svasdssvasds

ทวงเงินค่าช่วยเกี่ยวไร่ละพัน เกษตรกรอีสานบุกทวงสัญญาผ่าน "ทสท."

ทวงเงินค่าช่วยเกี่ยวไร่ละพัน เกษตรกรอีสานบุกทวงสัญญาผ่าน "ทสท."

"สุดารัตน์" รับเรื่องร้องเรียนความเดือดร้อนเกษตรกรอิสาน ที่ยกขบวนมาร้องเรียน พร้อมมอบ "ชัชวาล เลขาพรรค" ทวงคำตอบรัฐบาล ปมเงินช่วยค่าเกี่ยวไร่ละ1พัน และมาตรการคู่ขนาน ทั้งสินเชื่อชะลอการขาย-สินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือกยังมีหรือไม่

SHORT CUT

  • เกษตรกรอีสานบุกทวงสัญญาผ่าน "ทสท." ทวงเงินค่าช่วยเกี่ยวไร่ละพัน หลังรัฐบาลเงิยบกริบ 3 เดือน 
  • โดยฝากให้หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เป็นกระบอกเสียง และสื่อสารไปถึงผู้มีอำนาจ

"สุดารัตน์" รับเรื่องร้องเรียนความเดือดร้อนเกษตรกรอิสาน ที่ยกขบวนมาร้องเรียน พร้อมมอบ "ชัชวาล เลขาพรรค" ทวงคำตอบรัฐบาล ปมเงินช่วยค่าเกี่ยวไร่ละ1พัน และมาตรการคู่ขนาน ทั้งสินเชื่อชะลอการขาย-สินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือกยังมีหรือไม่

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย รับหนังสือร้องเรียน พร้อมพูดคุย และรับฟังความทุกข์ยากของพี่น้องชาวนา ซึ่งเดินทางมารัฐสภาเพื่อขอความชัดเจนจากรัฐบาล ถึงมาตรการในการดูแล เกษตรกรผู้ทำนา ในฤดูการผลิตที่กำลังจะมาถึง โดยฝากให้หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เป็นกระบอกเสียง และสื่อสารไปถึงผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของชาวนาที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์ รับปากว่า จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ พร้อมกำชับให้เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เร่งนำปัญหาเข้าไปพิจารณาในคณะกรรมาธิการเกษตร พร้อมติดตามความชัดเจนจากรัฐบาลจนกว่าจะได้ข้อยุติ

ด้านนายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยหลังนำพี่น้องเกษตรกรผู้ทำนาข้าวในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ข้อมูลและสะท้อนปัญหา ในโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่พี่น้องเกษตรกรผู้ทำนาข้าวให้ความสนใจ โดยมองว่าโครงการปุ๋ยคนละครึ่งไม่ตอบโจทย์ สร้างภาระหนี้สิน มากกว่าการสร้างผลิตผลในการทำนา ซึ่งเกษตรกรยังคาด "หวังว่ารัฐบาลจะยังนำโครงการเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง"

นายชัชวาล  กล่าวด้วยว่า ข้อมูลที่น่าสนใจ และได้นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการเกษตรฯ คือต้นทุนการผลิต ซึ่งพบว่าในปัจจุบันพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เผชิญปัญหาหนี้สินและขาดทุน ส่วนที่รัฐบาลให้ข้อมูลว่าราคาข้าวดี เพราะเป็นราคาข้าวนอกฤดูกาล แต่ข้อเท็จจริงคือพี่น้องชาวนาไม่มีข้าวไปขาย หากต้องการเห็นราคาข้าวที่พี่น้องชาวนาได้รับจริง ต้องไปดูช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เมื่อพี่น้องชาวนาทยอยขายข้าวออกไป และต้องรีบนำเงินมาหมุน จ่ายต้นทุนการผลิต ดังนั้นในปีที่ผ่านมาการที่รัฐบาลมีมาตรการเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ สามารถช่วยเหลือพี่น้องได้มาก 

นายชัชวาล ย้ำโครงการที่สามารถสร้างมรรคผลให้กับพี่น้องเกษตรกรในการพยุงราคาข้าวได้ คือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเคยเป็นโครงการที่ช่วยเหลือให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าวโดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือก หรือโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวเปลือกและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรและโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการค้าข้าว ซึ่งโครงเหล่านี้สามารถทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ในฤดูกาลการผลิตที่ผ่านมา จึงอยากถามและสื่อสารไปถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลว่า โครงการเหล่านี้จะยังมีอยู่หรือไม่โดยรัฐบาลต้องเร่งให้ความชัดเจนโดยเร็ว

"สุดท้ายโครงการปุ๋ยคนละครึ่งที่พี่น้องไม่เอา จะยังคงเดินหน้าต่อไป ตนจึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจต้องตอบให้ชัดว่า ช่วยค่าเกี่ยวไร่ละ 1000 บาท จะได้กี่โมง โครงการคู่ขนานที่เคยเป็นมรรคผลจะทิ้งไปเลยหรือไม่ แล้วกรณีที่พี่น้องชาวนาไม่มีเงินสมทบซื้อปุ๋ยอีกครึ่ง จะเข้าร่วมโครงการอย่างไร ซึ่งตนได้ข่าวมาว่า ทางออกของผู้มีอำนาจ สำหรับช่วยชาวนา ที่ไม่มีเงินอีกครึ่งมาซื้อปุ๋ย คือการเปิดโอกาสให้กู้เงินกับธ.ก.ส.เพื่อมาซื้อปุ๋ยอีกครึ่งได้ ตนขอถามว่า แนวทางในการสร้างหนี้เพิ่มให้พี่น้องเกษตรกร ท้ายที่สุดจะได้คุ้มเสียหรือไม่"

สส.ชัชวาล กล่าวทิ้งท้ายว่า พี่น้องเกษตรกรไม่ได้ต้องการมาตรการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาลเลย หากราคาข้าวดีกว่าที่เป็นอยู่ ต้นทุนการผลิตต่ำ ผลิตภาพในการผลิตสูง แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พี่น้องเกษตรกรต้องจำทนทำนาข้าวขาดทุนมาทุก ๆ ปี การที่พี่น้องเกษตรกรได้รับมาตรการช่วยเหลือเหล่านั้นจึงเป็นเหมือนแรงใจในการฮึดสู้ให้พี่น้องชาวนามีกำลังใจในการยึดมั่นทำนาเป็นกระดูกสันหลังให้กับชาติไทยของเราต่อไป 

related