นโรคที่ติดตัวมาจากต่างประเทศ และการรักษาตัวบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ก็เป็นไปตามกฎหมายราชทัณฑ์ ที่ต้องการให้มีที่คุมขังอื่น ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาล จึงถือว่า เป็นการคุมขัง และอยากให้สังคมรับรู้ว่า การคุมขังตามกฎหมายใหม่ ไม่เฉพาะที่เรือนจำเท่านั้น 

พันตำรวจเอกทวี ยังย้ำอีกว่า เมื่อตนเข้ามาทำหน้าที่ ได้พิจารณาขั้นตอนทั้งหมด และพบว่า ที่โรงพยาบาลบตำรวจ คือเรือนจำ ที่นายทักษิณ ไม่สามารถออกจากห้องได้ เพราะมีผู้ควบคุม ที่ปฏิบัติตามระเบียบราชทัณฑ์อยู่ ดังนั้น นายทักษิณ จึงถือว่าถูกจำคุก โดยใช้สถานที่คุมขังอื่น พร้อมเห็นว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วย ในวันนี้อาจจะไม่สะใจ ที่นายทักษิณ ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ แต่กฎหมายดังกล่าว ก็ประกาศใช้ ก่อนที่ตนจะเข้ามาทำหน้าที่ และข้าราชการของกระทรวงยุติธรรม ก็ได้ปฏิบัติกันมาก่อนแล้ว 

ส่วนการพิจารณาพักโทษนั้น พันตำรวจเอกทวี ยืนยันว่า ราชทัณฑ์ หรือรัฐมนตรีฯ ไม่มีอำนาจพักโทษใคร เพราะจะต้องผ่านคณะกรรมการพักโทษ ที่จะมีการพิจารณาทุกเดือน ซึ่งเกณฑ์ต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นก่อน และตนไม่สามารถกำหนดเองได้ แต่ได้รับทราบว่า กรณีของนายทักษิณ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันแล้วว่า นายทักษิณ เข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุ ช่วยตัวเองได้ไม่มากนัก และใกล้ครบอายุโทษ และผู้แทนตำรวจแห่งชาติ และอัยการ ก็เห็นด้วยว่า นายทักษิณ เป็นผู้สูงอายุตามเกณฑ์ และมีรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า โรงพยาบาล คือสถานที่ควบคุม ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ จึงยืนยันว่า ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไรก็ตาม แต่กระบวนการเป็นไปตามกฎหมาย และเป็นกระบวนการพักโทษตามปกติ 

พันตำรวจเอกทวี ยังย้ำอีกว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลอาการป่วยของนายทักษิณได้ เพราะมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ คุ้มครองข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ให้เป็นความลับ หากเจ้าตัวไม่อนุญาต ก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ย้ำว่า กระบวนการพักโทษเมื่อครบ 120 วันนั้น เป็นไปตามกฎหมาย และระบบการคิด เรื่องเรือนจำสมัยใหม่ ก็ได้แก้ไขแล้ว เพื่อไม่ได้ให้คุกมีไว้ขังเพียงอย่างเดียว แต่ให้มีการออกจากคุกด้วย โดยผ่านการพัฒนาอุปนิสัย สร้างคนที่มีคุณภาพ มาสร้างบ้านเมือง พร้อมย้ำอีกว่า โรงพยาบาลตำรวจ คือ เรือนจำ 

พันตำรวจเอกทวี ยังชี้แจงย้ำถึงการจัดห้องพักพิเศษให้กับนายทักษิณ บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจว่า ตามกฎหมายไม่ได้ให้แพทย์จัดห้องพิเศษให้ เพียงแต่ระบุให้โรงพยาบาลจัดที่ควบคุมพิเศษ ซึ่งตนเองได้ไปตรวจสำนวน และพบว่า นายทักษิณ ถูกปองร้ายจากคดีคาร์บอมบ์มาแล้ว เมื่อปี 2549 ดังนั้น จึงจะต้องป้องกันให้ผู้ต้องขัง ได้รับความปลอดภัยด้วย

“ประพันธ์” จี้ รัฐบาล-กระทรวงเกษตรฯ ทบทวนระเบียบ สปก.หลังเอื้อนอร์มินีถือครองที่ดิน

นายประพันธุ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในการประชุมวุฒิสภา เพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ถึงนโยบายแปลงที่ดิน สปก.4-01 เป็นโฉนด ของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า นโยบายดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะจะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินก่อน เพื่อยกเลิกความเป็นที่ดินรัฐ มิเช่นนั้นจะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิด ทำให้เกิดการลงทุนบุกรุกป่า และเป็นนอร์มินีให้กลุ่มทุน

ซึ่งนโยบายดังกล่าว จะเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ ผิดเจตนารมณ์การปฏิรูปที่ดิน เป็นการนำที่ดินของชาติ 40 กว่าล้านไร่ ไปหาเสียง แจกให้กับผู้มีอิทธิพล กลุ่มทุน และกลุ่มการเมือง ดังนั้น ตนเองจึงไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนระเบียบประกาศที่ออกมา เพราะหากยังฝืนนำที่ดิน สปก.4-01 กว่าล้านไร่ ไปแปลงเป็นโฉนด จะทำให้เกิดความเสียหายมูลค่านับไม่ถ้วน และหากนโยบายดังกล่าว มีความจริงใจกับการปฏิรูปที่ดินจริง ก็จะต้องจัดสรรให้กับราษฎรเท่านั้น และยังเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะที่ดิน สปก.4-01 ไม่สามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์กับสถาบันการเงินได้ เพราะที่ดินดังกล่าว ไม่สามารถขายทอดตลาดได้ จึงขอให้รัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบทวนในเรื่องดังกล่าว 

นายประพันธุ์ ยังระบุอีกว่า เดิมในการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกร จะมีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินระดับชาติ เมื่อมีพระราชกฤษฎีประกาศปฏิรูปที่ดินในเขตจังหวัดใด ก็จะมีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ไปพิจารณาร่วมกัน แต่ในยุคร้อยเอกธรรมนัส ได้แก้หลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยออกประกาศเมื่อ 8 ธันวาคม 2566 หรือระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) เพื่อให้การจัดสรรที่ดินแก่เกษตรกร ไม่ต้องผ่านคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด และให้อำนาจ สปก.จังหวัดแต่เพียงผู้เดียว ที่สามารถจัดสรรให้ใครก็ได้ โดยไม่ต้องมีคณะกรรมการฯ มาพิจารณา จึงทำให้เกิดปัญหาหมุด สปก.ที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา รุกพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ จนชาวบ้าน วิพากษ์วิจารณ์ว่า ระเบียบ คำสั่งเหล่านี้ เป็นการเปิดประตูให้ทุจริตชน ซึ่งผู้ที่จะได้รับจัดสรรที่ดินไปนั้น ก็เป็นพนักงานประจำบริษัทอสังหาริมทรัพย์ มีชื่อบริษัท นายทุน และรายละเอียดจ้างงานปรากฏชัดเจน ดังนั้น การให้อำนาจเพียง สปก.จังหวัดแต่เพียงผู้เดียว และพื้นที่เข้าใหญ่ที่จัดสรรที่ดิน ไม่มีเกษตรกรได้รับการจัดสรรที่ดิน สปก.แม้แต่รายเดียว จากปัญหาประกาศเมื่อ 8 ธันวาคม 2566

นายประพันธ์ ยังระบุว่า ยังมีการพบว่า มีนอร์มินีไปถือครองที่ดิน สปก. กว่า 700 ไร่ที่สระบุรี และโยงถึงที่ดิน สปก.ภูเก็ต ซึ่งจากการตรวจสอบหลักฐาน พบว่า มีเอกชนไปถือที่ดิน 700 ไร่ และใช้นอร์มินีเป็นพนักงานลูกจ้างบริษัทเอกชนบริษัทเดียวกันทั้งหมด อ้างตัวเป็นเกษตรกร โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้มีเฉพาะรายเดียว แต่มีทั้งที่จังหวัดภูเก็ต, อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี และที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ที่กลุ่มทุนเข้าไปถือครอง แต่ยังไม่ถูกเปิดเผย

ร.อ.ธรรมนัส” ขอเป็น “รมต.สีเทา” ล้างบางทวงคืนที่ดิน

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจง ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ในการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ถึงนโยบายการแปลงที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด ที่มีกลุ่มทุนใช้เกษตรกรเป็นนอมินี เพื่อถือครองที่ดินว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.ถือเป็นหน่วยงานที่เป็นเผือกร้อน รัฐบาลในอดีตต้องจบลงด้วยข้อพิพาท ส.ป.ก.

ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

แต่หากถอดบทเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ก็ถือว่า เป็นคนละประเภทกับรัฐบาลชุดนี้ หรือรัฐบาลชุดก่อนสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ นั้น ตนเองก็ได้ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.จังหวัดกระบี่ คืนจากกลุ่มทุน เมื่อปี 2563 จำนวนหลายหมื่นไร่ และพัฒนาที่ดิน โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นโครงการกระบี่สมาร์ทซิตี้ เพื่อให้ชาวกระบี่ได้เข้าทำกิน พร้อมยึดที่ดิน ส.ป.ก.ในจังหวัดเชียงใหม่คืน เพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรไร้ที่ทำกินได้เข้าทำถึง รวมถึงจังหวัดชุมพรด้วย แม้ตนจะเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ ในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็กล้ายึดที่ดินจากกลุ่มทุน เพื่อคืนรัฐ ให้ ส.ป.ก.นำไปพัฒนา และจัดสรรให้กับเกษตรกรได้ทำกิน

"สว.อุปกิต" ฉวยเวทีซักฟอก สว.ฟอกขาว “คดี สว.ทรงเอ”

นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในการประชุมวุฒิสภา เพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ในฐานะที่ตนตกเป็นเหยื่อความยุติธรรมสามานย์ของคนบางกลุ่มในกระบวนการยุติธรรม ใช้อำนาจกลั่นแกล้งในการทำลายผู้อื่นว่า กว่า 1 ปี 4 เดือน ที่ตนตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง และพรรคการเมือง ที่เล่นการเมืองหวังชิงอำนาจรัฐ อ้างเป็นคนรุ่นใหม่ ล้มล้างโครงสร้างทุกอย่างในสังคมไทย เพื่อหวังคะแนนเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล

รวมถึงยังมีการเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย ตำรวจ อัยการอาวุโสบางกลุ่ม ที่ร่วมกันใส่ร้ายป้ายสีคนบริสุทธิ์ กลั่นแกล้งประชาชน อย่างไร้ความอาย และไร้คุณธรรม พร้อมระบุว่า บ้านเมืองหลายปีที่ผ่านมา มีความผิดปกติ มีพรรคการเมืองที่มีนโยบายล้มล้าง ทำทุกวิถีทางในการกัดเซาะเสาหลักของประเทศ มีทฤษฎีสมคบคิด ทำให้ตนเองถูกกล่าวหาว่าเป็น “สว.ทรงเอ” ในคดี “ตุน มิน ลัต” ที่ศาลยกฟ้อง แต่ครอบครัวของตน ได้รับความเดือดร้อน และมีผลกระทบอย่างทุกข์ทรมาน จากการถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม

นายอุปกิต ยังยืนยันอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตนเอง กับ ตุน มิน ลัต เป็นเพียงพล็อตเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อชาติตะวันตก และสื่อต่อต้านรัฐบาลเมียนมา สร้างข่าวปลอม และมีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกับสื่อไทยบางสำนัก โจมตีรัฐบาล และพรรคการเมืองบางพรรค เป็นเครือข่ายสมคบคิด พร้อมเชื่อว่า ข้อมูลที่ตนถูกกล่าวหา มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง เพื่อทำลายศรัทธาประชาชนที่มีต่อรัฐบาลชุดที่แล้ว และนำไปใช้หาเสียงในช่วงเลือกตั้ง 

นายอุปกิต ยังชี้แจงถึงกระบวนการที่ตนเองเจอ รวมถึงคดีของ ‘ตู้ห่าว‘ โดยเชื่อว่า มีการสืบสวนผิดทิศทาง พร้อมตั้งข้อสงสัยต่อการใช้อำนาจของอดีตอัยการว่า ได้ดำรงตนด้วยความเป็นกลางในการดำเนินคดี และวินิจฉัยคดีต่าง ๆ โดยปราศจากอคติ และเที่ยงธรรมตามข้อเท็จจริง และกฎหมายหรือไม่ พร้อมเป็นห่วงว่า หากคนในกระบวนการยุติธรรม ไปรับใช้นักการเมือง จะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการแต่งตั้งบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับอัยการที่ตนกล่าวไปข้างต้นกลับมาดำรงตำแหน่ง จึงฝากไปถึงพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไปพิจารณาตรวจสอบประวัติของอัยการคนดังกล่าวด้วย

“ถวิล” ฉะรัฐบาล ปู้ยี่ปู้ยำกระบวนการยุติธรรมไทยผ่านปมทักษิณ

นายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในการประชุมวุฒิสภา เพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ถึงการพักโทษนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาล ในช่วง 6-7เดือนที่ผ่านมา ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม และหลักนิติธรรมของประเทศ ไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยเฉพาะกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีที่หนีคดี และกลับมารับโทษ ที่กระทบต่อนโยบายความยุติธรรมของคนทั้งประเทศ

ทั้งการได้รับสิทธิพิเศษ การต้อนรับที่ดีตั้งแต่ลงจากเครื่องบิน ถึงการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยไม่ชัดเจน ตลอด 6 เดือนเต็ม โดยการอนุมัติจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผ่านข้อมูลการแพทย์ที่สังคมเคลือบแคลงสงสัย ที่ตลอด 6 เดือน นายทักษิณ แทบไม่ได้สัมผัสเรือนจำ และหลังได้รับการพักโทษ ยังเปิดบ้านต้อนรับอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และกลับบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรัฐมนตรี และข้าราชการมารอต้อนรับ ซึ่งไม่เหมือนนักโทษที่ได้รับการพักโทษ และไม่เหลือเค้าของอาการเจ็บป่วยรุนแรงวิกฤต เสี่ยงต่อชีวิต

นายถวิล ยังถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า การแก้โจทย์ปัญหาปมนายทักษิณ ได้ลืมทดเลขไตร่ตรอง หรือทดเลขผิดหรือไม่ เพราะคำตอบที่ออก กลับค้านสายตาคนทั้งประเทศ หรืออาจจะทั้งโลก พร้อมขอลองหลับตา สวดมนต์และสาบานกับตัวเองว่า ได้ปฏิบัติไปโดยถูกต้อง ชอบธรรม เป็นธรรม เสมอภาคแล้ว จริงหรือไม่ หรือคิดว่า คนไทยกินหญ้า กินแกลบ ไม่ได้กินข้าว เหมือนเจ้าหน้าที่รัฐในคดีนี้ ที่หลอกตัวเอง หลอกคนทั้งประเทศ และเชื่อว่า คนไทย จะไม่ลืมเรื่องดังกล่าวเป็นอันขาด และเรื่องนี้ จะเป็นบาดแผลลึก และเป็นฝันร้ายที่ไม่มีวันจางหาย และอาจจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้

นายถวิล ยังเชื่อว่า กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ตรงปก ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม กระทบต่อค่านิยมของบ้านเมือง ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ และความยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะกว่าแต่ละคดีจะมาถึงขั้นตอนการลงโทษผู้กระทำความผิด ต้องมีค่าใช้จ่ายทรัพยากรไม่ใช่น้อย แต่การบริหารโทษชั้นปลายน้ำ ทำให้ความพยายามที่ยากลำบากสูญสลาย ทำระบบยุติธรรมประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีราคา กลับขาดทุนย่อยยับ และยังทำลายระบบราชการ ถูกกระบวนการบริหารโทษทำปู้ยี่ปู้ยำ ด้วยวิธีการต่าง ๆ นา ๆ ฉ้อฉลเสียหาย จึงขอตำหนิรัฐบาล ที่ทำให้เกิดเรื่องน่าละอายเช่นนี้ และเชื่อว่า วันหนึ่งไม่ช้า กฎแห่งกรรมจะได้ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง ต่อการกระทำของผู้ที่เกี่ยวข้อง

"ดิเรกฤทธิ์” หวั่นรัฐบาลแก้ รธน.เป็นชนวนขัดแย้งใหม่-ใช้งบมหาศาล

นายดิเรกฤทธิ์ เจนคลองธรรม สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในการประชุมวุฒิสภา เพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาล จะต้องคิดอย่างรอบคอบ ไม่สร้างปัญหาใหม่ให้กับประเทศ ขอบเขตเนื้อหาจะต้องชัดเจน เช่น การแก้ไข ที่จะไม่แตะต้องหมด 1 รูปแบบรัฐ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ แต่ก็ยังมีมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน เนื่องจาก มีพรรคการเมืองฝ่ายค้านบางพรรค ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสุดซอยออกมาแล้ว

รวมถึงการกำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ซึ่งหากมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็จะไม่ต่างจาก สส. ดังนั้นเหตุใด จึงไม่ให้ สส.ทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ สสร.ให้ชัดเจน ไม่เหนือกว่ารัฐสภา และจำนวนครั้งในการจัดการออกเสียงประชามติ ที่จะต้องถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมยังเห็นว่า การจัดการออกเสียงประชามติแต่ละครั้ง จะใช้งบประมาณจำนวนมาก และการให้มี สสร.ยังจะต้องมีเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษา 

นายดิเรกฤทธิ์ ยังกังวลว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลดำเนินการไม่ชัดเจน คิดผิด ทำผิด ก็จะเกิดปัญหาความแตกแยกในสังคมครั้งใหม่ ผ่านการรณรงค์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงเสนอว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าแก้ไขแบบที่รัฐบาลดำเนินการ เพราะรัฐธรรมนูญแก้ไขได้ตามกระบวนการในรัฐสภา และเรื่องสำคัญค่อยนำไปจัดการออกเสียงประชามติ พร้อมเชื่อว่า สส. สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่ได้ดีกว่า สสร. ซึ่ง สว.ชุดใหม่ที่จะมาทำหน้าที่ ก็จะทำให้มีความหลากหลาย จึงสนับสนุนให้ใช้รัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ

 จี้นายกฯ แก้ปัญหาซื้อ-ขายตำแหน่ง ตร. แนะใช้โมเดล 7 เสือ

พลตำรวจโทศานิตย์ มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในการประชุมวุฒิสภา เพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ถึงปัญหาภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ประธาน ก.ตร. โดยขอให้ปฏิรูปการแต่งตั้งตำรวจ เพราะตราบใดที่ ก.ตร.ยังไม่มีการถ่วงดุล ฝ่ายการเมืองครอบงำได้ง่าย แตกต่างจากพระราชบัญญัติการบริหารราชการกระทรวงกลาโหม มาตรา 25 ที่กำหนดให้การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ดำเนินการโดยคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งหากองค์กรตำรวจสามารถแก้ไขได้ ก็จะช่วยลดการบริหารงานภายในได้  

พลตำรวจโทศานิตย์ ยังเรียกร้องนายกรัฐมนตรี จะต้องแก้ไขการซื้อ-ขายตำแหน่ง เนื่องจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้มาเล่าให้ตนฟังถึงปัญหาดังกล่าว จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ไปขอข้อมูลจากนายอนุทิน และการแต่งตั้งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ยึดหลักอาวุโสเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องต่อสู้ จึงอาจทำให้นายตำรวจไม่กระตือรือร้นหรือไม่

"จเด็จ" ปราม "เศรษฐา" คีบลุคเป็นนายกฯ ระมัดระวังสีถุงเท้า

นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา ที่ได้รับมอบหมายจากนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวสรุปการเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล ของสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 โดยขอให้นายกรัฐมนตรี ตระหนักตนเองว่า ไม่ใช่เซลแมนของประเทศ แต่เป็นซีอีโอของประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรี แบกความเป็นประเทศไทยไปในทุกหนทุกแห่ง เป็นบุคคลสาธารณะ จึงขอให้ระมัดระวังเรื่องการใส่ถุงเท้าหลากสี และการถอดรองเท้าระหว่างการประชุมด้วย พร้อมเตือนรัฐบาลว่า ไม่ว่าจะทำกิจกรรม หรือนโยบายใด ๆ ให้พึงระลึกถึงคำปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่

นายจเด็จ ยังกล่าวถึงนโยบายวีซ่าฟรีแก่พลเมืองหลายประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยว่า ควรมีการเปิดลงทะเบียนบุคคลก่อนเข้าประเทศ เพื่อคัดกรองบุคคล ไม่ให้เกิดเหตุร้าย เหมือนที่กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย ที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายอ้างตัวอยู่เบื้องหลังก่อเหตุความรุนแรง รวมถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ที่กระบวนการพูดคุยสันติสุข ยังจะต้องให้ความสำคัญกับการจัดพื้นที่ปลอดภัย เพื่อกำหนดข้อตกลงร่วมกัน 3 ภาษา ทั้งภาษาบาฮาซา หรือภาษามาเลย์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย 

นายจเด็จ ยังยืนยันด้วยว่า การอภิปรายทั่วไปรัฐบาลของวุฒิสภานั้น สว.ได้ทำหน้าที่อภิปรายทั่วไปรัฐบาล ตามที่ สว.ได้ปฏิญาณตนไว้แล้วอย่างสมภาคภูมิแล้ว และสามารถตอบประชาชนได้แล้วว่า มีวุฒิสภาไว้ทำไม

“ภูมิธรรม” ขอบคุณสภาสูง ยันรัฐบาลรับทุกข้อเสนอไปประกอบการบริหารประเทศ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวสรุปการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลของสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 โดยได้ ขอบคุณสมาชิกวุฒิสภา ที่ได้มีข้อท้วงติง ข้อห่วงใย และข้อเสนอแนะแก้รัฐบาลได้กลับไปทบทวน พร้อมยืนยันว่า ข้อเสนอทั้งหมด รัฐบาลรับเป็นข้อเสนอ และความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงยืนยันว่า รัฐบาล ยึดมั่นเจตจำนงประชาชน ยึดมั่นในประชาธิปไตย เชื่อในความเห็นที่แตกต่างที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมประชาธิปไตย เคารพในสิทธิเสรีภาพ และความเป็นมนุษย์ทุกคน พร้อมร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง และทุกฝ่าย เพื่อแก้วิกฤตประเทศ 

นายภูมิธรรม ยังระบุว่า จากวันนี้เป็นต้นไปจะต้องร่วมกันทำงาน แม้จะมีเวลาการอภิปรายที่น้อย ก็ยังมีโอกาสต่อสายพูดคุยกันได้ ก่อนที่พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม จะสั่งปิดการประชุม ในเวลา 00.31 น. ซึ่งถือเป็นการปิดการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลของสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ ในรอบ 5 ปี เป็นครั้งแรก และครั้งสุดท้าย 

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตลอดทั้งการอภิปรายในการประชุมวุฒิสภา เพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเพียงครั้งเดียว เพื่อชี้แจงถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5, นโยบายวีซ่าฟรี และการพักหนี้ รวมถึงการเดินทางไปต่างประเทศ ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะเดินทางออกจากรัฐสภาในช่วงเย็น เนื่องจาก มีภารกิจร่วมหมายกำหนดการ ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

 

related